พาไปชมงานมหกรรมกล้วยไม้เอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 12 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ลูกผสมกล้วยไม้ดิน กลุ่มนางอั้ว รูปทรงสวยงามแปลกตา

กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้เป็นเจ้าภาพ จัดงานประชุมสัมมนาวิชาการกล้วยไม้เอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 12 หรือ Apoc 12 จัดขึ้น ณ ฮอลล์ 9 อิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

งานครั้งนี้แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วน คือ งานประชุมวิชาการ ในโอกาสนี้ ขออนุญาตนำผลงานของกรมวิชาการเกษตรมาเรียนให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ

  1. การปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ เน้นการปรับปรุงกล้วยไม้สกุลหวาย ให้มีขนาดเล็ก ดอกสีสด เหมาะเป็นต้นแบบสำหรับทำพ็อตแพลนท์ให้กับภาคเอกชน

    กลีบดอกกล้วยไม้เพชรหึง ที่มีจุดประสีน้ำตาลขนาดใหญ่
    กลีบดอกกล้วยไม้เพชรหึง ที่มีจุดประสีน้ำตาลขนาดใหญ่
  2. 2. การจำแนกกล้วยไม้เพชรหึง หรือ กล้วยไม้หางช้าง ที่เป็นกล้วยไม้ขนาดใหญ่ที่สุด แหล่งรวบรวมพันธุ์อยู่ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ปัจจุบัน จำแนกได้ 15 กลุ่ม แบ่งตามสีของกลีบดอก มีสีเหลือง เหลืองอมเขียว และเหลืองอมแดง แบ่งตามสีของจุดประที่กลีบดอก มีสีน้ำตาล น้ำตาลม่วง และน้ำตาลดำ และ แบ่งตามขนาดของจุดประ มีจุดประขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ตามลำดับ

    กลีบดอกกล้วยไม้เพชรหึง ที่มีจุดประสีน้ำตาลขนาดใหญ่
    กลีบดอกกล้วยไม้เพชรหึง ที่มีจุดประสีน้ำตาลขนาดใหญ่
  3. การปรับปรุงกล้วยไม้ดินใบหมากพันธุ์แท้ ซึ่งเป็นกล้วยไม้ท้องถิ่นของไทย พบได้ทุกภูมิภาคของประเทศ มีทั้งชนิดดอกสีเหลืองนวล และดอกสีม่วง เติบโตได้ดีตามที่โล่งแจ้ง บนที่สูงเกิน 400 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ปัจจุบัน กำลังเป็นที่นิยมของตลาดต่างประเทศ เพื่อนำไปปลูกเป็นไม้กระถาง ประดับไว้ในอาคารที่อยู่อาศัย หรือในย่านธุรกิจ ระยะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกลูกผสม เพื่อหารูปทรง ขนาด และสีสันของดอก ที่โดดเด่นกว่าพันธุ์ท้องถิ่น

  1. การออกแบบโรงเรือนเพาะเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารี พบว่า โรงเรือนที่ดีที่สุด เป็นชนิดหลังคาโค้ง 2 ชั้น เหลื่อมกัน ขนาด 6×12 เมตร เสา ทำจากเหล็กกลม เคลือบสังกะสี ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 นิ้ว สูงจากพื้นโรงเรือน 2.5 เมตร ส่วนโค้งบนสุด สูงจากหลังคา 1.50 เมตร มุงด้วยพลาสติกกันแสง ยูวี ขนาด 150 ไมครอน รองรับด้วยซาแรนสีดำ ที่เลื่อนเปิด-ปิด รับแสงได้ตามความต้องการ ล้อมด้านข้างทั้ง 4 ด้วยซาแรนชนิดเดียวกัน ให้ชายด้านล่างสูงจากพื้นโรงเรือน 1 เมตร ข้อดีของโรงเรือนชนิดนี้ คือ มีราคาค่าก่อสร้างถูกกว่าแบบหน้าจั่ว 2 ชั้น อีกทั้งสามารถระบายอากาศได้ดีกว่า อุณหภูมิภายในจึงต่ำกว่าภายนอก
  2. เทคนิคการเพาะเมล็ดกล้วยไม้รองเท้านารี ที่มีต้นทุนต่ำ เนื่องจากเมล็ดกล้วยไม้รองเท้านารีมีขนาดเล็กมาก อีกทั้งยังไม่มีอาหารสำรองในเมล็ด หรือที่เรียกว่า เอนโดสเปิร์ม ทำให้ในสภาพธรรมชาติ อัตราการงอกต่ำมาก หรือแม้จะงอกได้ก็ตาม แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ขึ้นไป แต่งานวิจัยพบว่า เมื่อนำเมล็ดกล้วยไม้รองเท้านารีไปเพาะลงที่วัสดุปลูกในกระถางกล้วยไม้ดินใบหมาก เมล็ดจะงอกภายในเวลาเพียง 4 เดือน เท่านั้น จึงต้องมีงานวิจัยต่อเนื่องเพื่อพิสูจน์ว่า เพราะเหตุใด และมีปัจจัยอันใดที่ช่วยสนับสนุนให้เมล็ดกล้วยไม้รองเท้านารีงอกได้ดี และเร็วขึ้น อนาคตอีกไม่นานคงจะมีคำตอบ
  3. การรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้พื้นบ้าน หรือพื้นเมืองของไทย วัตถุประสงค์เพื่อนำพันธุกรรมที่ดีของแต่ละพันธุ์ เช่น ความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แปรปรวน ทนโรค และมีความสวยงาม นำมาเก็บรวบรวมไว้ใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต มีการเก็บรวบรวมอย่างถูกวิธี จากจังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ ตาก เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี จันทบุรี ชุมพร และยะลา ทั้งหมดสามารถจำแนกได้ 16 สกุล มี ท้าวคูลู สิงห์โตกลอกตา เอื้องต้นน้ำ สิงห์โตร่ม ซิมบิเดียม ม้าวิ่ง ว่านอึ่ง ว่านจูงนาง แกรมมาโตฟิลลัม ลิ้นมังกร รองเท้านารี นางอั้ว เอื้องพร้าว แมลงปอ สปาโตคลอสติส และแวนด้า
  4. มารู้จัก อนุสัญญาไซเตส (TheConvention on International Trade in Endangered Species of Wild Fuana and Flora : (ITES) มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการค้าระหว่างประเทศ และชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ที่อยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ โดยมุ่งเน้นให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อคงไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งนี้ กล้วยไม้หลายชนิดจัดอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จึงขึ้นบัญชีไว้ 2 บัญชี คือ

บัญชีที่ 1 กล้วยไม้ที่ห้ามทำการค้า ที่ได้มาจากป่าธรรมชาติ เช่น กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ รองเท้านารีคางกบ และ เอื้องปากนกแก้ว สำหรับ บัญชีที่ 2 เป็นกล้วยไม้ที่ได้จากป่า สามารถทำการค้าได้ แต่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น เอื้องชะนี เข็มแสด และเอื้องเงิน เป็นตัวอย่าง

  1. การจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นการให้สิทธิแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืช อันเป็นการสร้างแรงจูงใจด้วยการให้สิทธิและความคุ้มครองตามกฎหมาย ปัจจุบัน มีชนิดพืชที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศกำหนดให้สามารถจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ไว้ 62 ชนิดพืช สำหรับกล้วยไม้ สามารถจดทะเบียนได้แล้ว 4 ชนิด ได้แก่ กล้วยไม้สกุลหวาย แวนด้า ฟาแลนนอปซิส และแคทลียา ทั้งนี้ ขั้นตอนการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เริ่มจากยื่นคำขอจดทะเบียน วางแผนการปลูกตรวจสอบ ปลูกตรวจสอบ วินิจฉัยผลการปลูก ประกาศโฆษณาและจดทะเบียน ส่วนรายละเอียดอื่นๆ สอบถามเพิ่มเติมที่ สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร

กิจกรรมการประกวดกล้วยไม้และสวนหย่อม การประกวดกล้วยไม้มีหลายสกุล ประกอบด้วย หวาย ฟาแลนนอปซิส แคทลียา เพชรหึง กล้วยไม้รองเท้านารี และกล้วยไม้ดินอีกหลายชนิด การประกวดสวนหย่อม แบ่งเป็นสวนหย่อมขนาดใหญ่ ที่ใช้กล้วยไม้เป็นองค์ประกอบ และสวนหย่อมขนาดเล็ก สไตล์ญี่ปุ่น ล้วนจัดได้สวยงามตระการตา

แลนด์มาร์คของงาน เรือสุพรรณหงษ์ ประดับด้วยกล้วยไม้หลากสี หลากพันธุ์
แลนด์มาร์คของงาน เรือสุพรรณหงษ์ ประดับด้วยกล้วยไม้หลากสี หลากพันธุ์

สรุปโดยรวมแล้ว การจัดงานในครั้งนี้ นับว่าจัดได้ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ขาดการประชาสัมพันธ์ จึงมีจำนวนผู้เข้าชมงานน้อยเกินคาด ทำให้คนไทยโดยเฉพาะคนรักกล้วยไม้ พลาดโอกาสที่จะได้สัมผัสความงดงามของกล้วยไม้หลากหลายพันธุ์ โดยเฉพาะพันธุ์ใหม่ๆ และยิ่งน่าเสียดายมากขึ้นไปอีก ที่เยาวชนรุ่นใหม่ไม่ได้ซึมซับเอาสิ่งดีๆ ไว้เป็นประสบการณ์ที่จะสานงานต่อจากนักปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ที่ล้วนอยู่ในวัยดึก คราวหน้าเริ่มใหม่นะครับ

สวัสดี

 

หมอเกษตร ทองกวาว