4 สมุนไพรไทย มีผลวิจัยต้านซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย

ทั้งนี้คนส่วนใหญ่รับรู้ว่า โรคซึมเศร้าเป็นเพียงอาการหรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป จึงคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวังหรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ เช่น ภาวะเศรษฐกิจการเงิน ความผิดหวัง ความสัมพันธ์ ความรัก ความสูญเสีย ฯลฯ และจะสามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ

อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ จะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้า และคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ ทั้งนี้ทางการแพทย์ระบุว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย

อาการของโรคซึมเศร้า

อาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว อ่อนไหวง่าย ขัดแย้งกับคนอื่นง่าย รู้สึกสิ้นหวัง ดูถูกตนเอง อาจมีอาการวิตกกังวล เครียด นั่งไม่ติด สมาธิลดลง ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง ขาดความมั่นใจในตัวเอง การตัดสินใจแย่ลง รู้สึกหมดหวัง และมีความคิดอยากตายหรืออยากฆ่าตัวตาย

การสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถตรวจจากข้อสำรวจง่ายๆ 9 ข้อ ด้วยเกณฑ์ที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า หากมีอาการ 5 ข้อขึ้นไป โดยต้องมีข้อ 1 และ/หรือข้อ 2 รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้หากอาการ 5 ใน 9 ข้อดังกล่าวเป็นยาวนานติดต่อกันเกินกว่า 2 สัปดาห์ ก็เข้าข่ายเสี่ยง แนะนำให้ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป

ลักษณะอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้า

  1. รู้สึกเศร้า เบื่อ ท้อแท้ หรือหงุดหงิดง่ายอย่างต่อเนื่อง
  2. เลิกสนใจสิ่งที่เคยชอบมากๆ หรือไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ
  3. พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กินมากไป กินน้อยไป จนทำให้น้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติ
  4. จากที่เคยหลับง่ายก็หลับยากขึ้น หรือไม่ก็นอนมากเกินไป
  5. มีอาการกระวนกระวายหรือเฉื่อยชาที่แสดงออกให้เห็นชัด
  6. รู้สึกหมดเรี่ยวแรง ไม่มีพลัง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเลย
  7. รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิด โทษตัวเองในทุกๆ เรื่อง
  8. ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ มีปัญหาเรื่องการคิดหรือตัดสินใจ
  9. คิดถึงความตายหรืออยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อยๆ

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต ได้ทำคู่มือสำหรับวิธีรับมือความเศร้า เพื่อป้องกันรับมือ “โรคซึมเศร้า” โดยแนะนำไว้ดังนี้

  1. หัดยอมรับตัวเอง ฝึกสำรวจตัวเอง เรียนรู้ รู้จักตัวเองมากขึ้น และฝึกยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น ทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อที่จะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้ผิดหวังเสียใจได้
  2. หัวเราะเยอะๆ เมื่อรู้สึกทุกข์ ควรพาตัวเองอยู่กับสิ่งที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน เช่น ดูภาพยนตร์ตลก หรืออ่านเรื่องขำขัน หรือพูดคุยกับเพื่อนๆ ในเรื่องขบขันสนุกสนาน เพื่อช่วยคลายเครียด ช่วยคลายความทุกข์ในใจได้ดีทีเดียว
  3. ระบายความรู้สึก ควรเรียนรู้ที่จะหาวิธีปลดปล่อยความรู้สึกเศร้า โกรธ ผิดหวัง หรือเสียใจออกมา เพราะอาการซึมเศร้ามักเกิดจากการเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกไว้ เราทำได้โดยการพูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้ ตะโกนหรือร้องไห้ออกมาดังๆ หรือเขียนความรู้สึกลงในสมุดบันทึก
  4. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยต้าน “โรคซึมเศร้า” ได้ เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยเพิ่มระดับสารเคมี “เซโรโทนิน” ในสมอง รวมถึงเพิ่มการหลั่งสารเอนดอร์ฟินที่ช่วยทำให้ผ่อนคลายและอารมณ์ดีขึ้น แถมยังช่วยให้สุขภาพด้านอื่นๆ ดีขึ้นด้วย
  5. ออกไปเที่ยวบ้าง การเดินทางท่องเที่ยวถือเป็น “ยาดี” สำหรับคนที่มีภาวะซึมเศร้า เพราะเป็นการหนีห่างจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยหน่าย เศร้า เบื่อ ฯลฯ เปลี่ยนไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่สดใส มีพลังมากขึ้น ได้พบเห็นสิ่งใหม่ๆ วัฒนธรรมใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด และคลายความเศร้าได้ดี
  6. ทำงานอดิเรก หากมีเรื่องเครียดๆ หรือเรื่องที่ทำให้เศร้าอยู่นาน ต้องพยายามสะบัดความรู้สึกเหล่านั้นออกไป แล้วไปหาอะไรทำที่สร้างสรรค์ ฝึกสมาธิ อย่างการทำงานอดิเรกก็ช่วยได้นะ เช่น ปลูกต้นไม้ วาดรูป ระบายสี ทำอาหาร เย็บปักถักร้อย ฯลฯ
  7. Positive Thinking การมองโลกในแง่ดี ช่วยลดความวิตกกังวลได้จริง โดยอาจจะเริ่มจากฝึกคิดในมุมบวก ฝึกมองเรื่องต่างๆ รอบตัวในมุมบวก ฝึกมองผู้อื่นในแง่ดี และรู้จักชื่นชมคนอื่น หากทำได้จะเป็นการเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตของคุณได้มากขึ้นแน่นอน

