มกอช. ขับเคลื่อน BCG Model ยกระดับเกษตรกรต้นแบบตามมาตรฐาน GAP สู่การผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะเพื่อการบริโภคและเป็นพลังงานทดแทน สร้างรายได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทยยังคงประสบกับปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการผลิต เกษตรกรเผชิญกับปัญหาประสิทธิภาพการผลิตต่ำจากสาเหตุที่เกษตรกรขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการสวนปาล์มน้ำมันที่ดีรวมถึงขาดแรงจูงใจในการผลิตปาล์มคุณภาพ

นอกจากนี้ ยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายนอก ทั้งการแข่งขันและความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้ มกอช. ได้ประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ (1) ทะลายปาล์มน้ำมัน (มกษ. 5702-2552) (2) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับปาล์มน้ำมัน (มกษ. 5904-2553) (3) การปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเททะลายปาล์มน้ำมัน (มกษ.9037-2555) และ (4) หลักการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (มกษ.5909-2563) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมหลักการและเกณฑ์กำหนดสำหรับการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพื่อให้เกิดการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อชุมชน

อย่างไรก็ตาม การยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรเข้าสู่มาตรฐาน จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติให้มีความรู้ ความเข้าใจข้อกำหนดของมาตรฐาน มีการปรับเปลี่ยนการปฏิบัติในฟาร์ม/แปลง ให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลให้มีการพัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศไทย ทำให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพและ มีศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและผลักดันการนำมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติ

มกอช. จึงได้ดำเนินโครงการยกระดับเกษตรกรต้นแบบตามมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ เตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินโครงการระยะที่ 1 โดยการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมันทั้งของประเทศไทยและมาตรฐานสากล ระบบควบคุมภายในสำหรับกลุ่มเกษตรกร และรายวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันตะกั่วป่ามีการปฏิบัติจัดการผลิตผลปาล์มน้ำมันและได้ผ่านการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับปาล์มน้ำมันแล้ว

ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2565 มกอช. จึงดำเนินโครงการระยะที่ 2 โดยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรระบบควบคุมภายใน และพัฒนาร่างเอกสารคู่มือคุณภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรมีความพร้อมขอยื่นการรับรองตามมาตรฐานหลักการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (มกษ. 5909-2563)

“การส่งเสริมให้เกษตรกรมีความพร้อมขอการรับรองตามมาตรฐานหลักการผลิตปาล์มน้ำมันและ น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน และพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ซึ่งสอดรับกับแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง ด้วยการยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและประเทศโดยรวม” เลขาธิการ มกอช.กล่าว

ด้าน นางสาวสุพิชญ์ชญา โชติวัฒน์พงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันตะกั่วป่า กล่าวว่า   ทางกลุ่มฯ ได้รวมตัวกันมาเกือบ 3 ปีแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 50 ราย มีผลผลิตต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 600 ตัน ต่อเดือน สูงสุดอยู่ที่ 12,000 ตัน ต่อเดือน ซึ่งอุปสรรคในการผลิต คือ ปาล์มน้ำมันมีราคาสูงขึ้น ทำให้เกิดความอ่อนแอทางด้านเสถียรภาพด้านราคา ทางกลุ่มฯ จึงได้หันมาสนใจเข้าสู่กระบวนการทำปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนผ่านระบบ GAP และระบบ RSPO

โดย มกอช. ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมด้านการผลิตตามมาตรฐาน GAP และการจัดการปาล์มน้ำมันคุณภาพอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การผลิต การตลาด ไปจนถึงโรงงาน ซึ่งเมื่อได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว จะทำให้สามารถการันตีได้ว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันมีคุณภาพ ทำให้ปาล์มน้ำมันในพื้นที่ตะกั่วป่าได้รับการยอมรับจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และมีรายได้เข้าสู่ชุมชนมากขึ้นและยั่งยืนด้วย