ที่มา | เทคโนโลยีปศุสัตว์ |
---|---|
ผู้เขียน | กัลยดา ชุ่มอินทรจักร |
เผยแพร่ |
จังหวัดสตูล นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารทะเลอันอุดมสมบูรณ์แล้ว ก็ยังมีอาหารทางเลือกอีกอย่างที่กำลังมาแรงเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่กลับมาใหม่คือ การเลี้ยงกระต่ายกินเนื้อ
ในช่วงเศรษฐกิจที่ซบเซา หลายอาชีพหยุดชะงัก แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินไป หนุ่มลูก 4 นักเรียนทุนด้านกราฟิกดีไซน์จากประเทศอินโดนีเซีย คุณอับดลรอมาน หลังปูเต๊ะ หรือ บังวัน อยู่บ้านเลขที่ 123 หมู่ที่ 1 บ้านฉลุงใต้ ตำบลฉลุง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ได้ทำอาชีพเพาะเลี้ยงกระต่ายเนื้อเป็นอาชีพเสริม เป็นผู้นำกระต่ายเนื้อกลับมาในประเทศไทยตอนนี้เลยก็ว่าได้ ชื่อว่าฟาร์ม “กระต่ายเนื้อสตูล”
การเลี้ยงกระต่ายเนื้อเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่นี้ ที่กลับมานิยมในปัจจุบัน เพราะธุรกิจต่างๆ มากมายที่หยุดชะงัก แต่คนเราก็ต้องกิน จึงคิดว่าทำเรื่องเกี่ยวกับอาหารการกินก็น่าจะไปได้ดี
สายพันธุ์กระต่ายเนื้อ
“ผมเลี้ยงกระต่ายเนื้อ พันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์ขาวตาแดง พันธุ์แคลิฟอร์เนีย พันธุ์ไจแอนท์ พันธุ์พัฒนาจากคนไทยคือ PL สายพันธุ์เหล่านี้ให้ลูกเยอะ เลี้ยงลูกเก่ง ให้เนื้อเร็ว และพันธุ์เร็กซ์ แต่พันธุ์เร็กซ์เลี้ยงน้อยกว่าพันธุ์อื่น เพราะว่าใช้ระยะเวลานาน คือ 6 เดือนขึ้นไป ให้เนื้ออร่อยที่สุดแต่ไม่คุ้มกับการลงทุนจึงไม่เป็นที่นิยมนำมาเลี้ยง แต่พันธุ์อื่นที่กล่าวมานั้นก็ถือว่าดี ระยะเวลาในการเลี้ยงไม่เกิน 4 เดือนก็ชำแหละได้แล้ว
ส่วนกระต่ายพันธุ์พื้นเมืองบ้านเรา ไม่นิยมนำมาเพาะเลี้ยงเป็นกระต่ายเนื้อ เพราะว่าโครงสร้างเล็ก เนื้อน้อย ขนฟู ตัวบาง ระยะเวลาการเลี้ยงต้อง 7 เดือนขึ้นไป ทำให้ไม่คุ้มกับการลงทุน”
“ช่วงชีวิตหนึ่งผมก็ทำหลายอาชีพ ทำกราฟิกดีไซน์ ทำป้าย เจอพิษเศรษฐกิจและภาษีย้อนหลัง ก็พับไป ต่อมาก็ทำอาชีพไกด์สำหรับชาวมาเลย์และชาวอินโดนีเซีย โควิด-19 ระบาดอีก ผมนึกถึงการเลี้ยงกระต่ายขึ้นมา เพราะตอนไปเรียนที่อินโดนีเซียและไปฟิลิปปินส์มา ผู้คนที่นั่นก็ชอบกินเนื้อกระต่ายกัน ตามตลาดนัดก็มีเนื้อกระต่ายขายด้วย ผมจึงคิดว่าเลี้ยงจนครบวงจรน่าจะดี จึงเริ่มต้นทดลองเลี้ยงเอง ชำแหละเนื้อและแปรรูปเป็นอาหารพร้อมกิน จนเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว” คุณอับดลรอมาน กล่าว
นอกจากมีแนวคิดเลี้ยงกระต่ายครบวงจรแล้ว ยังมีฝีมือในการปรุงอาหารจากกระต่ายอีกด้วย ที่ขายดีตอนนี้มีคำสั่งซื้อมากที่สุดคือ กระต่ายอบน้ำผึ้ง มีรายการจองยาวเลย
จากประสบการณ์ที่เคยอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย เห็นชาวบ้านทั่วไปหรือตามตลาดท้องถิ่นจะมีเนื้อกระต่ายขาย เป็นเรื่องปกติ และคนก็นิยมกิน ตนเองได้ลองชิมก็รสชาติดี อร่อย จึงนำเอาประสบการณ์จากตรงนั้นมาต่อยอดพัฒนาการเลี้ยงที่บ้านเรา แต่เดิมที่เมืองไทยบ้านเราก็เคยมีเพาะเลี้ยงเนื้อกระต่ายมาก่อนแต่ก็ตลาดไม่ค่อยกว้างเท่าไหร่นัก แต่จะนิยมเพาะพันธุ์กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงามมากกว่า
คุณอับดลรอมาน กล่าวต่อว่า ส่วนตัวตนเองชอบกินเนื้อกระต่าย เมื่อครั้งเรียนที่ประเทศอินโดนีเซียก็ชอบกินอาหารจากเนื้อกระต่าย นอกจากเป็นสัตว์ที่มีโภชนาการค่อนข้างสูง เนื้อสัมผัสที่แน่นอร่อย จึงมองว่าน่าจะนำมาเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ อีกหนึ่งทางเลือกที่ทำแบบครบวงจร ซึ่งคนไทยไม่ค่อยทำกัน ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงวิกฤตที่หลายคนประสบปัญหาเรื่องการทำมาหากินและการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ซึ่งตนเองทำอาชีพเขียนโปสเตอร์ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
จึงทดลองเลี้ยงกระต่ายและนำเนื้อกระต่ายที่เลี้ยงมาชำแหละขายเป็นเนื้อกระต่ายสดและแปรรูปเป็นอาหารพร้อมกินขาย ซึ่งเมนูที่ทำจากเนื้อกระต่ายมีมากมาย เช่น กระต่ายอบสมุนไพรน้ำผึ้ง สะเต๊ะกระต่าย แกงมัสมั่นกินกับโรตี เป็นต้น ลูกค้าส่วนใหญ่จาก 3 จังหวัดทางภาคใต้เยอะ และทั่วประเทศมีคำสั่งซื้อทั้งแปรรูปและพ่อแม่พันธุ์ การขนส่งปัจจุบันนี้รวดเร็ว การแข่งขันสูง เป็นเรื่องดีสำหรับอาชีพขายทางออนไลน์
การเลี้ยงกระต่ายของผม เริ่มจากพ่อแม่พันธุ์ไม่กี่ตัวนำเข้ามาจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย และก็นำมาขยายพันธุ์ โดยเริ่มซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กระต่าย 3-4 สายพันธุ์ซึ่งเป็นลูกผสมพันธุ์เนื้อ เช่น นิวซีแลนด์ไวท์ ไจแอนท์ แคลิฟอร์เนีย และสายพันธุ์ที่ภูมิใจนำเสนอคือ PL สายพันธุ์ไทย พัฒนาโดยคนไทยที่กำลังจะมาแทนที่กระต่ายสายพันธุ์อื่นในฟาร์ม เพราะผมทดลองเลี้ยงแล้วค่อนข้างจะได้ผลดี ตัวใหญ่ แปลงเป็นเนื้อแดงดี รสชาติของเนื้อจะแน่น ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น
เนื่องจากกระต่ายสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและคลอดลูกออกมาแต่ละครั้งหลายตัว จากเริ่มต้นเลี้ยงซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ตอนซื้อมีอายุแค่ 3 เดือน ตัวละ 2,000 บาท จนกระทั่งปัจจุบันที่ฟาร์มเลี้ยงกระต่ายดังกล่าว ชื่อฟาร์ม “กระต่ายเนื้อสตูล” สามารถขยายพันธุ์จนมีกระต่ายเนื้อ 100 กว่าตัว โดยฟาร์ม “กระต่ายเนื้อสตูล” ของผม ได้ผลตอบรับดีมาก ซึ่งทำให้มีกำลังใจที่จะพัฒนาการเลี้ยงและการค้าต่อไป
ระยะเวลาเลี้ยง
ระยะการเลี้ยงไม่เกิน 4 เดือน วงจรชีวิตกระต่ายนั้นสั้น ถ้าเกิน 4 เดือนไปแล้วรสชาติเนื้อจะไม่อร่อยและเหนียวได้ ถือว่าเป็นกระต่ายแก่ไปเลย
สำหรับการเลี้ยงกระต่ายพันธุ์เนื้อตั้งแต่คลอดลูกมาใหม่ๆ จนกระทั่งถึงเวลานำเนื้อมากินใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ซึ่งกระต่ายมีน้ำหนักประมาณ 2-2.50 กิโลกรัม ค่าใช้จ่ายค่าอาหารตกตัวละ 1.60 บาทต่อวัน ในแต่ละปีกระต่ายจะคลอดลูกประมาณ 6-8 ครั้ง ครั้งละ 4-14 ตัว นอกจากจะจำหน่ายกระต่ายเนื้อแล้ว ทางฟาร์มยังจำหน่ายกระต่ายสวยงามด้วย
โรงเรือนกรงกระต่าย
ส่วนสำคัญที่สุดของโรงเลี้ยงกระต่ายคือกรง เพื่อความสะดวกในการใช้งาน กรงเลี้ยงกระต่ายควรทำเป็นแบบเดียวกัน ใช้เลี้ยงได้ทั้งแม่กระต่าย กระต่ายรุ่น และกระต่ายขุน ขนาดของกรงมาตรฐานควรเป็นกรงกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 90 เซนติเมตร มีประตูกว้างยาว 30 เซนติเมตร อยู่ทางด้านยาวซึ่งเป็นด้านหน้า ความสูงของกรงต้องแล้วแต่จะตั้งเรียงชั้นเดียวหรือ 2 ชั้น กรงชั้นเดียวสูง 60 เซนติเมตรก็พอ ถ้าเป็นกรง 2 ชั้นควรลดความสูงเป็น 50 เซนติเมตร และจะต้องเว้นช่องสำหรับวางถาดรองรับมูลระหว่างกรงชั้นบนกับกรงชั้นล่าง แต่ก็เน้นเรื่องอากาศถ่ายเทเพื่อป้องกันโรคระบาดด้วย ส่วนของหลังคาใช้จากมุงเพราะเย็นสบาย ไม่มีผนังแต่เปิดโล่งให้ลมผ่านตลอด เหมาะสำหรับอากาศร้อนอย่างบ้านเรา
อาหารกระต่าย
โดยทั่วไปกระต่ายจะกินหญ้า พืชผัก ผลไม้เป็นอาหาร ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ากระต่ายกินผักและผลไม้ได้ทุกชนิด แต่ความเป็นจริงพืชผักหลายชนิดไม่เหมาะสำหรับนำมาเลี้ยงกระต่าย เช่น ผักบุ้ง กระถินเพราะในกระถินจะมีสารที่เป็นพิษต่อกระต่ายจะทำให้กระต่ายขนร่วงทั้งตัวในบางราย ส่วนอาหารที่นิยมนำมาเลี้ยงกระต่ายมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ อาหารหยาบ อาหารข้น และอาหารสำเร็จรูป
อาหารที่เหมาะสำหรับเลี้ยงกระต่าย
ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหญ้า แต่พืชที่มียางไม่แนะนำให้กิน เช่น ผักบุ้ง อย่างแครอตก็ต้องเลือกและล้างทำความสะอาดอย่างดี เพื่อป้องกันสารตกค้างในผัก
- อาหารเม็ดหรืออาหารสำเร็จรูป วิธีให้อาหารเม็ดที่ถูกต้องควรให้เช้าเย็น หรือเลือกให้เฉพาะช่วงเย็นเวลาเดียว ในปริมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะต่อวัน
2. หญ้าสดประเภทหญ้าขนหรือหญ้าแห้ง ควรให้กระต่ายกินได้ทั้งวันเพื่อช่วยให้ระบบย่อยของกระต่ายทำงานดีขึ้น จากการได้รับไฟเบอร์ ซึ่งนอกจากช่วยรักษาสมดุลของระบบย่อยอาหารยังทำให้ระบบขับถ่ายของกระต่ายดีขึ้นด้วย
3. ควรเสริมโปรตีนให้กับกระต่าย ด้วยการให้กินพืชตระกูลถั่วอัลฟาฟ่าประมาณ 1 กำมือ วันละ 1-2 ครั้ง
4. ลูกกระต่ายที่เริ่มหย่านมจนถึง 6 เดือน ควรได้รับโปรตีนจากพืชตระกูลถั่วเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
5. ให้น้ำสะอาดกับกระต่ายอย่างเพียงพอ
อาหารที่ควรควบคุมปริมาณการกิน
กระต่ายเป็นสัตว์กินพืช ระบบย่อยจึงย่อยเนื้อไม่ได้ ต้องระวังอาหารเม็ดที่มีส่วนผสมของปลาหรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ควรหลีกเลี่ยงเพราะทำให้กระต่ายท้องอืดตายได้
กระถินและผักที่มียาง เช่น กระถิน ควรหลีกเลี่ยงเพราะกระถินมีสารบางอย่างที่เป็นพิษต่อกระต่ายอาจจะทำให้ขนกระต่ายร่วงได้ ส่วนผักที่มียาง เช่น ผักบุ้ง ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน การให้อาหารเม็ดต้องควบคุมปริมาณป้องกันกระต่ายเป็นโรคอ้วน
การเลี้ยงกระต่ายให้มีสุขภาพแข็งแรงมีอายุยืนยาว นอกจากการให้อาหารที่มีประโยชน์แล้วควรหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทและเลือกให้อาหารที่เหมาะสมเพื่อช่วยปรับสมดุลทำให้ระบบย่อยอาหารของกระต่ายทำงานได้ดีขึ้น
การเลี้ยงกระต่ายแต่ละพื้นที่อาจจะมีข้อยกเว้นที่แตกต่างกันไป เป็นการศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของแต่ละพื้นที่ เพราะสิ่งแวดล้อม อากาศก็แตกต่างกันไป โดยเฉพาะเรื่องการให้น้ำและให้อาหาร เป็นต้น
คิดอย่างไรว่า กระต่ายน่ารักไม่ควรกิน
“ผมมองว่ามันเป็นอาหารเลี้ยงโลก คล้ายๆ การเลี้ยงไก่ บ้างก็เลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงก็มี และส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารหลัก แต่เท่าที่ตลาดกระต่ายของผมไม่พอขาย แสดงว่าผู้คนก็ต้องการที่จะกินและทำเป็นอาชีพเสริมกันทั้งนั้น และข้อสำคัญคือไม่ต้องใช้เนื้อที่มาก ก็เปิดเลี้ยงแบบกรงไก่ก็ได้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อที่น้อย ระยะเวลาการเลี้ยงก็ 3-4 เดือนเท่านั้น”
เมื่อถามถึงกระแสดราม่า กินเนื้อกระต่ายในโซเชียล เจ้าของฟาร์มบอกว่า เป็นเรื่องปกติสำหรับคนไม่เคยกินก็ขอให้เปิดใจลองดู เพราะเชื่อว่าทุกสิ่งที่สร้างมาไม่ได้สร้างให้ไร้ประโยชน์ คุณค่าโภชนาการดีกว่าไก่และสัตว์ที่เป็นอาหารหลายชนิด เป็นยารักษาโรค สำหรับโรงพยาบาลในต่างประเทศใช้เมนูจากกระต่ายดูแลโรคความดันโลหิต โรคเกาต์ สรรพคุณมีเยอะมาก เป็นได้ทั้งอาหารและยา คนไม่กินก็ไม่กิน แต่คนที่กินต้องเปิดใจ ไม่ควรไปต่อว่า
ผู้บริโภคส่วนใหญ่ พบว่าอยากจะกินแต่ไม่กล้าชำแหละ ทางฟาร์มจึงมีการแปรรูปจำหน่ายทุกชิ้นส่วน กิโลกรัมละ 350 บาท หรือพร้อมปรุง โดยจำหน่ายเป็นชุด ชุดละ 599 บาท กินได้ทั้งครอบครัว เมนูกระต่ายอบสมุนไพรน้ำผึ้ง สะเต๊ะกระต่าย แกงมัสมั่นกินกับโรตี โดยกระต่ายเนื้อ 1 ตัวจะจำหน่ายได้ต้องมีน้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป ความนิยมของตลาดตอนนี้ ผลิตไม่พอกับความต้องการของตลาด เพราะเป็นอาหารของคนรักสุขภาพ มีโปรตีนสูง
เชื่อว่าเลี้ยงกระต่ายเนื้อเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกตัวใหม่ในช่วงโควิด-19 เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนและไขมันต่ำ เนื้อแน่น รสชาติดี นำไปประกอบอาหารเนื้อกระต่ายช่วยชูรสอาหารอีกด้วย อีกทั้งการเลี้ยงที่ง่ายและขยายพันธุ์เร็ว เหมาะกับในยุคภาวะเศรษฐกิจนี้อย่างยิ่ง
สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฟาร์มกระต่ายเนื้อสตูล โทร. 097-242-8443 คุณอับดลรอมาน หลังปูเต๊ะ อยู่บ้านเลขที่ 123 หมู่ที่ 1 บ้านฉลุงใต้ ตำบลฉลุง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
………….
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ.2565