เกษตร จี้ ศพก.หนุนผลิตมังคุดแปลงใหญ่

แปลงใหญ่มังคุดภาคตะวันออกไปได้สวย งัดวิธีประมูลขายให้ล้งได้ราคาดีกว่าเดิม กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมดัน ศพก.เข้าไปช่วยผลิตมังคุดคุณภาพเพิ่มเติมอีก ส่วนแปลงใหญ่ทั่วประเทศเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตกว่า 4,864 ล้าน/ปี

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่มากว่า 3 ปี เพื่อให้เกษตรกรรวมกลุ่มการบริหารจัดการร่วมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และมีมาตรฐานภายใต้การบริหารจัดการที่ดี จนทำให้แปลงใหญ่ได้ขยายเป็น 2,138 แปลง จาก 1,500 แปลงเป้าหมาย ผลจากการดำเนินงานในปี 2559 เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ 3,437.82 ล้านบาท มูลค่าผลผลิตเพิ่มขึ้น 1,427.12 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ รวม 4,864.94 ล้านบาท เกษตรกรมีการบริหารจัดการที่ดีส่งผลให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง

ทางด้าน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ผลสำเร็จที่เกิดจากการทำแปลงใหญ่ชัดเจนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะแปลงใหญ่มังคุด อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเดิมชาวสวนต่างผลิต ต่างขาย หลังจากการรวมเป็น “แปลงใหญ่ มังคุด” ได้ศึกษาการขายแบบประมูล และเริ่มดำเนินการกว่า 40 ครั้ง จนทำให้ฤดูกาลนี้เกิดผลกำไรหมุนเวียนกว่า 5 ล้านบาท เนื่องจากมีการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น มีอำนาจในการต่อรองราคา สามารถประสานงานกับผู้ประกอบการได้เอง สมาชิกมีรายได้เพิ่ม ขณะที่รูปแบบการประมูลผลผลิตมังคุดในแปลงใหญ่ จะใช้วิธีการให้สมาชิกตรวจสอบคุณภาพทั้งหมด จากนั้นผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) จะดูผลผลิตที่เข้าประมูลแล้วใส่ราคาที่ต้องการตามคุณภาพให้กับสมาชิกครบทุกราย หลังจากนั้นตัวแทนกลุ่มจะเป็นผู้เปิดราคาโดยผู้ที่ให้ราคาสูงสุดเป็นผู้ชนะประมูล และมีระบบการจ่ายจะเป็นรูปแบบเงินสดจ่ายในวันเดียวกัน

“การประมูลมังคุด ทำให้มังคุดจำหน่ายได้ราคาดีกว่าตลาด เกษตรกรได้เรียนรู้การผลิตและการคัดคุณภาพก่อนส่งมาประมูล กลุ่มแปลงใหญ่ มีกติกาที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันให้ปลูกมังคุดได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งปี 2561 วางเป้าที่จะใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เข้าไปช่วยในการผลิตมังคุดคุณภาพให้เป็นที่พอใจของตลาดและสามารถประมูลได้ราคาดีขึ้นอีก โดยเฉพาะมังคุดจะส่งออกไปยังประเทศจีนและฮ่องกงเป็นหลัก เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อปี”

ทางด้าน นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีทองของผลไม้ไทย โดยเฉพาะมังคุด ทุเรียน ส่งผลให้การส่งออกผลไม้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการสูงรวมถึงการขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว โดยจะเน้นส่งออกไปยังประเทศจีน โดยคาดว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทย อาทิ สินค้าทุเรียนสดจะเพิ่มเป็น 25,000 ล้านบาท จากปีที่แล้ว 21,000 ล้านบาท ขณะที่มังคุดคาดว่ามูลค่าจะปรับตัวสูงขึ้น จาก 4,300 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท โดยตลาดหลักยังคงเป็นจีนและฮ่องกง อันจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าปีที่เเล้ว

“แม้ปีนี้ปริมาณผลผลิตผลไม้จะมากกว่าปีที่แล้ว แต่ราคาปีนี้ไม่ได้ตกต่ำลง โดยเฉพาะทุเรียน ปีนี้คาดว่าผลผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 633,540 ตัน มากกว่าปีที่ผ่านมา 30-40% แต่ขณะนี้ราคาทุเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ 60-65 บาท ต่อกิโลกรัม ไม่ได้ตกต่ำอย่างที่หลายฝ่ายกังวลและตั้งข้อสังเกต มีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภค และราคายังสูงขึ้นต่อเนื่องในห้วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งมีปริมาณผลผลิตเท่ากัน แต่ราคาอยู่ที่ 40-50 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะที่มังคุดปีนี้คาดผลผลิต 217,039 ตัน มากกว่าปีที่ผ่านมาราว 2 หมื่นตัน แต่ราคาปีนี้สูงกว่า อยู่ที่ 78 บาท ต่อกิโลกรัม จาก 56 บาท ต่อกิโลกรัม” นางสาวจริยา กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