สถาปัตย์ มทร.ศรีวิชัย ผุดไอเดีย นวัตกรรมใหม่ การย้อมผ้าครามน้ำทะเล ภายใต้แนวคิดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผ้าครามน้ำทะเล หนึ่งในนวัตกรรมการย้อมผ้า ที่นักวิจัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย ได้นำน้ำทะเลมาเป็นส่วนผสม และนำสีธรรมชาติจากต้นครามมาสร้างสรรค์ให้กลมกลืนกับบรรยากาศชายทะเล ภายใต้แนวคิดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อาจารย์ณัฐชนา นวลยัง (นักวิจัย) อาจารย์ประจำหลักสูตรวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ สาขาศิลปกรรมและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้ค้นพบว่าต้นคราม ธรรมชาติในแถบพื้นที่จังหวัดสงขลา จนถึงแถบจังหวัดปัตตานี ได้นำมาทำครามย้อมผ้า เมื่อเราได้ผ้าครามออกมาก็สามารถมาทำผลิตภัณฑ์ แฟชั่นไลท์สไตล์ เช่น หมวก กระเป๋า เป็นต้น สร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป โดยมีกรรมวิธีในการผลิตเริ่มจากการเก็บใบจากต้นครามที่มีอายุประมาณ 3-4 เดือน หรือ 90 วัน หลังจากนั้นนำมาหมักกับน้ำทะเล ทำการโจกเนื้อครามเพื่อแยกส่วนผสมที่สำคัญ หลังจากนั้นนำเนื้อครามไปย้อมผ้าตามลวดลายต่างๆ ที่ผู้วิจัย ออกแบบและสร้างสรรค์ไว้

อาจารย์นภท์ชนก ขวัญสง่า (นักวิจัย) อาจารย์ประจำหลักสูตรวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ สาขาศิลปกรรมและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวว่า เอกลักษณของผ้าครามน้ำทะเล มีความใส ได้สีพาสเทลที่สวยงาม จุดเด่นและคุณสมบัติพิเศษของผ้าครามน้ำทะเลได้ความเค็มของน้ำทะเล แทนความเค็มของเกลือแกง เพราะมีวัสดุเปลือกหอยและแร่ธาตุ แคลเซียม ต่างๆ เข้ามาด้วยของน้ำทะเล ทำให้สีของผ้ามีความคงทนยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากการใช้สีครามจากธรรมชาติในการย้อมผ้าแล้ว ยังสามารถนำสีไปใช้ในการวาดภาพในงานสถาปัตยกรรมต่างๆ อีกทั้งชุมชนยังนำผ้าครามน้ำทะเล ไปบูรณาการกับผ้าทอเดิมที่ทำอยู่ ช่วยสร้างมูลค่าและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น

นางสาวจงกลนี สุวรรณพรรค กลุ่มทอผ้าร่มไทร (ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์) กล่าวว่า การใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า แทนสีเคมี ทำให้ผ้ามีคุณค่ามากขึ้น และสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเพิ่มมากขึ้น

จุดเด่นของผ้าครามภาคใต้ หนึ่งในงานสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่นำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาผสมผสานเกิดเป็นสีสันที่มีคงทน และสวยงาม ต่อยอดไปสู่การพัฒนา นำไปทำผลิตภัณฑ์และสร้างลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ผ้าทอของจังหวัดสงขลาต่อไป