เกษตรกรหนุ่มแม่ใจ ฉีกแนวปลูกดีปลีขาย

คุณขวัญชัย มูลปุ๊ก มีสวนตั้งอยู่เลขที่ 215 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ซึ่งอยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำแม่ปืม จึงไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการทำการเกษตรในทุกกิจกรรม แปลงนี้เคยปลูกมะละกอ ก็ได้ผลดีในระยะแรก จากนั้นก็มีปัญหาโรคจุดวงแหวน จึงเลิกปลูกไป มาพบกับสมุนไพรชนิดหนึ่งที่คนเหนือมักจะใช้เป็นเครื่องปรุงสำหรับการทำลาบเหนือ นั้นก็คือ ดีปลี ซึ่งเมื่อลงมือปลูกแล้วพบว่า ไม่เพียงแต่ใช้เป็นเครื่องปรุงลาบได้อร่อยแล้วยังพบว่า ใช้ประกอบเป็นเครื่องยาในหลายตำรับของยาแผนโบราณอีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper retrofractum Vahl ชื่อสามัญ long pepper วงศ์ Piperaceae ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้เถารากฝอย ออกบริเวณข้อเพื่อใช้ยึดเกาะ ใบเดี่ยวรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 7-10 เซนติเมตร สีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยอัดกันแน่น แยกเพศ ผล เป็นผลสด มีสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง รสเผ็ดร้อน

ส่วนที่ใช้ ราก เถา ใบ ดอก ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุก หรือตากแดดให้แห้ง ลักษณะทั่วไปดีปลีเป็นไม้เลื้อยที่มีรากออกตามข้อและเกาะพันสิ่งอื่นได้ ส่วนของลำต้นค่อนข้างกลมและเรียบ มีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ใบ เป็นแบบสลับ ตัวใบคล้ายรูปไข่ ขอบขนานหรือรูปไข่เรียว ปลายใบแหลม โคนใบมักมนกลมหรือแหลม เนื้อโคนใบสองข้างไม่เท่ากัน ผิวใบด้านบนมัน ใบมีขนาดกว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 6-18 เซนติเมตร เส้นใบที่บริเวณโคนใบมี 3-5 เส้น ดอกออกเป็นช่อและออกตรงข้ามกับใบ ช่อรูปคล้ายทรงกระบอกปลายเรียวมน เมื่อเป็นผลมีรูปร่างค่อนข้างกลม ฝังตัวแน่นอยู่กับแกนช่อรูปทรงกระบอกปลายเรียวมน ยาว 2.5-7 เซนติเมตร เมื่อแก่จะมีสีแดงสด

ดีปลีมีการปลูกเชิงการค้ามาเป็นเวลานาน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนโบราณ มีทั้งการปลูกเป็นพืชหลักและการปลูกในสวนผลไม้เป็นพืชเสริม แหล่งผลิตสำคัญที่มีภูมิอากาศที่เหมาะสมและเป็นที่รู้จักของผู้ค้าสมุนไพร ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ แหล่งผลิตอื่นๆ ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี นครปฐม และนครศรีธรรมราช ดีปลีเป็นพืชอายุหลายปี ดังนั้น ควรเลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี เพื่อป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ การใช้ค้างควรใช้ค้างที่มีความแข็งแรง มีอายุการใช้งานนาน เนื่องจากดีปลีมีอายุยืน

คุณขวัญชัย มูลปุ๊ก เกษตรกรผู้ปลูกดีปลี

การเปลี่ยนค้างบ่อยเป็นการสิ้นเปลือง และทำให้ดีปลีชะงักการเจริญเติบโต ประการต่อไปที่ต้องคำนึงถึงคือจำนวนแรงงาน ดีปลีเป็นพืชที่ต้องการการดูแลมากพอสมควร ทั้งการให้น้ำ การใส่ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช และการเก็บเกี่ยว ดังนั้น ควรมีแรงงานในครอบครัวหรือแรงงานจ้างเพียงพอที่จะสามารถดูแลจัดการได้ในทุกขั้นตอนการผลิต ประการสุดท้ายคือ การตากแห้งและการเก็บรักษา เป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อให้มีคุณภาพดี ไม่มีเชื้อรา หรือมอดเข้าทำลาย ทำให้เสียคุณภาพ และขายได้ราคาต่ำ

สรรพคุณและวิธีใช้ แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เกิดจากธาตุไม่ปกติ) ใช้ดอกแก่ 1 กำมือ (ประมาณ 10-15 ดอก) ต้มเอาน้ำดื่ม ถ้าไม่มีดอกใช้เถาต้มแทนได้

แก้ไอและขับเสมหะ ใช้ดอกแก่แห้ง หรือช่อผลแก่แห้ง ประมาณ 0.5 ช่อ ฝนกับน้ำมะนาวแทรกเกลือกวาดคอ หรือจิบบ่อยๆ

สภาพพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม ดีปลีชอบดินร่วนไม่มีน้ำขัง มีอินทรียวัตถุมาก ทนความแห้งแล้งได้ดี ฤดูที่เหมาะสม คือต้นฤดูฝน

พันธุ์และการขยายพันธุ์ ใช้เพาะเมล็ดหรือเถา ส่วนมากนิยมใช้เถา การเลือกพันธุ์ เลือกต้นพันธุ์ที่อายุ 1-2 ปี ที่สมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากโรคและแมลงทำลาย พันธุ์ที่นิยมปลูก พันธุ์พื้นเมือง

การปลูกดีปลี การเตรียมดิน การกำจัดวัชพืชและเศษวัสดุ ไถพรวน ตากดินประมาณ 7-15 วัน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน อัตรา 2 ตันต่อไร่ และควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับความเป็นกรดด่างของดินให้มีค่า pH 5.5-6.5

การเตรียมพันธุ์ ใช้ยอดแก่ปลูก 3-4 ยอดต่อค้าง ปักชำส่วนยอดให้รากเดินดีก่อน ยอดที่จะนำมาชำ ให้ใช้ยอดกระโดงหรือยอดที่แยกออกด้านข้าง ตัดต่ำกว่ายอดลงมา 5 ข้อ แล้วเอาดินเหนียวหุ้ม 2 ข้อล่าง เพื่อเพิ่มความชื้นให้แตกรากเร็วขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเหี่ยวเฉา จากนั้นจึงนำยอดไปชำลงในถุงจนกระทั่งแตกรากแล้วจึงนำไปปลูก เกษตรกรอาจไม่เพาะชำกล้า แต่ใช้วิธีปลูกทันทีก็ได้ โดยตัดยอดดีปลีประมาณ 5 ข้อ แล้วนำไปปลูกติดกับเสาค้างเลย 3-5 ยอดต่อเสา ฝังลงดินประมาณ 3 ข้อ นำยอดทั้งหมดผูกติดกับเสาค้างเพื่อให้รากยึดเกาะที่เกิดขึ้นใหม่ เกาะติดกับเสาค้าง จากนั้นพรางแสงด้วยทางมะพร้าวประมาณ 2 สัปดาห์ ต้นดีปลีก็สามารถเจริญเติบโตได้โดยไม่ต้องพรางแสงอีกต่อไป เมื่อปลูกเสร็จแล้วควรมีการพูนโคนและทำร่องน้ำให้มีความลาดเอียงเล็กน้อยเพื่อให้น้ำไหลผ่านสะดวก

ผู้เขียน ในแปลงปลูกดีปลี

การปลูก ค้างที่ใช้ปลูกดีปลีเป็นค้างไม้หรือค้างปูนเช่นเดียวกับพริกไทย การเตรียมเสาค้าง เกษตรกรทั่วไปนิยมใช้เสาค้างไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-15 เซนติเมตร เป็นไม้เนื้อแข็ง มีอายุการใช้งาน 10-20 ปี ซึ่งในอดีตสามารถหาได้ง่ายและมีราคาถูก การใช้ค้างไม้ ต้นดีปลีสามารถยึดเกาะได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันเสาค้างไม้หายากและมีราคาสูงทำให้เกษตรกรหันมาใช้เสาคอนกรีตสำหรับทำค้าง เสาคอนกรีตสี่เหลี่ยมขนาด 15×15 เซนติเมตร สูง 2.5 เมตร สามารถหาได้ง่าย แม้จะมีข้อเสียบ้างเมื่ออุณหภูมิสูงจะเก็บความร้อน ทำให้รากของดีปลีที่ใช้ยึดเกาะกับเสาค้างคอนกรีตไม่สามารถยึดเกาะได้ดีเท่าค้างไม้ เตรียมค้างไม้แก่นหรือเสาซีเมนต์ ขนาดประมาณ 4×4 นิ้ว ฝังลงดินให้สูงพ้นดินประมาณ 3-3.5 เมตร ระยะปลูก 1.20×1.20 เมตร ขุดหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร

ดินที่ใส่หลุมควรเป็นหน้าดินผสมปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราส่วน ปุ๋ย : ดิน ประมาณ 1 : 5 ใช้ยอดพันธุ์ดีปลี ค้างละ 2 ยอด ให้อยู่ตรงข้ามกัน หรือปลูกด้านใดด้านหนึ่ง หลุมละ 2 ยอด เมื่อปลูกเสร็จบังแสงแดดด้วยทางมะพร้าว รดน้ำให้ชุ่มสม่ำเสมอทุกวัน มัดยอดให้ติดกับค้าง เมื่อยอดดีปลีเจริญขึ้นไปจนกว่าดีปลีจะขึ้นสุดค้าง ใช้เสาไม้แก่น หรือเสาซีเมนต์ หรือวัตถุอื่นๆ ที่ทนหลายปี ความยาวของเสา 4-5 เมตร ฝังลงดิน 0.5-1 เมตร เอาเถาดีปลีที่ชำจนแตกรากใหม่มีข้อและแตกยอดใหม่แล้วเกาะติดกับต้นเสา ในระยะแรกต้องใช้ลวดหรือเชือกช่วยยึดหลวมๆ ขึ้นไปตามลำดับ จนกว่าเถาดีปลีจะเกาะต้นเสาได้ดี จึงไม่ต้องใช้เชือกยึดอีก

ค้างปลูกดีปลี

การบำรุงรักษา ในฤดูร้อนควรให้น้ำสม่ำเสมอ อย่าให้น้ำขังท่วมราก หากรากแช่น้ำข้ามคืนดีปลีจะตาย ใส่ปุ๋ยบ้างเพื่อให้ต้นแข็งแรงและผลดก

การดูแลรักษา การให้น้ำ ควรให้น้ำแบบน้ำหยด ประหยัดทั้งน้ำและแรงงาน ตลอดจนเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงาน หรือการให้น้ำแบบหัวฉีด การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลวัว มูลไก่ และปุ๋ยหมัก ปีละ 2 ครั้ง ช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของต้นดีปลีและเพิ่มผลผลิต

การกำจัดวัชพืช ใช้แรงงานคนถอนวัชพืชสม่ำเสมอ เพราะว่าดีปลีเป็นพืชที่ค่อนข้างอ่อนแอ

โรคและแมลง พบโรคแอนแทรกโนส โรคใบจุด แมลงจำพวกเพลี้ยแป้ง และด้วงงวง

การเก็บเกี่ยว ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ดัชนีการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือเก็บเกี่ยวในระยะที่ผลแก่จัดเริ่มมีสีส้มแดงเรื่อๆ แต่ยังไม่สุก เนื้อแน่นแข็ง ไม่นิ่ม จะเป็นระยะที่ดีปลีมีกลิ่นฉุนจัดที่สุด ผลต้องไม่สุกแดงเกินไปหรือเขียวไป วิธีการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลเมื่อแก่จัดแต่ยังไม่สุก โดยการใช้กรรไกรตัดผลออกจากต้น ใส่ตะกร้าที่สะอาด ใน 1 กิ่งสามารถเก็บผลดีปลีได้ 2-3 ผลต่อครั้ง การเก็บเกี่ยวแต่ละรุ่นใช้ระยะเวลาห่างกัน 1-2 เดือน

ดีปลีที่แก่ พร้อมเก็บเกี่ยว

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว นำผลที่เก็บได้ล้างน้ำ ผึ่งให้หมาด เด็ดขั้วผลออก ตากให้แห้ง การเก็บรักษา นำดีปลีที่แห้งสนิทบรรจุถุงพลาสติกใส 2 ชั้น ปิดปากให้สนิท เขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย นำเข้าไปจัดเก็บในห้องที่สะอาด เย็นไม่อับชื้น มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันแสงแดด ระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปทำลายทำให้คุณภาพลดลง ดีปลีแห้งที่จัดเก็บไว้อายุเกิน 3 เดือน ควรจะมีการนำมาตากใหม่อีกครั้งเพื่อไม่ให้มีความชื้นและมีแมลงรบกวน

การจำหน่าย คุณขวัญชัย จะส่งไปจำหน่ายยังจังหวัดลำปาง ซึ่งจะนำไปเพื่อขายต่อให้กับลูกค้าต่อไป คุณขวัญชัย กล่าวว่า ดีปลี ยังไม่ค่อยมีคนปลูกเป็นล่ำเป็นสันในจังหวัดภาคเหนือ แต่ตลาดยังมีความต้องการอีกมาก ฉะนั้น ตนเองจึงฉีกแนวออกมาปลูก คิดว่าสามารถที่จะไปต่อได้อีกนาน