ข้าวหลามดง ไม้เท้านักรบ พบมนต์เสน่ห์เยื่อไผ่ แห่ง “ดงข้าวหลาม”

ชื่อวิทยาศาสตร์ Goniothalamus laoticus Craib

ชื่อวงศ์ ANNONACEAE

ชื่ออื่นๆ ตูกะไซดีนาอาลี (มุสลิม) ปอขี้แฮด (เชียงใหม่) จำปีหิน (ชุมพร) นมงัว (ปราจีนบุรี)

ผมหลงเสน่ห์กลิ่นอายทะเล หาดทราย สายลม หากกรุงเทพฯ เป็นจุดเริ่มต้น จุดที่ใกล้คงจะเป็น บางแสน พัทยา ชะอำ หัวหิน สงกรานต์นี้ชายหาดบางแสนคึกคัก เพราะสามารถใช้ทางด่วนลอยฟ้า บางนา-ชลบุรี หรือมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 และไม่น้อยกว่าครึ่งของผู้ไปเยือนบางแสนต้องแวะ “ตลาดหนองมน” ตำนานแห่ง “ดงข้าวหลาม” หอมกลิ่นข้าวเหนียวหน้ากะทิหุ้มเยื่อไผ่ในกระบอกไม้ไผ่ถูกเผา จนลืมกลิ่นไอคละคลุ้งแห่งทะเล “ข้าวหลามหนองมน” จึงเกี่ยวข้องกับตัวผมโดยตรง

มีคนถามว่าชื่อ “ข้าวหลามดง” ของผมเกี่ยวอะไรกับ “ดงข้าวหลาม” แห่งตลาดหนองมน เรื่องนี้ผมถามบรรพบุรุษแล้ว ชื่อผมนี้มาจากกลิ่นของลำต้น กิ่ง เมื่อถูกไฟไหม้หรือถูกเผาจะมีกลิ่นไหม้คล้ายๆ กลิ่นกระบอกข้าวหลามที่เผาสุกใหม่ๆ ส่วนคำว่า “ดง” นั้น เพื่อระบุว่าเป็นต้นไม้ที่อยู่ใน “ป่าดงพงไพร” มาต่อท้ายให้ต่างจากญาติสกุลเดียวกัน ชื่อ “ต้นข้าวหลาม” ชื่อผมจึงแปลกดีเมื่อต่อท้ายด้วย “ดง” และสอดคล้องกับการหุงข้าวแบบโบราณ ที่ต้องรินน้ำข้าวทิ้งเมื่อเดือด แล้วอุ่นไฟอ่อนๆ ให้ข้าวสุก วิธีนี้เรียกว่า “ดงข้าว” เหมือนหุงข้าวหลาม

พูดถึงข้าวหลาม ก็ขอยกเรื่องข้าวหลามหนองมน มานินทาแบบชื่นชมว่า มนต์เสน่ห์ของข้าวหลามนั้น ผู้คนสัมผัสทั้งชื่อและรสชาติ ยอมรับว่าเป็นของเรียกหาและของฝาก เป็นเสน่ห์แห่งสินค้าท้องถิ่น เปรียบสัญลักษณ์ GI ข้าว ผลไม้ หรือไวน์ เดิมทีพื้นที่หนองมนทำนา เมื่อหมดหน้านาก็ทำข้าวหลามเป็นของว่าง ของหวานกิน หรือนำข้าวเหนียวไปแลกน้ำตาลหรือมะพร้าวกับหมู่บ้านอื่น ส่วนไม้ไผ่ก็หาตัดกันทั่วไป เมื่อมีงานประจำปีก็ขายข้าวหลามคู่อ้อยควั่น ถั่วคั่ว ต่อมามีการตัดถนนสุขุมวิทสายเก่า ผู้คนแวะเวียนเที่ยวชายทะเลบางแสนมากขึ้น จึงมีการขยายแผงขายเรียงราย คนแวะซื้อกลับบ้าน เริ่มพัฒนาสูตรใส่ไส้หลากหลาย กระทั่งมีการสร้างสนามบินอู่ตะเภา ชาวต่างชาติเต็มพัทยา คนผ่านเส้นทางนี้มากขึ้น กลายเป็นเส้นทาง “ต้องแวะ” ขยายตัวทั้งสูตรไส้ และวิธีการเผาเดิม จากบนดินแบบเผาฟืนและพัฒนาแบบเตาเผาแก๊ส ขยายตลาดรายทาง แผงทางแยก ตลาดนัด รวมทั้งตลาดใหญ่ ที่เป็นตัวแทนท้องที่ตลาดหนองมน ก็คือจุดพักรถมอเตอร์เวย์ไปพัทยา (ขาเข้า-ขาออก) ใกล้บางปะกง

อย่างไรก็ตาม ข้าวหลามตลาดหนองมน หรือส่งขายตลาดชุมชนอื่นๆ ก็รับมาจากแหล่งเผาในท้องถิ่น แต่หน้าร้านขายจะตอบว่า “เผาเอง” เกือบทุกร้าน ไม้ไผ่ข้าวหลาม ก็ใช้ทั้งไม้ไผ่ป่า ไผ่สีสุก ปัจจุบันหายากขึ้น มีการสั่งไม้ไผ่จากกาญจนบุรี จันทบุรี และกัมพูชา แม้ว่าจะพัฒนาภาชนะหุงข้าวหลาม เช่น ถ้วยคัพเค้ก ได้รสชาติข้าวเหนียวกะทิ แต่ขาดเอกลักษณ์เสน่ห์แห่ง “เยื่อไผ่” จึงได้พัฒนาขนาด เป็น “ข้าวหลามช็อต” คือกระบอกสั้นๆ ที่เหลือตัดจากปล้องไม้ไผ่ข้าวหลามทั่วไป เมื่อเหลือเศษก็นำมาทำข้าวหลามกระบอกสั้น เป็นสีสันอีกแบบ แถม “ไม้พาย” เล็กๆ ตักกินได้เลย จะเห็นว่ามีข้าวหลาม “แม่” ต่างๆ หลายชื่อ ดูคล้ายๆ แม่ต่างๆ ที่ขายขนมหม้อแกงเมืองเพชร ปัจจุบัน ใส่ไส้สารพัดชนิด ใส่กลิ่นข้าวญี่ปุ่นผสม ใส่กลิ่นหอมชาเขียว สงกรานต์ปีนี้ ผมว่าอาจจะได้ชิม “ข้าวหลามกลิ่นกัญชา” กันบ้างหรือเปล่า

ผมหลงเสน่ห์เยื่อไผ่ข้าวหลามจนลืมเล่าเรื่องของตัวเอง “ข้าวหลามดง” ไงครับ เผากิ่งเผาต้นเมื่อไรก็คิดว่าผมเป็นข้าวหลาม ตัวผมเป็นไม้พุ่ม สูง 4-8 เมตร ยืนต้นโชว์เรือนยอดพุ่มโปร่ง เปลือกหนาสีเทาอมดำ ผมเป็นพืช GI เฉพาะถิ่นไทย ลาว เวียดนาม แต่ขยายพันธุ์ยาก โตช้า จึงนำมาปลูกเป็นไม้ประดับยืนต้น กลายเป็นไม้หายาก ชนิดใบเดี่ยวเรียงสลับผิวเรียบเป็นมันสีเขียวเข้มก้านใบยาว ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม ดอกทยอยบานนานเป็นเดือน ถ้าออกเป็นกระจุก 2-5 ดอก ตามลำต้นกิ่งและง่ามใบ ก้านดอกยาว กลีบดอกยาวสีเหลืองนวลถึงสีชมพู ส่งกลิ่นหอมโชยใกล้ค่ำ หอมกลิ่นคล้ายเหล้าสาโทผสมข้าวหมาก หอมแรงเมื่อดอกสุกเปลี่ยนสีและใกล้โรย ทั้งสีเหลือง สีส้มแดงชมพู ผลสีเขียวอมเหลือง เป็นกลุ่ม 6-12 ผล รูปรีหรือทรงกระบอก เมล็ดมีวุ้น เพาะขยายพันธุ์ได้ใช้เวลา 2-3 เดือน เพราะเปลือกเมล็ดแข็ง ทาบกิ่งได้ดีกว่า การตอนออกรากยาก ต้นพันธุ์จึงราคาแพง

ผมเบื่อตัวเองที่เพาะขยายพันธุ์ยาก โตช้า จึงเหมือนถูก “โลกลืม” แต่ภูมิใจที่ออกดอกแล้วทุกคนจะหลงใหลเพราะดอกเต็มต้นสวยงามมาก แต่คุณค่ามากกว่านั้นคือสรรพคุณ มีการศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่า มีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย เชื้อวัณโรค และเซลล์มะเร็ง ลำต้นผ่าซีกแล้วต้มให้สตรีอยู่ไฟดื่ม รักษามดลูกและเรียกน้ำนมได้ดี เป็นยาบำรุงขับเหงื่อ เป็น “ยาดีที่สตรีต้องใช้” สิ่งที่ผมภาคภูมิใจอีกคือ ผมได้รับการเทียบเป็น “ไม้เท้าของนักรบ” ถูกจัดเป็นพืชสมุนไพรเด่นของชาวมุสลิม คือ คำว่า ตูกะ หมายถึงไม้เท้า “ตูกะไซดีนาอาลี” เป็นไม้เท้าของท่านไซดีอานาลี ซึ่งเป็นนักรบที่เก่งกล้า มีพละกำลังปกป้องท่านศาสดา หมอยาพื้นบ้าน ผู้เฒ่าต้มกินเป็นยาบำรุง รากต้มดื่มต่างน้ำ หรือบดใส่แคปซูลกินแก้ปวดเมื่อย แก้ซาง โบราณนิยมนำต้มรวมกับสมุนไพรพื้นบ้านอื่นๆ ช่วยฟื้นฟูร่างกายคนเบื่ออาหาร น้ำลายแห้ง ให้มีชีวิตชีวาเป็นยาดีมีกำลังทั้งชายหญิง

สงกรานต์นานปีมาแล้วมี “ถนนข้าวหลาม” เป็นที่เล่นน้ำของวัยรุ่น “ชายหญิงเมืองชล” ปัจจุบัน เส้นนี้พัฒนาเป็นถนนเลี่ยงเมือง ความยาว 4 กิโลเมตร เชื่อมทางหลวงหมายเลข 7 ถึงหาดบางแสนเพื่อเลี่ยงจราจรตลาดหนองมน แต่มีทางแยกจุดตัดหากจะสัมผัสบรรยากาศ “ดงข้าวหลามหนองมน” ก็เลี้ยวแยกได้ แต่ถ้าต้องการสัมผัสรสชาติน้ำต้ม “ข้าวหลามดง” ก็สอบถามจาก “สมุนไพรอภัยภูเบศร” ว่า สั่งซื้อวิธีไหนดี

เพราะมีผู้เฒ่าท่านหนึ่งยืนยันว่า “ข้าวหลามดง” ดีกับผู้หญิงมาก ต้มดื่มแล้วคุยกันว่า “กินยานี้แล้วคนถึกสิแก้มแดง กินแล้วอยากไปนอนนำผัว” ผมว่าผมต้องดังกว่าข้าวหลามหนองมนแน่ๆ ครับ…!

………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2565