ที่มา | เทคโนฯ ประมง |
---|---|
ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
เผยแพร่ |
“ปลาตะเพียน” เป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยรู้จักดี แล้วยังอยู่ในวิถีชีวิตความเป็นอยู่มาแต่โบราณ พบชุกชุมในแหล่งน้ำทุกภาคของไทย เป็นปลากินพืช แมลง และสัตว์หน้าดิน ปัจจุบัน มีการเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนเพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำ สำหรับให้ชาวบ้านนำไปประกอบอาชีพ หรือแปรรูปเป็นอาหารยอดนิยม เช่น ปลาตะเพียนต้มเค็ม หรือปลาส้ม
สำนักงานประมงจังหวัดสระแก้ว ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด สระแก้ว (ศพจ.สระแก้ว) พร้อมกับอีกหลายภาคส่วนบูรณาการส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มชาวบ้านคลองยาง (ละลุ) เลี้ยงปลาตะเพียน แล้วจัดตั้งเป็นกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลาตะเพียน ละลุ” ตั้งอยู่ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว มีสมาชิกรวม 37 ราย มีพื้นที่เลี้ยงปลา รวม 50 ไร่ กระทั่งสามารถสร้างมูลค่าปลาตะเพียนด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิด ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
คุณเมธี เสมา นักวิชาการประมงปฏิบัติการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด สระแก้ว เปิดเผยว่า สมาชิกกลุ่มมีอาชีพทำเกษตรกรรมปลูกพืชและมีบ่อเลี้ยงปลา โดยแต่ละรายผ่านการคัดเลือกจากประมงจังหวัด และศพจ.สระแก้ว จนได้ขึ้นทะเบียนกับทางประมงจังหวัดไว้แล้ว
เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติทุกอย่างแล้วเจ้าหน้าที่จากศูนย์ฯ จึงลงพื้นที่สนับสนุนส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาตะเพียน โดยเหตุผลที่เลือกพันธุ์ปลาตะเพียน เพราะ 1. ปลาชนิดนี้เป็นที่นิยมของชาวบ้านแถบนี้กันมาก 2. เป็นพันธุ์ปลาที่เลี้ยงง่าย หากินเก่ง โตเร็ว ต้นทุนน้อย
“กลุ่มนี้ตั้งมาเมื่อปี 2563 ดำเนินกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง กระตือรือร้น จนถึงวันนี้นอกจากเลี้ยงปลาตะเพียนได้คุณภาพมีความสมบูรณ์แล้วยังต่อยอดด้วยการนำปลามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นปลาตะเพียนส้ม ปลาตะเพียนสายเดี่ยว ได้รับความสนใจจากลูกค้าจนผลิตไม่ทัน แล้วยังมีแผนแตกไลน์เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นที่เข้ายุคสมัยอีก”
สำหรับขั้นตอนการส่งเสริมจะเริ่มจากในปีแรก 1. การอบรมให้ความรู้การเพาะพันธุ์ปลาเบื้องต้น 2. ให้ความรู้การพัฒนาปรับปรุงบ่อเลี้ยงให้มีมาตรฐาน 3. สนับสนุนปัจจัยการผลิต พอปีต่อมาจะเริ่มเข้าตรวจและประเมินมาตรฐานบ่อของสมาชิกทุกรายจนครบ หลังจากประเมินผ่านแล้วทางประมงจังหวัดจะเข้ามาถ่ายทอดความรู้เรื่องการแปรรูปผสมผสานกับภูมิปัญญาของชาวบ้านจนตกผลึกเป็นสินค้าแปรรูปที่มีสูตรเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่ม
“ชาวบ้านจะได้รับความรู้เรื่องการเตรียมบ่อเลี้ยง เตรียมบ่ออนุบาล การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การเพาะขยายพันธุ์ การอนุบาลลูกสัตว์น้ำที่ใช้ในการอบรมครั้งนี้ คือ กบ ปลาตะเพียน ปลานิล และปลาสวาย การลำเลียงลูกปลาด้วยการบรรจุถุง การผสมและการให้อาหารลูกปลาและลูกกบวัยอ่อน”
นักวิชาการประมง กล่าวว่า สำหรับบ่อเลี้ยงปลาต้องเป็นไปตามมาตรฐานของประมง ซึ่งประกอบด้วย 1. สถานที่ 2. การจัดการทั่วไป 3. ปัจจัยการผลิต 4. การดูแลสุขภาพสัตว์น้ำ 5. สุขลักษณะฟาร์ม 6. การเก็บเกี่ยวและขนส่ง 7. การจดบันทึกข้อมูล
ในเรื่องอาหารปลาตะเพียนทางศูนย์ฯ แนะนำให้ใช้ 2 ประเภท คือ อาหารจากธรรมชาติ กับอาหารสำเร็จ โดยอาหารธรรมชาติกำหนดให้ทำจากฟางหมักในบ่อ มีลักษณะคล้ายแซนด์วิชซึ่งมีหลายสูตรแล้วแต่จะใช้วัสดุอะไรที่มีในพื้นที่ กับอีกชนิดคือการทำอาหารปั้นก้อนที่มีส่วนผสมของรำ หยวกกล้วย จุลินทรีย์ ส่วนอาหารสำเร็จใช้เป็นอาหารสมทบ สามารถให้ได้สัปดาห์ละ 2-3 วัน ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับอาหารจากธรรมชาติเพราะช่วยให้ปลามีความแข็งแรง สมบูรณ์ แล้วยังช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก
“ประโยชน์ของฟางหมักจะสร้างอาหารตามธรรมชาติอย่างแพลงตอนและไรแดง ขณะเดียวกันฟางก็ยังช่วยรักษาคุณภาพน้ำควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ตามทั้งอาหารธรรมชาติกับอาหารสำเร็จต่างช่วยให้ปลาโตเร็วมีขนาดใหญ่และสมบูรณ์กว่าเดิม ย่นเวลาจับปลาได้เร็วขึ้น”
การส่งเสริมเลี้ยงปลาตะเพียนที่มีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จะเน้นให้ความรู้แก่ชาวบ้านทุกขั้นตอนเพื่อให้ครบทุกกระบวนการ แต่ปัญหาหนึ่งที่ทางศูนย์ฯ พบคือ คุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการเพาะพันธุ์ปลา ดังนั้น ทางศูนย์ฯ จึงต้องเข้าไปทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับชาวบ้านก่อนในช่วงแรกด้วยการจัดหาวิธีบำบัดน้ำตามธรรมชาติให้กลับมามีคุณภาพในระดับที่สามารถเพาะพันธุ์ลูกปลาได้ปลอดภัย
“เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในช่วงเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลา เนื่องจากพบว่าคุณภาพน้ำในพื้นที่ไม่สมบูรณ์ มีสารแขวนลอย มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของลูกปลา
จึงทดลองเพาะลูกปลาเปรียบเทียบระหว่างสภาพน้ำใส กับสภาพน้ำขุ่น (น้ำในพื้นที่) พบว่าพัฒนาการของไข่เมื่ออยู่ในน้ำใสมีการเจริญเติบโตและแข็งแรงดีกว่าอยู่ในน้ำขุ่น ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาจึงนำฟางหมักมาเพื่อใช้บำบัดคุณภาพน้ำในบ่อ ขณะเดียวกันยังแนะนำให้เกษตรกรควรแยกบ่อเพื่อกักน้ำไว้ก่อนนำไปใช้เพาะพันธุ์ลูกปลา”
คุณเมธี ชี้ว่า ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นแปลงใหญ่สัตว์น้ำจืดทำให้ชาวบ้านร่วมมือและช่วยเหลือกันทำกิจกรรมอย่างดี ต่างจากเมื่อก่อนที่ต่างคนต่างเลี้ยง พอเจอปัญหาแก้ไขไม่ได้ ภายหลังเมื่อรวมกลุ่มกันแล้วหากรายที่พบปัญหาจะมาประชุมคุยกันหาทางแก้ไขนำมาสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องยั่งยืน และทางออกของปัญหาจะเป็นประโยชน์กับรายอื่นไปด้วย
“ข้อดีของแปลงใหญ่ยังทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันนำปลามาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มรายได้แทนการขายปลาสดที่มีราคาน้อยกว่า นอกจากนั้นยังสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มในด้านการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ สามารถยืมไปใช้โดยไม่ต้องหาซื้อ หรือการผลัดกันช่วยกันลงแรงจับปลา โดยไม่ต้องเสียเงินค่าจ้าง สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เกิดมิตรภาพ สร้างความสามัคคีที่ดีต่อกัน”
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่กลุ่ม “วิสาหกิจแปลงใหญ่ปลาตะเพียน บ้านคลองยาง” ขายอย่างเป็นทางการ ได้แก่ ปลาตะเพียนส้ม กับปลาตะเพียนสายเดี่ยว (แหนมปลาตะเพียน) ผ่านช่องทางขายตามบู๊ธงานประจำและขายทางออนไลน์ ขณะเดียวกันยังเตรียมผลิตภัณฑ์ที่ประยุกต์ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในขณะนี้ อาทิ ปลาตะเพียนห่มสไบ และปลาตะเพียนเบอร์เกอร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองคาดว่าอีกไม่นานคงมีออกมาวางขาย
การแปรรูปจะใส่ใจเรื่องสุขอนามัยทั้งผู้ปฏิบัติ เครื่องมือ อุปกรณ์และสถานที่ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถนำไปบริโภคได้อย่างปลอดภัย อร่อย สะดวกเพราะไม่มีก้าง สอบถามรายละเอียดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่เพจ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลาตะเพียนละลุ