ชาวสวนยางสงขลา เลี้ยงผึ้งชันโรง สร้างรายได้เสริมเดือนละหมื่นบาท

“ยางพารา” หนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดสงขลา ในอดีต ยางพาราขายได้ราคาดี เกษตรกรหันมาปลูกยางพารากันแทบทุกอำเภอ แต่ภาวะราคายางพาราตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครอบครัว ส่งผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางจำนวนมาก เกษตรกรหลายรายตัดสินใจตัดโค่นต้นยางทิ้ง เพื่อปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ขณะที่เกษตรกรหลายรายมุ่งมั่นที่จะรักษาอาชีพการทำสวนยางพาราต่อไป พร้อมกับมองหาอาชีพใหม่ๆ เพื่อเป็นรายได้เสริมเลี้ยงดูครอบครัว

ผศ.ดร. นุกูล ชิ้นฟัก

อาชีพเสริมของชาวสวนยาง อำเภอบางกล่ำ

อำเภอบางกล่ำ นับเป็นแผ่นดินทองทางการเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย 39 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางกล่ำ ตำบลท่าช้าง ตำบลแม่ทอม และตำบลบ้านหาร ซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นแห่งนี้มีรายได้หลักจากการทำสวนยาง ปลูกพืชร่วมสวนยาง และทำเกษตรผสมผสานเป็นรายได้เสริม เช่น ตำบลบางกล่ำ ปลูกละมุด ขณะที่ชาวบ้านในตำบลแม่ทอม ปลูกส้มโอเป็นจำนวนมาก ส่วนตำบลท่าช้าง ชาวบ้านนิยมทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ (แบบประยุกต์) ทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงชันโรงบ้านคลองต่อ อำเภอรัตภูมิ

กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านเกาะไหล พื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านหาร อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ได้รับการสนับสนุนจาก กศน. อำเภอบางกล่ำ สำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา เข้าอบรมความรู้พัฒนาอาชีพเสริมรายได้ ได้แก่ เครื่องแกงสมุนไพรหลากหลายรสชาติ เช่น แกงกะทิ แกงส้ม และแกงเผ็ด รวมทั้งผลิตภัณฑ์หอมเจียว การผลิตดอกไม้จันทน์ การปลูกผักกางมุ้ง การทำเกษตรผสมผสาน ฯลฯ

เนื่องจากพื้นที่อำเภอบางกล่ำส่วนใหญ่เป็นการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรชาวสวนยางพาราจึงสนใจเลี้ยงผึ้งเป็นรายได้เสริม กศน.ตำบลบางกล่ำ ได้พาชาวบ้านไปศึกษาดูงานในแหล่งผลิตที่เลี้ยงผึ้งชันโรง ในพื้นที่ต่างๆ จนชาวบ้านมีความรู้เรื่องการเลี้ยงผึ้งชันโรง หรือ “อุง” เป็นรายได้เสริม โดยดำเนินธุรกิจร่วมกันในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ” นอกจากนี้ ทางกศน.ได้ส่งเสริมชาวบ้านแปรรูปน้ำผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์โลชั่น และสบู่เพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

คุณโอ หรือ คุณเดชา ศิริโชติ โทร. 089-197-8192 แกนนำวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 2 ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การเลี้ยงอุง (ผึ้งชันโรง) มีข้อดีคือ ช่วยผสมเกสรไม้ผลในสวนให้มีผลผลิตคุณภาพดีจำนวนมาก ถือเป็นการพึ่งพิงกันเองของธรรมชาติ เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เจ้าของสวนผลไม้ที่เลี้ยงผึ้งชันโรงได้อีกแนวทางหนึ่ง

ทุกวันนี้ ช่วงเช้า ชาวบ้านจะออกไปตัดยาง และใช้เวลาว่างไปเลี้ยงผึ้งชันโรง การเลี้ยงผึ้งชันโรง (อุง) โดยทั่วไป ชาวบ้านจะใช้เวลาเลี้ยงผึ้งชันโรง ประมาณ 1 ปี จะได้น้ำผึ้งคุณภาพดีออกขาย ข้อดีของการเลี้ยงผึ้งชันโรง ใช้เงินลงทุนครั้งเดียว หลังจากรีดน้ำผึ้งจากรังแล้ว เกษตรกร สามารถแยกผึ้งชันโรงได้เพิ่มขึ้นอีก 1 รัง เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แค่เลี้ยงผึ้งชันโรงในสวน   ผลไม้ และปลูกดอกไม้หลายชนิด ผึ้งชันโรงจะออกหากินเอง หากใครสนใจกิจการเลี้ยงผึ้งโพรงของชุมชนแห่งนี้ สามารถติดตามข่าวสารของวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ ได้ทางเฟซบุ๊ก “กลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงตำบลบางกล่ำ” ได้ตลอดเวลา

ผึ้งชันโรงพันธุ์ทูราซิก้า

 

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงชันโรง

บ้านคลองต่อ อำเภอรัตภูมิ

ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางพารา บ้านคลองต่อ อำเภอรัตภูมิ ได้รวมตัวกันเลี้ยงผึ้งชันโรง ในชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงชันโรง บ้านคลองต่อ ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ ภายใต้การนำของประธานกลุ่ม คือ นายวิสุทธิ์ สุวรรณ หรือ บังอิ๊ เจ้าของกิจการผึ้งชันโรงนาดาฟาร์ม โทร. 082-266-4985

ปัจจุบัน ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ มีการเลี้ยงผึ้งชันโรงมากหลายพันรัง จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ขนเงินหลังลาย ทูราซิก้า และอีตาม่า สร้างรายได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ทะลุหลักแสนถึงหลักล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ พบว่าเกษตรกรแต่ละรายมีรายได้โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเดือนละหมื่นบาท เนื่องจากน้ำผึ้งชันโรงมีรสเปรี้ยวอมหวาน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป โดยมีราคาซื้อขายมิลลิลิตรละ 2 บาท  โดยเฉลี่ยผึ้งชันโรงจำนวน 2-3 รัง จะได้น้ำผึ้งประมาณ 1 กิโลกรัม

วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ

ที่ผ่านมา ทางกลุ่มฯ ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง เช่น กศน.อำเภอรัตภูมิ กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เป็นต้น ร่วมผลักดันทาง กลุ่มฯ ขับเคลื่อนการเลี้ยงผึ้งชันโรงร่วมกับเครือข่ายรายย่อยในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมเรื่องการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ผึ้งชันโรงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผลิตภัณฑ์เสริมความงามและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น ยาหม่องขี้ผึ้งชันโรง พิมเสน ครีมบำรุงผิว สบู่ และ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพผสมคอลลาเจนจากสาหร่ายพวงองุ่น ฯลฯ ช่วยเพิ่มโอกาสการขายสินค้าและเพิ่มรายได้เป็นอย่างดี

โรงเรือนเลี้ยงผึ้งชันโรงของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงชันโรง บ้านคลองต่อ

ม.หาดใหญ่ ผลักดัน “สงขลา”

พัฒนาเป็น “เมืองแห่งชันโรง”

ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เนื้อที่ 8,729 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมจังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ถือเป็นแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีระบบนิเวศลักษณะเฉพาะตัวแบบ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมโลกในปัจจุบัน ทำให้ทะเลสาบสงขลาถูกคุกคามอย่างรุนแรง มีการใช้ประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืน

ผึ้งชันโรงพันธุ์อีตาม่า

หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน จึงร่วมมือกันอนุรักษ์ฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแบบประชารัฐ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้ทำข้อตกลง MOU ระหว่างเทศบาลตำบลชะแล้ และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ พร้อมทั้งเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่าย เช่น กลุ่มชุมชนรักษ์ชะแล้ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (เกาะยอ) โรงเรียนวัดชะแล้ กลุ่มประมงพื้นบ้าน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ฯลฯ เพื่อร่วมกันออกแบบกิจกรรม สร้างการรับรู้และตระหนักในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง สู่การลงมือปฏิบัติจริง โดยใช้แนวคิด        “บางเหรียงโมเดล” ผ่านการปลูกป่าชายเลนแบบผสมผสาน

สินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงชันโรง บ้านคลองต่อ

ปรากฏว่า ผลการดำเนินงานดังกล่าวได้ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และชุมชนเกิดความรู้ความเข้มแข็งจากการเรียนรู้งานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมป่าชายเลน จนเกิดผลพวงที่สำคัญคือ แหล่งเพาะเลี้ยงชันโรงที่เหมาะสมตามธรรมชาติ และสามารถขยายผลสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้ จึงต่อยอดเป็นโครงการ “การพัฒนาชุมชนเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรงสู่การเป็นชุมชนนวัตกรรมอย่างยั่งยืนจังหวัดสงขลา” ปัจจุบัน ได้ดำเนินการไปแล้ว 8 อำเภอ 10 วิสาหกิจชุมชน ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.

ผศ.ดร. ปกรณ์ ลิ้มโยธิน คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ในฐานะผู้อำนวยการแผนโครงการฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มีองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงผึ้งชันโรงอยู่แล้ว ผนวกกับความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนในพื้นที่ต่างๆ จากการทำงานวิจัย จึงได้นำองค์ความรู้ที่เรามีมาถ่ายทอดแก่เกษตรกร ตั้งแต่การเริ่มต้นเลี้ยง การเก็บผลผลิต การสร้างผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ชุมชนสามารถสร้างอาชีพและรายได้ พร้อมผลักดันให้จังหวัดสงขลาเป็นเมืองแห่งชันโรง โดยพยายามจะลดความเหลื่อมล้ำของสังคมเมืองและสังคมชนบทให้ได้

รังผึ้งชันโรง

ด้าน ผศ.ดร. นุกูล ชิ้นฟัก ผู้ช่วยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ในฐานะหัวหน้าโครงการย่อย เล่าว่า พันธุ์กล้าไม้ที่ทีมวิจัยและชุมชนร่วมกันปลูกในโครงการนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ได้แก่ ต้นจิก ตีนเป็ดทะเล จาก หยีน้ำ สารภีทะเล เสม็ดขาว และโกงกางใบเล็ก จำนวน 3,650 ต้น ขณะนี้เริ่มเกิดผลพวงจากความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติมากขึ้นแล้ว อาทิ ชาวประมงสามารถจับปลาได้มากกว่าแต่ก่อน

ผึ้งชันโรงพันธุ์ขนเงินหลังลาย

ต้นเสม็ดที่ปลูกมาแล้ว 2-3 ปี ออกดอกให้เกสรเป็นอาหารชั้นดีแก่ผึ้งชันโรง ซึ่งชาวบ้านเลี้ยงไว้เป็นอาชีพเสริมกันมากขึ้น และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีแนวโน้มจะเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้จำนวนมากในอนาคต มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพิ่มขึ้น 3 กลุ่ม ภายใต้โครงการการจัดการความรู้ข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติในการฟื้นฟูป่าชายเลนในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนตำบลชะแล้ (อุง) สร้างอาหารปลอดภัย ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน ผู้สนใจ และสามารถส่งต่อเป็นโครงการให้แผนพัฒนาตำบลต่อไปได้ โดยกลุ่มคนในท้องถิ่น และทีมวิจัยยังคงร่วมกันปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาคีชุมชนที่เข้มแข็งขึ้น ดำเนินวิถีชีวิตด้วยความหวงแหนและพึ่งพิงธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไป

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก