ธุรกิจกล้วยไม้รูปแบบใหม่ การผลิตต้นกล้วยไม้เพื่อติดต้นไม้ใหญ่ตามบ้านและจัดสวน (ตอนที่ 8) บททบทวนประสบการณ์

ด้วยบทความในชุดนี้ได้เขียนมาถึงตอนที่ 8 แล้ว ท่านที่เพิ่งมาอ่านเอาในตอนหลังๆ นี้อาจจะปะติดปะต่อเรื่องราวหลักที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารได้ไม่ชัดเจน จึงขอใช้บทนี้เท้าความทบทวนเนื้อหาสาระอย่างย่อๆ และจะได้สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลรักษากล้วยไม้ที่นำมาติดต้นไม้ใหญ่ และสวนกล้วยไม้ดินที่จัดประกอบใต้ต้นไม้ใหญ่ในท้ายบทไปในตัว

เอื้องโมกข์ที่ผ่านการปลูกในที่ค่อนข้างร่ม เมื่อนำมาผูกกับต้นกฤษณาที่มีทรงต้นโปร่งและใบน้อยในปลายหน้าหนาว ติดทางด้านทิศใต้ของต้น ทำให้ได้รับแสงตรงๆ เกือบทั้งวัน ติดอยู่เพียง 7-10 วัน แม้ได้ฉีดรดน้ำทุกวัน วันละครั้งก็ยังถูกแดดเผาใบเริ่มซีดขาวก่อน แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งถ้าปล่อยไว้ก็จะแห้งกรังตายไป วิธีแก้ คือย้ายไปปลูกด้านทิศตะวันตกของต้นไม้ใหญ่ ซึ่งในหน้าหนาวจะไม่ได้รับแสงแดดส่องใส่ตรงๆ

จุดประสงค์ของบทความชุดนี้ คือการสื่อสารให้ผู้เขียนแบบการจัดสวนตามโครงการใหญ่ๆ ของโรงแรมหรู ศูนย์การค้าหรู รีสอร์ตหรู สนามกอล์ฟ ฯลฯ หนึ่ง นักจัดสวนมืออาชีพหนึ่ง ผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เชิงการค้าหนึ่ง และผู้สนใจที่รักกล้วยไม้และพืชสวนประดับอีกหนึ่ง ได้ตระหนักถึงธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ถือว่ายังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมทั้งเชิงดีมานด์และซัพพลายของธุรกิจรับจ้างจัดสวนหรือปรับภูมิทัศน์ที่ผนวกงานกล้วยไม้เข้าไปในโครงการ และกำลังรอให้ผู้เกี่ยวข้องข้างต้น อันได้แก่ สถาปนิกผู้ออกแบบการจัดสวนหรือภูมิทัศน์ ผู้รับจ้างจัดสวน เจ้าของโครงการ และผู้ผลิตกล้วยไม้ในเชิงการค้าได้ศึกษาพื้นฐานที่จำเป็นที่ผู้เขียนได้นำเสนอเป็นเบื้องต้น พูดคุยเจรจากัน (อย่างไม่เป็นทางการ) เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมที่ตรงกันที่จะนำไปสู่การประสานงานเชิงการค้าต่อไปในอนาคต

1. สถาปนิกผู้ออกแบบจัดสวน หรือนักภูมิสถาปัตย์ ต้อง

1.1 ศึกษาเรื่องกล้วยไม้และศักยภาพการนำมาปลูกร่วมไปกับต้นไม้ใหญ่ที่ใช้ในการจัดสวน ให้มีความซาบซึ้งในสุนทรียภาพของต้นกล้วยไม้ชนิดต่างๆ ที่ทยอยออกดอกตลอดทั้งปีในแต่ละฤดูกาล ความงดงาม สีสัน และกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของกล้วยไม้แต่ละชนิด ที่ประกอบประสานกันชวนให้ชื่นชมลุ่มหลงในเชิงศิลปะ เป็นความจำเป็นที่สำคัญอันดับแรกที่จะต้องเกิดขึ้นในตัวของนักภูมิสถาปัตย์เอง เมื่อมีความชื่นชมและซาบซึ้งในความงดงามของกล้วยไม้ที่ปลูกเรียนแบบธรรมชาติแล้ว ก็จะต้อง

1.2 ศึกษาทำความรู้จักกล้วยไม้ชนิดต่างๆ ที่มีความหลายหลากเชิงสายพันธุ์ ฤดูออกดอก ความถี่ห่างของการออกดอก (เช่น กล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้ออกดอกปีละครั้ง แต่กล้วยไม้ลูกผสมจะสามารถออกดอกได้ปีละ 1-4 ครั้ง เป็นต้น) เป็นชนิดมีกลิ่นหอม ไม่หอม หรือไม่ชวนดม เป็นกลุ่มไม้เขตร้อน หรือหนาว ฯลฯ อีกทั้งต้องศึกษาให้เข้าใจธรรมชาติของเขา ต้องศึกษาให้เข้าใจถึงการสร้างภูมิคุ้มกันแดด ด้วยการกราดแดดให้แก่กล้วยไม้ที่ผ่านการปลูกเลี้ยงใต้ซาแรนมาตลอด เพราะตรงนี้ นักภูมิสถาปัตย์จะเป็นตัวจักรหลักฝ่ายดีมานด์ที่จะสื่อสารประสานงานกับสวนกล้วยไม้เชิงการค้า และ/หรือผู้ค้ากล้วยไม้ในฐานะฝ่ายซัพพลาย ให้มีความพร้อมที่จะผลิตกล้วยไม้ที่ผ่านการกราดแดดส่งให้แก่ผู้ซื้อ นั่นคือนักภูมิทัศน์หรือนักจัดสวนมืออาชีพที่เซ็นสัญญารับงานมา

1.3 ต้องน้าวโน้มให้เจ้าของโครงการเห็นภาพความงดงามของสภาพภูมิทัศน์ที่มีกล้วยไม้ปลูกร่วมบนต้นไม้ใหญ่ ทั้งนี้ นักภูมิสถาปัตย์ต้องนำเสนอตั้งแต่ระดับการออกแบบเชิงความคิดหรือ conceptual design โดยต้องคำนึงถึงความพร้อมในเชิงพื้นที่ของการดูแลรักษาในระยะหลังส่งงานแล้วด้วย อนึ่ง ด้วยงานดูแลรักษากล้วยไม้เป็นงานละเอียดอ่อน การผนวกงานเรื่องการติดกล้วยไม้เข้าไปในงานใหญ่จึงต้องจำกัดขนาดของพื้นที่ และควรทำเป็นโครงการเล็กๆ เป็นงานเสริมในโครงการใหญ่ โดยเฉพาะในระยะแรกที่ยังไม่มีประสบการณ์

รองเท้านารีฝาหอย กล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้ ที่ปลูกจัดสวน (บทความชุดนี้ตอนที่ 4 บานในเดือนกุมภาพันธ์) 3 เอื้องโมกข์กล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้ บานในเดือนกุมภาพันธ์

2. สวนกล้วยไม้และผู้ค้ากล้วยไม้ ที่ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในโรงเรือน เมื่อทราบความต้องการที่จะมีความต้องการกล้วยไม้ที่ผ่านการกราดแดด สามารถปรับสภาพโรงเรือนบางส่วนให้สามารถรับแสงด้านทิศตะวันตกหรือตะวันตกเฉียงใต้เพื่อการนำกล้วยไม้มากราดแดด เมื่อเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามา ขั้นตอนการกราดแดดนี้น่าจะใช้เวลา 1-2 เดือน (ต้องมีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้เชิงรายละเอียดต่อไป)

3. นักจัดสวนมืออาชีพ นอกจากต้องศึกษาให้รู้จักกล้วยไม้และการใช้งานเช่นเดียวกับนักภูมิสถาปัตย์แล้ว ต้องศึกษาเรื่องเทคนิคการติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้งานออกมาเป็นงานมืออาชีพ ดูกลมกลืนเป็นธรรมชาติ การประสานงาน การเข้าไปทำความรู้จักกับสวนกล้วยไม้ใหญ่ๆ ที่จะป้อนกล้วยไม้เข้าโครงการได้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะแม้มีการเขียนแบบ ระบุงานติดกล้วยไม้ ระบุชนิดและจำนวนกล้วยไม้ แต่ถ้าไม่มีสวนกล้วยไม้ที่ประสานงานไว้ล่วงหน้า ที่มีข้อตกลงจะมีการทำธุรกรรมร่วมกัน ถ้าตรงนี้ (การติดต่อประสานงานกับสวนไว้ก่อน) ไม่ได้ถูกดำเนินการ เมื่อผู้รับจ้างเซ็นสัญญารับงานมา ไม่มีแหล่งซัพพลายที่เตรียมหรือมีสายพันธุ์ตามสเปก ไม่เข้าใจเรื่องกราดแดด ผู้รับงานก็จะถูกบังคับให้วิ่งหากล้วยไม้ที่ไม่ตรงสเปกบ้าง และที่สำคัญไม่ผ่านการกราดแดดมาใช้ สุดท้ายก็จะไปเป็นปัญหาตอนส่งงาน เช่น ต้นกล้วยไม้สเปกไม่ตรง กล้วยไม้ถูกแดดเผาใบดำเสียดูไม่สวย ไม่ผ่านการตรวจรับงาน ฯลฯ

4. ประชาชนทั่วไปที่รักกล้วยไม้ หรือชอบตกแต่งจัดสวนที่บ้านเป็นงานอดิเรก สามารถนำความรู้ที่ศึกษาจากการอ่านบทความชุดนี้ไปใช้งาน หรือนำกล้วยไม้ที่ซื้อมาจากร้าน สวน หรือในเว็บที่ขายออนไลน์ ไปติดตามต้นไม้ในบ้านที่มีอยู่ สร้างสวนป่ากล้วยไม้ในบ้านได้อย่างดี แต่ควรต้องศึกษาชนิดของกล้วยไม้ให้รู้จักถ่องแท้มากขึ้น เช่น กล้วยไม้ที่จะซื้อมาต้องมีขนาดดอกใหญ่ไม่เล็กจิ๋วแบบที่นักกล้วยไม้ไม่ปลูกกัน ทำความรู้จักกับกล้วยไม้ที่มีกลิ่นหอม เป็นต้น เมื่อมีกล้วยไม้ที่ติดอยู่บนต้นไม้ในบ้านทยอยออกดอกทั้งปี หรือมีดอกจากการที่เราปลูกกล้วยไม้ชนิดเดียวกันหลายๆ ต้น หรือคละเคล้ากันอย่างมีศิลปะ เราก็จะได้ชื่นชมกับงานศิลปะจากความงามแบบธรรมชาติของกล้วยไม้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนใคร

อนึ่ง โปรดติดตามดูผลงานการติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่รอบบ้านอาจารย์ดำรงที่ได้ทำมาตลอดปีที่ผ่านมาในขณะออกดอก โดยจะทยอยอัพโหลดขึ้นในยูทูปตลอดทั้งปีตามที่กลุ่มกล้วยไม้ทยอยออกดอกตามฤดูกาลของเขา เช่นดูตอนแรก เป็นวาระของเอื้องสายน้ำผึ้ง (Dendrobium pimulinum) ดูที่ลิงก์ https://www.youtube.com/watch?v=W5aw70kFIkY ถ้าเปิดไม่ออก รบกวนแปะ The Orchid Eden Project @ChiangMai เพื่อค้นในยูทูป และเพื่อความสะดวกในการติดตามชมตอนต่อๆ ไปโปรดกด “ติดตาม” Dumrong Leenanuruksa ผู้อัพโหลดในยูทูป

กล้วยไม้หวายไทยพันธุ์แท้ เอื้องสายน้ำผึ้ง บานเดือนกุมภาพันธ์

ความสำคัญของการกราดแดดให้กล้วยไม้

ที่เน้นเรื่องความสำคัญของการกราดแดดของกล้วยไม้ที่จะนำมาติดต้นไม้ในการจัดสวนแบบงานโครงการ ที่มีวงจรดังนี้ นั่นคือ เริ่มจากเจ้าของโครงการจ้างนักภูมิสถาปัตย์เขียนแบบ การเขียนแบบ การประกาศให้บริษัทรับจัดสวนเสนอราคา การเสนอราคา การประกาศผู้ได้งาน การเซ็นสัญญารับงาน การปฏิบัติ การส่งงาน และการตรวจรับงาน จะเห็นได้ว่าในขั้นตอนตรวจรับงาน กล้วยไม้ที่นำมาติดต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะที่ตามแบบเป็นการติดบนต้นมะพร้าว ต้นปาล์ม ต้นหมากที่รับแสงตรงๆ ทั้งวัน หรือแม้จะเป็นต้นไม้ใหญ่อื่นที่ผ่านการล้อมมาปลูกที่มักถูกตัดกิ่งตัดใบจนโล่งแสงส่องลงมาแทบจะเต็มที่ ซึ่งถ้าผู้รับงานไปเอากล้วยไม้จากสวนที่ปลูกใต้ซาแรนมาปลูกโดยตรง ก็จะเสียหาย ใบไหม้แดด หรือช้ำบวมแบบน้ำร้อนลวก ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่ผ่านการตรวจรับ เพราะถือต้นกล้วยไม้เสียหายไม่สมบูรณ์ ดังนั้น เพื่อให้ธุรกรรมนี้ได้ดำเนินไปอย่างมืออาชีพ การประสานงานให้มีสวนกล้วยไม้หลายๆ สวนทำหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์ “กล้วยไม้ที่ผ่านการกราดแดด” จึงสำคัญ และถือเป็นหัวใจของห่วงโซ่ธุรกิจ “การติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่เพื่อการปรับภูมิทัศน์”

ส่วนประชาชนทั่วไปที่จะนำไปปรับใช้ ก็สามารถนำต้นกล้วยไม้ไปติดบนต้นไม้ใหญ่ได้เลย ด้วยความเข้าใจเรื่องการกราดแดด และพยายามติดต้นกล้วยไม้ที่ผ่านการเลี้ยงใต้ซาแรนมาให้หลบแดดตรงๆ ในช่วง 10 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมง อนึ่ง ถ้าสังเกตเห็นว่าต้นกล้วยไม้โดนแดดจัดไป เช่น สีใบที่เคยเขียว ซีดและคล้ำไป ก็ต้องค่อยสังเกตต่อไปว่าใบแห้งตายไปไหม เพื่อขยับเปลี่ยนที่ปลูกให้โดนแดดน้อยลง เป็นต้น แล้วท่านจะสนุกกับงานและการเรียนรู้

กล้วยไม้สกุลแคทลียาลูกผสมที่ติดบนต้นไข่ดาวกำลังออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์

การดูแลรักษากล้วยไม้หลังการเกาะติดกับต้นไม้ใหญ่

ฤดูที่ปลูก ถ้าเลือกเวลาของการเริ่มงานการติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ได้ แนะนำให้เริ่มในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อให้น้ำฝนเป็นตัวช่วยให้ความชื้นและเร่งรากให้งอกเร็ว รากเกาะติดต้นไม้ใหญ่เร็ว และทำให้ต้นกล้วยไม้ตั้งตัวได้เร็ว ซึ่งตรงนี้มีผลโดยตรงต่อการดูแลรักษากล้วยไม้หลังการเกาะติดบนต้นไม้ใหญ่ ถ้าบังเอิญเราเลือกเวลาเริ่มงานไม่ได้ ด้วยเป็นไปตามกำหนดเวลาในสัญญาจ้าง แล้วต้องดำเนินการในเดือนที่ไม่มีฝนตกเลย การรดน้ำทุกวัน อย่างน้อยวันละครั้ง หรืออาจจะมากถึงสองสามครั้งในฤดูแล้งในเขตภาคเหนือหรืออีสานก็จำเป็น ควรจะต้องวางเป็นหลักปฏิบัติไว้เลยว่า ไม่ว่าจะติดกล้วยไม้ฤดูใด ในวันที่ฝนไม่ตกจะต้องรดน้ำอย่างน้อยในช่วง 2 เดือนแรก

