กลุ่มเกษตรกรทำสวน กยท.บ้านช่างทอง พัทลุง รวมกลุ่มผลิตยางพารา ช่วยให้การตลาดเข้มแข็ง

“ในวิกฤตยังมีโอกาส” ประโยคนี้เมื่อได้ยินแล้วทำให้หลายๆ คนที่กำลังเจออุปสรรค หรือปัญหาก็สามารถผ่านพ้นความยากเหล่านั้นไปได้ ไม่ว่าจะด้วยกำลังของตัวเอง หรือความสามัคคีของหมู่คณะก็ตาม อย่างช่วงเมื่อหลายปีที่ผ่านมา อย่างที่ทราบกันดีราคายางพาราของไทยผันผวนเป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรหลายท่านมีการปรับตัวในเรื่องของการทำสวนยางพารามากขึ้น เช่น การลดพื้นที่ปลูกยางพาราต่อไร่ให้มีจำนวนต้นที่น้อยลง เพื่อที่จะมีพื้นที่ว่างปลูกพืชแซมชนิดอื่น เพื่อที่พืชเหล่านั้นจะให้ผลผลิตเป็นการสร้างรายได้ให้อีกหนึ่งช่องทาง รวมไปถึงการทำปศุสัตว์ภายในสวนยาง นอกจากจะได้สัตว์จำหน่ายสร้างเงินแล้ว เมื่อสัตว์ที่เลี้ยงถ่ายมูลออกมาสามารถกลายเป็นปุ๋ยในการบำรุงต้นยางพารา เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการลดต้นทุนการผลิตได้

คุณอุดม จินดา

โดยความรักความสามัคคีในหมู่คณะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องยึดมั่นด้วยเช่นกัน เพราะในบางอุปสรรคการที่ทำอะไรด้วยตัวคนเดียว อาจไม่สามารถที่จะก้าวข้ามปัญหาไปได้อย่างรวดเร็ว เหมือนเช่น “กลุ่มเกษตรกรทำสวน กยท.บ้านช่างทอง” ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงได้รวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อให้การจำหน่ายยางพาราของกลุ่มมีความเข้มแข็งทางการตลาดและสามารถต่อรองในเรื่องของราคาได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงมีสินค้าที่จัดส่งลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

คุณอุดม จินดา เลขาธิการกลุ่มเกษตรกรทำสวนและเป็นกรรมการกลุ่ม ให้ข้อมูลว่า วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมานั้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันของเกษตรกรเพื่อจำหน่ายน้ำยางพาราให้เข้มแข็ง ซึ่งช่วงแรกการรวมกลุ่มเป็นเพียงแค่การรวมกันของเกษตรกรเอง ต่อมาเมื่อกลุ่มเริ่มมีความเข้มแข็งและมีระบบมากขึ้น จึงมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ให้องค์ความรู้และให้ทางกลุ่มจดทะเบียนให้ถูกต้อง คือ หน่วยงานที่สนับสนุน การยางแห่งประเทศไทยจ.พัทลุง สหกรณ์.จ.พัทลุง สำนักงานตรวจบัญชีจ.พัทลุง เพื่อที่อนาคตทางกลุ่มจะได้รับความช่วยเหลือจากช่องทางต่างๆ

“ช่วงแรกเราจัดกลุ่มทำกันเองก่อน เพื่อให้การค้าขายน้ำยางพอที่จะขับเคลื่อนไปได้ เมื่อทางการเขาเล็งเห็นว่า ทางกลุ่มเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว จึงแนะนำให้จดทะเบียนกลุ่มเกษตรกรให้ถูกต้อง ช่วงแรกๆ ปี 2560 เรามีเกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มอยู่ประมาณ 20 คน พอการดำเนินงานประสบผลสำเร็จขึ้น สมาชิกก็มีการสมัครเข้ามาใหม่เรื่อยๆ จนปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 70 กว่าคน โดยการค้าขายของกลุ่ม สามารถผ่านวิกฤตช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำลงไปได้ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางอย่างเช่นสมัยก่อน จึงทำให้เกษตรกรรายอื่นๆ มองเห็น และเกิดความเชื่อมั่นในการเข้ารวมกลุ่ม” คุณอุดม เล่าถึงที่มา

โดยการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อช่วยเหลือสมาชิกนั้น คุณอุดม บอกว่า จะมีระบบแบบแผนในการดำเนินงานที่ชัดเจนในการให้องค์ความรู้กับสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ตลอดไปจนถึงมีนักวิชาการเข้ามาฝึกอบรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับยางพาราให้สมาชิกภายในกลุ่มอยู่เสมอ และที่สำคัญเพื่อให้สมาชิกภายในกลุ่มเท่าทันต่อการปรับตัว ทางกลุ่มได้มีการจัดการศึกษาดูงานจากพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบผลสำเร็จเกี่ยวกับยางพารา จึงช่วยให้สมาชิกมีการปรับตัวและผลิตยางพาราได้มีประสิทธิภาพและมีรายได้เพิ่มขึ้น

สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องการเป็นสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรทำสวน กยท.บ้านช่างทอง เกษตรกรที่สมัครเข้ามาจะต้องมีการถือหุ้น โดย 1 คน จะต้องถือหุ้นอย่างต่ำ 5 หุ้น หุ้นละ 100 บาท เมื่อครบกำหนดของการค้าขายผลผลิตยางพาราแล้ว ในทุกปีทางกลุ่มก็จะมีเงินปันผลให้กับสมาชิกทุกคนตามจำนวนหุ้นที่ถือไว้ จึงทำให้ภายในกลุ่มมีเงินหมุนเวียนและช่วยเหลือสมาชิกที่ต้องการความช่วยเหลือได้ดี

“ช่วงที่ราคายางตกต่ำต้องบอกเลยว่า เกษตรกรจะเจอในเรื่องของการแข่งขันเกี่ยวกับการตลาดเยอะมาก โดยช่วงแรกคนที่ยังไม่ได้เข้ารวมกลุ่ม ก็จะคิดว่าขายเองน่าจะได้ราคาที่ดีกว่า แต่พอระยะยาว การรวมกลุ่มกลับสามารถยั่งยืนและตอบโจทย์การต่อรองทางการตลาดได้ดีกว่า เพราะนอกจากจะขายน้ำยางพาราได้แล้ว เมื่อถึงกำหนดทางสมาชิกยังจะได้เงินปันผลที่ทางกลุ่มมีให้อีกด้วย” คุณอุดม กล่าว

โดยราคาน้ำยางพาราสดที่รับซื้อเข้ามาภายในกลุ่มเรื่องตลาดนั้น มีสำนักตลาดกลางยางพาราจ.สงขลา เข้ามาดูแลเรื่องตลาด ซึ่งราคาในช่วงนี้มีขึ้นมีลงบ้างตามปกติ ขึ้นอยู่กับกลไกตลาด แต่เวลานี้ราคารับซื้อน้ำยางพาราของสมาชิกภายในกลุ่มที่นำมาขาย อยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท เมื่อนำไปจำหน่ายให้กับคู่ค้าที่รับซื้อ การรวมกลุ่มเช่นนี้จึงช่วยให้มีผลผลิตจากยางพาราในปริมาณที่ต่อเนื่อง และสามารถทำตลอด หมุนเวียนได้ตลอด จึงช่วยให้กลไกตลาดสามารถเดินต่อไปได้อย่างไม่มีสะดุด

จากการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งนี้เอง จึงทำให้กลุ่มเกษตรกรทำสวน กยท.บ้านช่างทอง สามารถผ่านวิกฤตในช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำได้ และด้วยความรักความสามัคคีที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกษตรกรรายอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เห็นความสำคัญของการรวมกลุ่ม ได้เริ่มเข้ามาศึกษาและเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มอยู่เป็นระยะ ช่วยให้การทำสวนยางพารามีความมั่นคงทางรายได้ และเกษตรกรสามารถส่งต่อเป็นอาชีพให้กับลูกหลานได้ต่อไป

“พอกลุ่มเรามีความเข้มแข็ง ทุกคนก็จะบอกกันไปปากต่อปาก ถึงข้อดีของการรวมกลุ่ม สิ่งที่สมาชิกเห็นได้ชัดๆ เลย คือเรื่องของรายได้ ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกษตรกรในชุมชนเกิดความสามัคคีกัน เมื่อมีองค์ความรู้อะไรที่ต้องนำมาแจ้งข่าว ทุกคนก็ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้การทำสวนยางและการพัฒนาผลผลิตน้ำยางพาราของกลุ่มได้มาตรฐาน และมีความมั่นคงทางการตลาดตามไปด้วยเช่นกัน” คุณอุดม กล่าว

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการสร้างกลุ่มที่เข้มแข็งและต้องการพูดคุยเกี่ยวกับการผลิตยางพารา สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณอุดม จินดา เลขาธิการกลุ่มเกษตรกรทำสวน กยท.บ้านช่างทอง ตั้งอยู่เลขที่ 216 หมู่ที่ 13 ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง หมายเลขโทรศัพท์ 098-880-7984