ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เกษตรกรรมนับเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย ที่หล่อเลี้ยงปากท้องคนไทยมาช้านาน แต่ทำไมเกษตรกรในประเทศไทยถึงยังต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จุนเจือครอบครัวอยู่ ซึ่งถ้าหากลองมองย้อนดูดีๆ แล้วจะเห็นช่องว่างอยู่มากมายที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านราคาผลผลิตที่ตกต่ำ หรือในบางปีสภาพฝนฟ้าอากาศไม่เป็นใจ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ส่งผลทำให้ไร่นาเกิดความเสียหาย รวมถึงการที่เกษตรกรรุ่นเก่าเข้าไม่ถึงองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จึงต้องตั้งความหวังไว้ที่คนรุ่นใหม่หรือเกษตรกรรุ่นลูก ในการเข้ามาพัฒนาผืนดินทำกินของพ่อแม่ ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองและยั่งยืนได้อีกครั้ง ด้วยการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น
ซึ่งทางบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เล็งเห็นความสำคัญของเกษตรกรไทย อยากให้พี่น้องเกษตรกรทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงได้เดินหน้าขยาย “ฟาร์มสร้างประสบการณ์เกษตรสมัยใหม่ โดยผู้แทนจำหน่ายสยามคูโบต้า” เปิดแห่งแรกในจังหวัดมหาสารคาม ภายใต้ชื่อ “ณ นา ฟาร์ม” สนับสนุนผู้แทนจำหน่ายคูโบต้า มหาสารคาม ยก “คูโบต้า ฟาร์ม” ต้นแบบมาเนรมิตเป็นฟาร์มสร้างประสบการณ์เกษตรสมัยใหม่ในระดับจังหวัด เพื่อนำองค์ความรู้และโซลูชั่น พร้อมเทคโนโลยีการเกษตร สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนมีรายได้ที่ยั่งยืน
คุณวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา สยามคูโบต้าได้เปิดคูโบต้าฟาร์มอย่างเป็นทางการ ที่ได้นำเสนอแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา โมเดล รวมถึงการต่อยอดนวัตกรรมการเกษตรมาใช้ เพื่อให้ทุกท่านที่สนใจการทำเกษตร ได้เข้ามาสัมผัสกับประสบการณ์ในฟาร์ม ก่อนลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งทางสยามคูโบต้ามีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า องค์ความรู้ที่ได้มอบให้จะช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น ต้นทุนการเพาะปลูกลดลง รวมถึงช่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อฟาร์มเกษตร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภัยแล้ง น้ำท่วม เพราะว่าทางสยามคูโบต้ามีเทคโนโลยีจัดการบริหารในส่วนของน้ำ ดิน รวมถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
“สยามคูโบต้า ได้เล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ และได้ตั้งเป้าหมายว่า จะรุกขยายฟาร์มตัวอย่างให้กระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัด เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่ไกลไม่สะดวกเดินทางเข้ามาชมคูโบต้าฟาร์มตัวอย่างที่จังหวัดชลบุรีได้ จึงมองเห็นโอกาสการต่อยอดจากตัวแทนผู้จำหน่ายของสยามคูโบต้า ที่มีอยู่ทุกจังหวัด และได้มีการปรึกษาหารือร่วมกันเมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งก็มีตัวแทนผู้จำหน่ายจากจังหวัดมหาสารคามที่ให้ความสนใจและตั้งใจอยากจะนำองค์ความรู้ลักษณะเดียวกันกับทางคูโบต้าฟาร์ม มาพัฒนาประยุกต์ใช้เป็นคลังความรู้ให้กับเกษตรกรภายในจังหวัดอยู่แล้ว โครงการดีๆ อย่างนี้จึงสำเร็จเกิดขึ้นมาได้”
โดยที่ทางสยามคูโบต้า ได้ให้การสนับสนุนผู้แทนจำหน่ายหลักๆ อยู่ 3 ด้านด้วยกัน คือ
- สนับสนุนด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่ คือเรื่องน้ำ จากที่ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนอยู่ที่ประมาณ 1,230 มิลลิเมตรต่อปี มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าระดับน้ำฝนของจังหวัดอื่นๆ ทั้งประเทศ หรือดูจากค่าเฉลี่ยวันที่ฝนตกจะอยู่ที่ประมาณ 90 วัน ทำให้จังหวัดมหาสารคามต้องประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ส่งผลทำให้ในบางฤดูผลผลิตน้อยกว่าที่ควรหรือไม่สามารถเพาะปลูกพืชผสมผสานได้ เพราะไม่มีน้ำสำรอง และอีกส่วนคือปัญหาเรื่องดินในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม มีดินเค็มค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดิน ถือเป็นเรื่องสำคัญในการเพาะปลูก ถ้าหากไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินก่อนปลูก หากใส่ปุ๋ยลงไปการดูดซึมแร่ธาตุก็จะไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร และยังเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าปุ๋ยอีกด้วย
- สนับสนุนด้านโซลูชั่น ช่วยแก้ปัญหาตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะด้าน นำองค์ความรู้จากคูโบต้าฟาร์มมาใช้ กว่า 20 โซลูชั่น ยกตัวอย่างเช่น โซลูชั่นเรื่องน้ำ ก็จะมีการคำนวณปริมาณน้ำก่อนปลูกว่าพื้นที่ตรงนี้ และชนิดของพืชผักที่ปลูก ต้องการน้ำปริมาณเท่าไหร่ในการเพาะปลูก เพื่อให้ทราบข้อมูลที่จะสามารถขุดบ่อทำพื้นที่กักเก็บน้ำได้ในปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงการนำผ้าใบคอนกรีตมาใช้ เพื่อป้องกันการกัดเซาะของที่ลาดชัน การดาดสระ และการเสริมความแข็งแรงของคันดินเพื่อป้องกันดินไหล น้ำท่วม ร่วมถึงการนำระบบ IoT เข้ามาใช้ในการลดแรงงานคน ใช้เพียงระบบสั่งการเปิด-ปิด รดน้ำผ่านทางโทรศัพท์ง่ายแค่ปลายนิ้ว
- สนับสนุนด้านการออกแบบฟาร์ม มีการสำรวจพื้นที่เพื่อดูทิศทางการไหลของน้ำ การขุดบ่อน้ำ รวมถึงเรื่องของขนาดความกว้างของพื้นที่เพาะปลูกให้อยู่ในระยะเหมาะสมในการนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้ภายในแปลง แล้วส่งต่อผู้แทนจำหน่ายเพื่อดำเนินการสร้าง
โดยสยามคูโบต้ามีความคาดหวังว่า ณ นา ฟาร์ม แห่งนี้จะเป็นต้นแบบฟาร์มยอดเยี่ยมได้อย่างแน่นอน เพราะด้วยทางผู้แทนจำหน่ายที่มีศักยภาพสูง และมีความเข้าใจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างดี ประกอบกับที่พื้นที่ของจังหวัดมหาสารคาม กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร เพราะฉะนั้นทั้งความสามารถและความเหมาะสมของผู้แทนจำหน่ายมีล้นเหลือที่จะสามารถพัฒนาเป็นฟาร์มตัวอย่างได้อย่างแน่นอน รวมไปถึงความคาดหวังไปถึงคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจอาชีพเกษตรมากขึ้น และมองว่าอาชีพเกษตรสามารถเป็นธุรกิจที่สามารถที่จะเติบโตมีผลกำไร ทำแล้วยั่งยืนในระยะยาว เพราะคนรุ่นใหม่คือความหวังของการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย
ทางด้าน คุณธนัญญา พรรักษมณี ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริหาร บริษัท คูโบต้า มหาสารคาม จำกัด ผู้บริหารรุ่นใหม่ กล่าวว่า สาเหตุในการสร้าง ณ นา ฟาร์ม ขึ้นมา เนื่องจากได้มองเห็นถึงศักยภาพพื้นที่ตรงนี้ว่ามีความเหมาะสม รวมถึงกำลังพลที่จะสามารถช่วยดูแลในส่วนของ ณ นา ฟาร์ม ได้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่มีโอกาสได้เห็นรูปแบบฟาร์มสมัยใหม่ ที่มีการผสมผสานนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพราะยังมีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงฟาร์มคูโบต้าได้ ซึ่งนับจากนี้เกษตรกรทั้งในจังหวัดและอำเภอใกล้เคียงไม่ต้องเดินทางไปไหนไกลแล้ว เพราะที่ ณ นา ฟาร์ม แห่งนี้ได้ยกตัวอย่างฟาร์มสมัยใหม่มาไว้ตรงนี้แล้ว เพื่อให้เกษตรกรในจังหวัดมหาสารคามได้มองเห็นว่าเกษตรยุคใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
“ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาบริหารงานของครอบครัว ตั้งแต่ในช่วงแรกที่ได้เข้ามาก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการเกษตรที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีไอโอทีแล้ว จึงอยากเชิญชวนให้เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือบางคนที่ทิ้งที่ดินทำกินไปทำงานในต่างจังหวัด ได้กลับมาที่บ้านตัวเอง ได้เห็นว่าในจังหวัดของตัวเองเปลี่ยนไปยังไง ตอนนี้เทคโนโลยีก้าวล้ำไปไกลที่บ้านยังมีอะไรให้น่าทำอีกเยอะ” คุณธนัญญา กล่าว
นอกจากนี้ คุณสุนิษา พรรักษมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท คูโบต้ามหาสารคาม จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะที่ ณ นา ฟาร์ม เราเป็นฟาร์มต้นแบบแห่งแรก ก็รู้สึกตื่นเต้นและภาคภูมิใจมากๆ ว่าอย่างน้อยเราก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทยได้ และฟาร์มแห่งนี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากขาดผู้สนับสนุนองค์ความรู้ดีๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน (บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด) วิสาหกิจชุมชน และอีกหลายภาคส่วน โดยมีความคาดหวังว่า ณ นา ฟาร์ม แห่งนี้ จะเป็น Smart Farm ต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ให้สามารถปลูกพืชได้หลากหลาย ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูก รวมทั้งลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบต่อผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น อีกทั้งหวังสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรต่างๆ ของเกษตรกรในจังหวัดมหาสารคามให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น”
โดยภายในส่วนของ ณ นา ฟาร์ม (NANA FARM) จะแบ่งออกเป็น 6 โซน ประกอบด้วย
- โซนแกลอรี่น้ำ : ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบน้ำภายในฟาร์ม ได้แก่ การคำนวณต้นทุนน้ำ การบริหารจัดการน้ำผิวดิน การใช้นวัตกรรม Cement Fabric การให้น้ำพืชแบบอัจฉริยะด้วยโทรศัพท์มือถือ การใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศ การขุดสระน้ำเพื่อการเกษตร
- โซน มีนาแล้ว เมื่อไหร่จะมีใจ (เกษตรแม่นยำข้าวและพืชหลังนา) : เป็นโซนปลูกข้าว กข 43 เพื่อนำเสนอพันธุ์ข้าวที่ดีต่อสุขภาพ และข้าวหอมใบเตย
- โซนเกษตรทฤษฎีใหม่ : เป็นการปลูกพืชผสมผสาน ทั้งพื้นผักสวนครัวตามรั้ว ผลไม้ยืนต้นและพืชสมุนไพรแซม การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการใส่ปุ๋ยและกำจัดวัชพืช
- โซนแกลอรี่ดิน : เป็นอาคารที่ให้ความรู้เกี่ยวกับดินชนิดต่างๆ การปรับปรุงคุณภาพดินเค็ม การเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินทรายด้วยการปลูกปอเทือง การไถกลบตอซังและใช้เป็นพื้นที่รองรับการจัดงานสัมมนา
- โซนเกษตรรายได้สูง : มีโรงเรือนที่เป็นระบบอัจฉริยะ การปลูกพืช ผัก ผลไม้ ที่มีราคาสูง
- โซน ผักก่อนไหม ถ้าใจเหนื่อยล้า (พืชสลัด พริก และมะเขือ) : เป็นโซนปลูกผักชนิดต่างๆ โดยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ของคูโบต้า ด้วยการนำนวัตกรรมเครื่องยกร่องผัก และเครื่องปลูกผักที่มาช่วยลดต้นทุนแรงงาน อีกทั้งมีอาคารนิทรรศการและร้านอาหาร เป็นพื้นที่จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ของ ณ นา ฟาร์มและจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม
ณ นา ฟาร์ม ตั้งอยู่ที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม สำหรับการเข้าเยี่ยมชมจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบรายบุคคล สามารถ Walk in เข้ามาเยี่ยมชม ใช้บริการร้านอาหาร รวมถึงอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของชุมชนเกษตรกรได้ทุกวัน และแบบหมู่คณะ เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มราชการ กลุ่มนักศึกษา สามารถเข้าเยี่ยมชมโดยมีวิทยากรร่วมบรรยายได้สัปดาห์ละ 2 วัน ได้แก่ วันอังคารและวันพฤหัสบดี โดยสามารถติดต่อได้ทางช่องทาง Facebook Nana Farm (ณ นา ฟาร์ม) และ Official line : @nanafarm