การรักษาโรคซึมเศร้า

เมื่อเราไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยว่าเข้าข่ายเป็นผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า” หรือไม่ โดยจะเริ่มต้นจากการสอบถามอาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และระดับความรุนแรง ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว ยาที่กินอยู่ รวมถึงประวัติครอบครัว ทั้งนี้แพทย์จะประเมินอาการร่วมกับบุคลิกภาพที่สังเกตได้ และให้ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา ก่อนจะนำผลมาประเมินว่า ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในแนวทางใด เช่น การรักษาด้วยยา หรือการใช้จิตบำบัด

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ รู้สึกสิ้นหวัง ไม่อยากจะสู้ปัญหาอะไรๆ อีกแล้ว แต่ขอให้ความมั่นใจว่าความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้เป็นอยู่ตลอดไป โรคนี้รักษาให้หายขาดได้ เมื่ออาการของโรคดีขึ้น มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในแง่ลบจะเปลี่ยนไป ความมั่นใจในตนเองจะมีเพิ่มขึ้น มองเห็นปัญหาต่างๆ ในมุมมองอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปจากเดิมมากขึ้น  ในขณะที่คุณกำลังซึมเศร้าอยู่นั้น มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้

การออกกำลังกาย การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยทางร่างกายแล้ว จิตใจก็ยังจะดีขึ้นด้วย โดยในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่มาก จะรู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้า และแจ่มใสขึ้นได้ การออกกำลังกายที่ดีจะเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ซึ่งจะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น การกินอาหารดีขึ้น การขับถ่ายดีขึ้น ถ้าได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นด้วยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าสังคม ไม่รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว

อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เรายังต้องการการพักผ่อน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง

เลือกกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีๆ โดยมักจะเป็นสิ่งที่เราเคยชอบ เช่น ไปเที่ยวสวนสาธารณะ ไปเที่ยวชายทะเล ชวนเพื่อนมาที่บ้าน พยายามทำกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนอื่นมากกว่าที่จะอยู่คนเดียว หลักการเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป แต่จะขึ้นๆ ลงๆ ในแต่ละช่วง คนที่มีความโศกเศร้ามักจะรู้สึกหมดหวัง คิดว่าความรู้สึกนี้จะคงอยู่กับตนเองตลอดเวลา ในความเป็นจริงแล้วจะมีอยู่บางช่วงที่อารมณ์เศร้านี้เบาบางลง ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ให้เราเริ่มกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้น

อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต เช่น การหย่า การลาออกจากงาน ณ ขณะที่เรากำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้านี้ การมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบอาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปได้ ควรเลื่อนการตัดสินใจไปก่อน หากจำเป็นหรือเห็นว่าปัญหานั้นๆ เป็นสิ่งที่กดดันเราทำให้อะไรๆ แย่ลงจริงๆ ก็ควรปรึกษาผู้ใกล้ชิดหลายๆ คนให้ช่วยคิด

การมองปัญหาโดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่รู้จะทำอย่างไร การแก้ปัญหาให้แยกแยะปัญหาให้เป็นส่วนย่อยๆ จัดเรียงลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนควรทำก่อนหลังแล้วลงมือทำไปตามลำดับโดยทิ้งปัญหาย่อยอื่นๆ ไว้ก่อน วิธีนี้จะพอช่วยให้รู้สึกว่าตนเองยังทำอะไรได้อยู่

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จัดให้ความรู้เรื่องสมุนไพรต้านซึมเศร้า โดย ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการ ให้ข้อมูลว่า โรคซึมเศร้า กำลังเป็นปัญหาสำคัญในสังคมยุคปัจจุบันมากขึ้น และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สมุนไพรจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่สามารถใช้ป้องกันหรือบรรเทาอาการดังกล่าวได้

4 สมุนไพร ที่มีข้อมูลว่าสามารถช่วยต้านโรคซึมเศร้า และหาได้ง่ายคือ

  1. ขมิ้นชัน มีการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยซึมเศร้า เปรียบเทียบการใช้สารสกัดขมิ้นชัน 500 มิลลิกรัม หลังอาหารเช้าและเย็น และยาต้านซึมเศร้า (Fluoxetine 20 mg) เป็นเวลา 6 สัปดาห์ เปอร์เซ็นต์การตอบสนองผลการรักษาของผู้ป่วย ยาต้านซึมเศร้า 64.7% สารสกัดขมิ้นชัน 62.5% และเมื่อใช้ร่วมกันทั้ง ยาต้านซึมเศร้า และสารสกัดขมิ้นชัน จะให้ผลตอบสนอง 77.8%