กล้วยไม้แวนด้าลูกผสมมีสายเลือดเอื้องโมกข์ 25% ติดบนต้นหมากเยอรมัน บานเดือนกุมภาพันธ์

การรดน้ำ หรือการฉีดพ่นน้ำให้กล้วยไม้หลังการติดบนต้นไม้ใหญ่ ปกติในการรับจ้างจัดสวนก็เหมือนการจ้างทำของหรือสร้างบ้าน คือถ้าไม่มีการระบุในสัญญาจ้างงาน เมื่อส่งงาน ผ่านการตรวจรับงาน และรับเงินตามสัญญาจ้างงวดสุดท้ายแล้ว ก็หมดหน้าที่ผู้รับจ้าง นอกจากจะมีระบุผูกพันในสัญญาว่าต้องรับงานดูแลต่อไปอีกกี่เดือน หรือมีสัญญาผูกพันการว่าจ้างเพิ่ม ให้รับผิดชอบดูแลให้น้ำให้ปุ๋ย ฯลฯ แล้วแต่ที่มีระบุในสัญญาจ้าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ยังใหม่สำหรับเรื่องงานติดกล้วยไม้ ในเรื่องการรดหรือฉีดพ่นน้ำให้กล้วยไม้ที่ติดบนต้นไม้ใหญ่นี้ ผู้เขียนก็คงจะแนะนำได้เพียงจากการปฏิบัติด้วยตัวเองในโครงการที่บ้านที่ผ่านมาครบ 13 เดือนเต็มได้ดังนี้คือ ตั้งแต่เริ่มโครงการมา 13 เดือนนี้ ด้วยเป็นช่วงที่ผู้เขียนวางมาตรการเข้มเรื่องการกักตัวอยู่บ้านด้วยการระบาดของโควิด-19 วันไหนที่มีฝนตกก็ไม่มีการรดน้ำ นอกนั้น รดน้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ด้วยตัวเอง ปริมาณงานมากไหม? คำตอบคือผู้เขียนใช้เวลาเดินรดน้ำวันละ 4 ชั่วโมงมาทุกวันที่ฝนไม่ตกในรอบ 13 เดือนที่ผ่านมา (ด้วยผู้เขียนเป็นคนสูงอายุและปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิวิปัสสนามานานแล้ว จึงใช้เวลาที่ทำงานรดน้ำนี้นอกจากเป็นการออกกำลังกายแล้ว ถือเป็นปฏิบัติธรรม เหมือนการเดินจงกรมไปในตัว)

. เอื้องช้างกระ กล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้ออกดอกเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปลูกเป็นกอใหญ่ปลูกเกาะบนตอไม้แขวนกราดแดดครึ่งวันตั้งแต่เที่ยงมาประมาณ 6 เดือน สังเกตใบจะออกเหลืองด้วยกร้านแดด และใบมีรอยปื้นดำ ด้วยในอดีตเคยโดนแมลงบางชนิดวางไข่ในเนื้อใบ แล้วฟักเป็นหนอนตัวเล็กๆ อาศัยอยู่ในใบ ส่วนนี้เมื่อถูกแดดเผาจะไหม้ดำ บางใบที่เป็นมากก็แห้งแล้วร่วงหลุดไป ดูไม่สวย แต่ศักยภาพการให้ดอกกลับไม่ด้อยไปมาก ช้างกระต้นนี้ถือเป็นต้นที่มีลักษณะดี ช่อดอกแน่น ยาว ระเบียบดอกดี (เรียงตัวกันเป็นระเบียบสวยเหมือนพวงมาลัย และบานสุดช่อ คือบานจนสุดช่อดอก โดยดอกที่โคนช่อซึ่งเริ่มบานก่อน ยังบานอยู่เป็นปกติ ไม่ร่วงหรือเหี่ยวไป กล้วยไม้สกุลช้างเป็นพันธุ์หนึ่งที่นำมาติดต้นไม้ใหญ่ยาก คือเป็นไม้ที่งอแงพอสมควร จะได้กล่าวเรื่องเหล่านี้ในบทความตอนต่อไป

ดังนั้น คำแนะนำเบื้องต้นต่อเรื่องการรดน้ำนั้น อย่างน้อย 6 เดือนแรกควรปฏิบัติเช่นเดียวกับที่ผู้เขียนปฏิบัติคือรดน้ำทุกวันที่ไม่มีฝนตก ส่วนหลังจากนั้นอยู่ที่วิจารณญาณของท่านทั้งหลายเอง แต่ผู้เขียนฝากข้อคิดในเรื่องนี้ไว้ดังนี้ครับ

“ที่เราติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ เราหวังให้รากกล้วยไม้เกาะติดเปลือกหรือผิวต้นไม้ ที่เมื่อรากเดินเกาะดีแล้ว กล้วยไม้จะอาศัยความชื้นและธาตุอาหารจากเปลือกต้นไม้ในระดับหนึ่ง เลียนแบบธรรมชาติในป่าที่กล้วยไม้ป่าเกิดอาศัยอยู่ ดังนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่ต้องพิจารณาคือ รากกล้วยไม้ทั้งหมดเดินดีไหม ส่วนใหญ่รากเกาะแนบเดินไปตามต้นไม้หรือไม่? ถ้ารากแทบไม่เกาะต้นไม้เลย นั่นคือกล้วยไม้แทงรากลอยเป็นส่วนใหญ่ เขาก็ไม่ได้รับน้ำหรือความชื้นผ่านผิวหรือเปลือกต้นไม้ กล้วยไม้พวกที่รากลอยไม่เกาะต้นไม้ใหญ่นี้ มักจะทรุดโทรม โตช้า ไม่แข็งแรง สุดท้ายเหี่ยวเฉาไป ถึงไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต เป็นต้น ดังนั้น การตัดรากกล้วยไม้ออกให้เหลือสั้นๆ ก่อนติดต้นไม้ใหญ่ เพื่อเร่งรากใหญ่ของกล้วยไม้ให้งอกใหม่ออกจากต้นและเกาะเปลือกไม้ ที่แนะนำไว้ในบทความชุดนี้ตอนที่ 3 จึงสำคัญมาก”

กล้วยไม้แวนด้าลูกผสมมีสายเลือดเอื้องโมกข์ 25% ติดบนต้นคิงส์ปาล์ม บานเดือนกุมภาพันธ์

การให้ปุ๋ย ได้เคยเขียนแนะนำเรื่องปุ๋ยไปบ้างแล้วในตอนที่ 5 จะไม่นำมากล่าวซ้ำ แต่จะเพิ่มคำแนะนำว่ากล้วยไม้ที่ผ่านการเกาะต้นไม้ใหญ่มาระยะหนึ่งแล้ว และถือว่ารากเดินเกาะบนเปลือกไม้ดีแล้ว พอจะถือหรืออนุโลมได้ว่าคล้ายเราปลูกกล้วยไม้ในกระเช้าหรือกระถางด้วยวัสดุปลูกเป็นเปลือกไม้ 100% ในกรณีนี้ มีคำแนะนำการให้ปุ๋ยแก่กล้วยไม้ที่ใช้วัสดุปลูกเป็นเปลือกไม้ ว่า “เปลือกไม้มีหรือให้ไนโตรเจน (N) ต่ำ จึงควรใช้ปุ๋ยละลายน้ำชนิดที่มีค่า N สูง เช่น 30-10-10 โดยฉีดพ่นให้สัปดาห์ละครั้ง ความเข้มข้น 75 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ดู https://www.gardeningknowhow.com/ornamental/flowers/orchids/tips-on-fertilizing-orchids.htm

สวัสดี