ธุรกิจกล้วยไม้รูปแบบใหม่ การผลิตต้นกล้วยไม้เพื่อติดต้นไม้ใหญ่ตามบ้านและจัดสวน (ตอนที่ 9) มีนาคม เดือนแห่งสีสันของกล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้สกุลหวาย

กล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้สกุลหวายที่ส่วนใหญ่เกือบตลอดปีนับตั้งแต่เข้าฤดูฝนจนเกือบจะออกหนาว เราจะเห็นเขาเจริญเติบโตยืดและขยายลำลูกกล้วย (คือส่วนลำต้น) คือเห็นแต่ใบและลำลูกกล้วย จะต้อๆ ป้อมๆ หรือยืดยาวแบบลำแข็งตั้งตรง หรืออ่อนนิ่มห้อยโตงเตงแล้วแต่ชนิด แต่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน จะเป็นช่วงที่กล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้เหล่านี้เริ่มแทงช่อดอก ออกดอกเบ่งบานแข่งขันกันอย่างละลานตา ในบทความตอนนี้จะนำภาพกล้วยไม้ไทยสกุลหวายที่ผู้เขียนติดต้นไม้ไว้ในช่วงหลายเดือนก่อนจนถึงปีเศษมาอวดโฉมกันเป็นหลัก โดยจะนำเสนอผ่านภาพพร้อมคำอธิบายประกอบ แต่ก่อนอื่นจะมีเรื่องที่เป็นประเด็นที่สำคัญเรื่องหนึ่งมาเกริ่นนำไปก่อน

ภาพที่ 1
ภาพที่ 2

กล้วยไม้ที่ซื้อจากฟาร์มกล้วยไม้ทั่วไป เพื่อติดต้นไม้ใหญ่

จำเป็นต้องกราดแดดก่อน

ในตอนที่ 8 ก็ได้กล่าวเน้นไว้แล้วว่า การทำเป็นธุรกิจรับจ้างติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ การนำกล้วยไม้ที่ซื้อจากฟาร์มกล้วยไม้ทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้ค่อยๆ กราดแดดให้กล้วยไม้ชินกับแสงแดดตรงๆ มาก่อน เป็นเรื่องที่อาจจะก่อความเสียหาย ด้วยกล้วยไม้เหล่านั้นถูกเลี้ยงใต้ซาแรนที่พรางแสงสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือได้รับแสงเต็มที่เพียง 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเราเอากล้วยไม้เหล่านี้ไปติดต้นไม้โดยตรงเลย โดยเฉพาะติดกับต้นหมาก ปาล์ม มะพร้าว หรือไม้ขุดล้อมที่นำมาลงจัดสวนใหม่ ที่ส่วนใหญ่จะถูกตัดแต่งกิ่งให้สั้น ลดจำนวนใบให้เหลือน้อยเพื่อลดการคายน้ำ ต้นไม้พวกนี้จะถูกแสงแดดส่องเข้าหาต้นแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งวัน กล้วยไม้ที่ไม่เคยถูกเทรนด์หรือผ่านการกราดแดดเหล่านี้ ใบจะเริ่มช้ำ แบบตายนึ่ง แล้วจะถอดสี ใบแห้งเหี่ยวในส่วนที่โดนแดดส่องใส่จัดๆ และทั้งใบจะเหี่ยวร่วงไป จะกี่ใบ มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่แดดส่องใส่ตรงๆ แรงๆ ว่ากว้างขวางแค่ไหน

เอื้องช้างน้าวกอใหญ่อายุมากแล้ว ออกดอกสะพรั่งมาก ดอกช่อที่โรยไปแล้วก็มี ที่กำลังแทงช่ออ่อนก็กำลังตูมๆ ตามมาอีกมาก
เอื้องช้างน้าวเผือก สีจะพื้นสีเหลืองครีม ไม่มีตาดำที่ปากของดอกเหมือนภาพก่อน