ปัจจุบันขมิ้นชันจะมีทั้งแบบสกัดและแบบผงแห้ง โดยขนาดการรับประทานแบบผงแห้งคือ ยาแคปซูลขมิ้นชัน 2 แคปซูล หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังในการใช้ในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี หญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์ และควรระวังการใช้ในเด็กเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)

  1. บัวบก มีการใช้บัวบกเป็นยามาแต่โบราณ ทั้งในศาสตร์อายุรเวท และการแพทย์แผนจีน บัวบกสามารถบรรเทาอาการโรควิตกกังวลได้ จากการศึกษาการใช้สารสกัดบัวบก 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 33 คน พบว่า เริ่มเห็นผลการรักษาที่ 1 เดือน และเห็นผลชัดเจนขึ้นที่ 2 เดือน จากผลการศึกษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสารสกัดบัวบกช่วยลดความผิดปกติที่เกิดจากความกังวล ลดความเครียดและลดอาการซึมเศร้าได้ ทำให้ความเต็มใจที่จะปรับตัวและเรียนรู้ดีขึ้น บัวบกจึงมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ในผู้ป่วยโรควิตกกังวล ขนาดการรับประทาน สำหรับผู้ที่สะดวกจะใช้ใบบัวสด ก็สามารถคั้นน้ำจากใบบัวบกสดที่ล้างสะอาด รับประทานแบบเข้มข้น วันละ 1-2 ช้อนชา ส่วนการใช้ใบบัวบกแห้ง เป็นยารับประทานใบแห้ง ใช้ครั้งละ 1-2 ช้อนชา (5-10 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 150 ซีซี รอจนอุ่นหรือประมาณ 10-15 นาที แล้วจิบดื่ม สามารถรับประทานได้วันละ 2-3 เวลา ส่วนบัวบกชนิดแคปซูล รับประทานวันละ 2-3 แคปซูล ทั้งนี้ หากหวังผลบำรุงสมองคลายเครียด ควรรับประทานต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป

สำหรับข้อควรระวัง คือ บัวบกเป็นยาเย็น ไม่ควรรับประทานทีละเยอะๆ ทุกวัน อย่างกรณีที่รับประทานเป็นกําๆ จะต้องรับประทานบ้างหยุดบ้าง ถ้ารับประทานสดทุกวัน ควรรับประทานแต่น้อย ประมาณ 3-6 ใบก็พอ คนที่อ่อนเพลียหรือร่างกายอ่อนแอมากไม่ควรรับประทาน ถ้ารับประทานแล้วมีอาการเวียนหัว ใจสั่น ให้หยุดทันที คนที่ม้ามเย็นพร่อง มีอาการท้องอืดแน่นเป็นประจําไม่ควรรับประทาน และหลีกเลี่ยงการรับประทานในหญิงที่ให้นมบุตร หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ เพราะมีการศึกษาพบว่าการรับประทานต่อเนื่องติดต่อกันนานๆ พบว่าอาจยับยั้งการตั้งครรภ์ได้

  1. น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว มีสารสำคัญที่ช่วยทำให้นอนหลับได้ คือ ฤทธิ์ผ่อนคลาย คลายกังวล ช่วยให้นอนหลับ ด้วยสาร GABA (Gamma-aminobutyric acid) เป็นสารสื่อประสาท พบในระบบประสาทส่วนกลาง คือ สมอง และไขสันหลัง มีฤทธิ์ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย คลายกังวล และทำให้หลับสบาย ซึ่งยานอนหลับส่วนใหญ่ที่ใช้ในแผนปัจจุบันก็ออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับ GABA และสาร N-Acetylserotonin เป็นสารที่พบตามธรรมชาติของน้ำมันรำข้าว เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารเมลาโทนิน ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมวงจรการนอนของคนเรามีส่วนช่วยในการนอนหลับ สารตัวนี้ยังมีฤทธิ์คลายความเครียด คลายกังวล ต้านซึมเศร้า ต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องสมอง และปกป้องเซลล์รับแสงจากจอประสาทตาอีกด้วย ขนาดการรับประทาน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันรำข้าว-จมูกข้าว ชนิดแคปซูล รับประทาน 1 แคปซูลหลังอาหาร เช้า เย็น ในหญิงตั้งครรภ์ให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน
  2. ฟักทอง มีการศึกษาพบว่า ฟักทองช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ โดยทำการสังเกตพฤติกรรมถูกบังคับให้ว่ายน้ำในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะมีพฤติกรรมลอยตัวนิ่งเสมือนว่าอยากตาย แต่การให้ฟักทองอบและสารเบต้าแคโรทีน มีผลทำให้ระยะเวลาลอยตัวนิ่งลดลง และยังมีผลเพิ่มระดับเซโรโทนิน (serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine: NE) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งจะลดลงเนื่องจากภาวะซึมเศร้าให้กลับสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ ทั้งฟักทองและเบต้าแคโรทีน ยังช่วยลดสารก่อการอักเสบในสมองได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมการศึกษาดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของฟักทองและเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารสำคัญในฟักทอง

 ขอบคุณข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร