ส่องธุรกิจอาหารเพื่อผู้สูงวัย ‘รุกก่อน รวยก่อน’

ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ และอัตราการเกิดที่ลดลง ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ภายในปี 2030 หรืออีกเพียงไม่ถึง 13 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมที่อุดมไปด้วยผู้สูงอายุ” หรือ “Super-Aged Society”

นั่นคือ มีสัดส่วนจำนวนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ราว 10% ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์

แน่นอนว่าโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มผู้สูงอายุกลายเป็นผู้บริโภคที่ทรงอิทธิพลและเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางและความอยู่รอดของภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวได้กลายเป็นทั้ง “โอกาส” และ “ความท้าทาย” สำหรับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร ในการปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อช่วงชิงพื้นที่และตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะเจาะจงของผู้บริโภคกลุ่มนี้

“ญี่ปุ่น” ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ถือเป็นประเทศต้นแบบของนวัตกรรมและสินค้าเพื่อผู้สูงอายุในหลากหลายด้านรวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารด้วย หนึ่งในผู้เล่นซึ่งมองเห็นโอกาสนี้และมีการปรับตัวที่น่าสนใจคือ บริษัท คิวพี ผู้นำด้านการผลิตอาหารเด็กและมายองเนส โดยริเริ่มผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยอาศัยเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในเรื่องการผลิตอาหารเด็กที่มีอยู่เดิมมาต่อยอดเพื่อผลิตอาหารให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งอาหารแบบปรุงสดและผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยาทั่วไป รวมถึงบริการจัดส่งอาหารตามบ้าน (Home Delivery) อีกด้วย

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้คือ มีผิวสัมผัสที่นุ่มนวลสามารถบดเคี้ยวและกลืนได้ง่าย เพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาเรื่องเหงือกและฟัน อีกทั้งยังใช้วัตถุดิบและส่วนผสมผลักที่ทำจากปลาและผัก ซึ่งนอกจากจะเป็นอาหารที่ย่อยง่ายและดีต่อระบบขับถ่ายแล้ว ยังมีรสชาติที่ถูกปากผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่นอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังมีการให้บริการอาหารในโรงพยาบาลและสถานดูแลผู้สูงอายุด้วย ซึ่งจากความสำเร็จอันงดงามดังกล่าวส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารเด็กหลายรายในญี่ปุ่นเริ่มหันมาวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตอาหารสำหรับผู้สูงอายุกันอย่างจริงจังมากขึ้นในปัจจุบัน

เช่นเดียวกับ HiPP บริษัทผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปสำหรับทารกรายใหญ่ที่สุดของโลกสัญชาติเยอรมัน ที่เริ่มเบนเข็มมาจับตลาดผู้สูงอายุมากขึ้น หลังจากต้องเผชิญกับปัญหาอัตราการเกิดในยุโรปที่ลดต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนี สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกไม่ได้เป็นสินค้าดาวรุ่งของบริษัทอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า ราวว 1 ใน 4 ของลูกค้าของบริษัท คือกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุค่อนข้างมาก เนื่องจากกลุ่มนี้มีความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์อาหารทารกที่ข้นหนืด เนื้อเนียน แคลอรีต่ำ สามารถกลืนและย่อยได้ง่าย ทั้งยังสามารถตอบโจทย์เรื่องสารอาหารที่ครบถ้วนและดีต่อสุขภาพได้อีกด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวกลายเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้บริษัทมุ่งความสนใจไปยังกลุ่มผู้สูงอายุและหันมาทำการตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยตรง เพราะมีศักยภาพเติบโตได้อีกมากในอนาคต

แม้แต่บริษัทผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประทาน (Ready Meals) ในสหรัฐ ก็มีการแตกไลน์ธุรกิจใหม่เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุค Baby Boomers เช่นเดียวกัน โดยมีการออกผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานสำหรับผู้สูงอายุขึ้นมาโดยเฉพาะ มีบริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และบริการจัดส่งตามบ้านควบคู่กันไปด้วย โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะถูกปรุงขึ้นจากวัตถุดิบธรรมชาติที่สด ใหม่ มีคุณภาพ และมีการออกแบบสูตรอาหารพิเศษที่เหมาะกับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ อาทิ มีปริมาณโซเดียม น้ำตาล และไขมันต่ำ รวมทั้งยังมีอาหารพร้อมรับประทานสูตรพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคไตอีกด้วย

Advertisement

อย่างไรก็ดี หากกลับมามองตลาดไทยจะพบว่า ในปัจจุบันแทบไม่มีผู้ประกอบการธุรกิจอาหารรายใดที่หันมาจับตลาดกลุ่มผู้สูงอายุอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่เป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความคิดที่ว่าตลาดนี้ยังถือเป็นตลาดที่เล็กอยู่ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับตลาดผู้บริโภครุ่นใหม่และกลุ่มทั่วไป ประกอบกับความเข้าใจที่ยังน้อยอยู่เกี่ยวกับพฤติกรรมหรือความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ เนื่องจากผู้สูงอายุมักไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นหรือสะท้อนความต้องการของตน จนได้ชื่อว่าเป็น “Silence Consumer” บนโลกออนไลน์

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเร่งศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการและโดนใจผู้บริโภคกลุ่มนี้เข้าไปเติมเต็มช่องว่างทางธุรกิจและคว้าโอกาสก้อนโตที่รออยู่ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์และสร้าง Brand Image ที่ชัดเจนควบคู่กันไปด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างภาพจำในใจผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยสร้าง Brand Loyalty ได้อีกด้วย เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้มักไม่ค่อยเปลี่ยน Brand หากมีความพึงพอใจในตัวสินค้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

Advertisement

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่า “บรรจุภัณฑ์” คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าและความสำเร็จของธุรกิจอาหารเพื่อผู้สูงอายุ ดังนั้น การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับข้อจำกัดทางกายภาพและสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเปิด-ปิดได้ง่าย สะดวก ปลอดภัย และน้ำหนักเบา มีปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการในแต่ละมื้อ ซึ่งมักจะรับประทานอาหารในปริมาณที่น้อยลง รวมไปถึงการปรับให้ตัวอักษรบนฉลากมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นและเลือกใช้สีที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุซึ่งมักมีปัญหาด้านสายตา สามารถอ่านได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ ข้อมูลบนฉลากยังต้องระบุถึงข้อมูลด้านโภชนาการอย่างครบถ้วน ชัดเจน และใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ที่สำคัญต้องไม่ระบุบนฉลากว่าเป็น “อาหารสำหรับผู้สูงอายุ” เนื่องจากเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวและอาจจะกระทบกับยอดขายสินค้าได้ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม หากต้องการเอาชนะใจผู้บริโภคกลุ่มนี้อย่างแท้จริง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