ผู้เขียน | อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช |
---|---|
เผยแพร่ |
ใครที่มีโอกาสขึ้นไปเที่ยวทางภาคเหนือ คงไม่ได้มองผ่านอาหารประจำภาคเหนือ คือลาบเหนือ หรือลาบเหนียว ลาบดิบ ลาบเลือด ลาบขม ต้มอ่อม ที่เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมการกินชาวเหนือ เป็นอาหารอย่างหนึ่งในบรรดาอาหารเหนืออีกหลายสิบชนิด ทางวิชาการได้บอกไว้ว่า อาหารสุกๆ ดิบๆ ที่ได้จากเนื้อสัตว์ มักจะก่อให้เกิดโรค และมีไข่พยาธิ เช่น พยาธิตัวตืด พยาธิเส้นด้าย พยาธิใบไม้ พยาธิปากขอ แต่คนทางภาคเหนือ ที่เขานิยมกินลาบดิบ ทำไมไม่ค่อยมีข่าวคราวเกี่ยวกับโรคพยาธิ หรือมีก็ไม่มากนัก สันนิษฐานว่า ทางภาคเหนือคงจะมียาสมุนไพรดีที่ฆ่าเชื้อไข่พยาธิได้ และคิดว่าหนึ่งในสมุนไพรนั้นก็คือ “มะแขว่น” นั่นเอง
มะแขว่น เป็นชื่อเครื่องเทศสมุนไพร ที่เรียกกันของทางภาคเหนือ เป็นพืชในวงศ์ส้ม RUTACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zanthoxylum Limonella Alston มีชื่อเรียกต่างๆ หลายชื่อ เช่น มะแข่น มะเข่น มะแข่สะ บ่าแข่น ลูกระมาศ กำจัดต้น ฯลฯ มีลักษณะคล้ายกันกับ มะข่วง หมักข่วง พริกหอม หรือพริกไทยเสฉวน พริกหมาล่า ลักษณะต้น ผล และเมล็ด คล้ายกัน แตกต่างกันที่ขนาดต้น ผล กลิ่น รส ซึ่งคนทางภาคเหนือส่วนใหญ่จะมองออกว่าอะไร อันไหนคือมะแขว่น หรือ มะแข่น อันไหนคือ มะข่วง นำมาใช้เป็นเครื่องเทศทำอาหารต่างกันบ้างตามถิ่นและรสนิยม
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ที่คงทน แข็งแกร่ง มีอายุหลายปี ยิ่งอายุต้นเลยเลข 10 ปี ยิ่งให้ผลผลิตสูง ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลมรอบ ต้นอ่อนมีสีเขียว ก้านใบสีแดงแกมเขียว ใบเป็นประเภทใบประกอบ มีใบย่อย 10-20 ใบ ดอกเป็นช่อแบบกลุ่มย่อย ดอกสีขาวอมเทา ดอกตัวผู้ตัวเมียอยู่คนละต้น เป็นสาระสำคัญมากของผู้ที่จะเอากล้ามะแขว่นลงดินปลูก เพราะยังไม่รู้ว่าจะเป็นมะแขว่นตัวผู้หรือตัวเมีย ซึ่งมะแขว่นตัวเมียจะให้ผลให้เมล็ด เอามาเป็นเครื่องเทศสมุนไพร ส่วนมะแขว่นตัวผู้ปลูกไว้ให้แต่ใบ กินเป็นผัก ซึ่งก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก แต่มีวิธีแก้ไขต้นตัวผู้เป็นตัวเมียได้เมื่อตอนอายุ 3-4 ปี คงรอได้ ตอนนั้นถึงจะรู้ว่าดอกที่ออกมาจะให้ผลหรือร่วงโรย
ผลมะแขว่นจะออกเป็นช่อหลังจากต้นดอกตัวเมียผสมเกสรแล้ว ติดผลเล็กๆ ขนาดเมล็ดผักชี ถึงขนาดเมล็ดพริกไทย เมื่ออ่อนสีเขียวอ่อน จนแก่เป็นสีเขียวเข้มและน้ำตาล แก่จัดสีน้ำตาลเข้ม เมื่อตัดมามัดรวมผึ่งแดด ผลจะแตกอ้า เห็นเมล็ดสีดำมันอยู่ข้างในผล ถ้าแห้งจัดจะเคาะเอาเมล็ดออกได้ง่ายๆ เครื่องเทศจะใช้ส่วนของเปลือกผล เมล็ดใช้ทำพันธุ์และสกัดน้ำมัน บางคนนิยมใช้ผลอ่อนดองน้ำเกลือ ใช้เป็นผักเคียง กินกับลาบ พล่า ส้า ยำ อร่อยนักเชียวนา
นักวิชาการได้ทำการตรวจวิเคราะห์พบว่า เมล็ดมะแขว่นมีน้ำมันหอมระเหย ที่สามารถต้านทานการอักเสบจากสารพิษ ฟอร์มาลีน และสารพิษ คาเรกจ์นิน ซึ่งเป็นสารอันตรายต่อคนได้ อีกทั้งสารสกัดจากผลสามารถขับพยาธิในลำไส้ได้ หมอยาแผนโบราณใช้เนื้อไม้มะแขว่นและรากเป็นยาขับลมในลำไส้ ลมขึ้นสูง หน้ามืดตาลาย วิงเวียนศีรษะ ลดความดันโลหิต ขับระดู ใบ ใช้แก้รำมะนาดเหงือกบวม ขยี้อุดฟันแก้ปวด เมล็ด สกัดน้ำมันทาแก้ไขข้ออักเสบ กำจัดยุงลาย ผลและเปลือก แก้คออักเสบ ขับเสมหะ บำรุงหัวใจ ขับลม สมานแผล แก้ท้องเสีย แก้อาเจียน แก้หวัด สารสกัดจากผล ใช้ขับพยาธิลำไส้ ตำรายาจีน แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ฟกช้ำ ปวดท้อง ปวดไส้เลื่อน กระตุ้นการทำงานของลำไส้
ส่วนที่นิยมนำมาเป็นอาหาร ตั้งแต่ใบอ่อน ยอดอ่อน ผลอ่อน เป็นผักสด กินแกล้ม หลู้ ลาบ ส้า พล่า ก้อย ยำ ตำส้ม ต้มอ่อม ต้มขม ใช้เป็นเครื่องเทศทำเครื่องน้ำพริกลาบ น้ำพริกยำ ใส่ยำจิ้นไก่ ยำกบ ยำจิ้นแห้ง ยำฮก โรยหน้าแกงผักกาดขิ่ว แกงขนุนอ่อน แกงแค แกงบอน หลามบอน ห่อนึ่ง สะเต๊ะหมูมะแขว่น ไก่ปิ้งมะแขว่น น้ำพริกข่าจิ้นนึ่ง จิ้มแป้งนมย่าง แกงฟัก แกงเผ็ดปลาไหล ให้ทั้งความหอมเครื่องเทศ ให้รสเผ็ดแซ่บซ่ากระตุ้นลิ้น และกระตุ้นปลายประสาทความรู้สึก เร้าอารมณ์ให้ชวนถวิล
คุณค่าที่มีในมะแขว่น ให้ทั้งเส้นใยอาหาร ธาตุอาหาร สารอาหารต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะ วิตามิน E ซึ่งมีคุณสมบัติในการละลายในไขมันได้ดี ปกป้องร่างกายโดยการห่อหุ้มเซลล์ และดูดซับอนุมูลอิสระที่จะเข้ามาทำลายเซลล์ต่างๆ จนเกิดมะเร็ง ป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดง ป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด ช่วยการดูดซึมไขมันไม่ให้เหลือสะสมในร่างกาย และมีสารไตรเทอร์พินอยด์ (Triturpinoids) สารต้านมะเร็ง ลดคอเลสเตอรอล ปรับไขมันให้เป็นปกติ ควบคุมความดันโลหิต ช่วยระบบการย่อยอาหาร ควบคุมภูมิแพ้ กระตุ้นการทำงานเม็ดเลือดขาว และสารอื่นๆ อีกหลายอย่างใน “มะแขว่น” พืชผักเครื่องเทศสมุนไพร ที่กำลังเป็นที่สนใจของท่านที่รักสุขภาพ รักการบริโภค และรักที่จะเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีมาแต่เนิ่นนาน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2565