ที่ต้องนำเรื่องนี้มาย้ำกล่าวในตอนนี้อีก ก็เพราะเพิ่งได้รับประสบการณ์ตรงที่สมควรนำมาเล่าสู่กันฟัง นั่นคือย้อนไปในตอนที่ 5 ผู้เขียนได้เขียนถึงข้อมูลจากประสบการณ์ของเพื่อนในวงการกล้วยไม้ที่เคยรับจ๊อบติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ในสนามกอล์ฟแห่งหนึ่ง โดยกล้วยไม้ที่นำไปจากสวนนั้นนำไปติดต้นไม้เลยโดยไม่ผ่านการกราดแดดมาก่อน (นั่นคือ ไม่ได้ให้กล้วยไม้ค่อยๆ รับแสงเพิ่มขึ้นทีละน้อย จนรับแสงแดดจัดๆ ได้ภายใน 1-2 เดือน) ด้วยคำแนะนำของท่านคือถ้ากล้วยไม้ได้รับปุ๋ยแบบไต่บันได นั่นคือ N P K ที่ไต่ระดับขึ้น เช่น 16 21 26 เป็นต้น กล้วยไม้จะมีใบแข็งสั้นที่ค่อนข้างทนแดดกว่าการเลี้ยงโดยใช้ปุ๋ยสูตรเสมอตลอดเวลา ที่ใบจะอ่อนและยาวกว่า

เอื้องมัจฉากิลเบิร์ด กอนี้วางไว้ที่ง่ามกิ่งโคนต้นศรีตรังสายพันธุ์จากเยอรมนี
เอื้องโนบิเล่ กลีบสีชมพูเหลือบม่วง สายพันธุ์นี้มีสีดำที่ปาก ปกติถ้าเลี้ยงสมบูรณ์ให้กอใหญ่ จะออกดอกพราวมาก เอื้องโนบิเล่นี้ต้องเลี้ยงทางเหนือ ภาคกลาง ออกดอกยากสักหน่อย

ทีนี้ ผู้เขียนได้รับกล้วยไม้ชุดหนึ่งเมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้จากฟาร์มที่ใช้ปุ๋ยแบบไต่บันได คือ N ต่ำ P สูงขึ้น และ K สูงขึ้นกว่า P ส่วนหนึ่งเป็นลูกผสมสกุลแวนด้าดอกเล็ก ได้นำมาวางผึ่งบนซาแรนที่พักไม้ จุดนี้เป็นจุดที่ได้รับแสงตรง 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ประมาณ 14.30 น. เป็นต้นไป เบื้องต้นผู้เขียนก็คิดว่า “เขาน่าจะทนแดดตอนบ่ายสองเศษได้ อย่างมากก็ใบสีซีดขาวลงเล็กน้อย” แต่ผิดคลาดครับ เพียง 4 วันที่ได้รับกล้วยไม้มาแล้วเริ่มวางในจุดดังกล่าว ก็เกิดสภาพเริ่มจากใบซีดลงไหม้แดด เหลืองคล้ำน้ำตาล ตามภาพที่ 1

Advertisement
8 เอื้องสายครั่งหลวงภาคใต้ ปากมีตาสีม่วงแดงเข้ม กลีบดอกสีม่วงอ่อน ปากมีขนเล็กๆ รอบปากดูเหมือนกำมะหยี่ สวยมาก เขามีกลิ่นหอมมากครับ

ถัดไปอีก 6 วัน นั่นคือครบ 10 วันที่เริ่มรับแดดตรงตั้งแต่ 14.30 น. เป็นต้นไป สภาพเลวร้ายมากขึ้น นั่นคือใบที่ไหม้มากขึ้น และได้เปลี่ยนเป็นสีคล้ำดำ ใบหลุดร่วงไป ดังในภาพที่ 2

ภาพแสดงเอื้องสายหลายชนิดที่ติดบนต้นศรีตรังพันธุ์จากเยอรมนี ทยอยกันบานออกดอก โปรดสังเกต ด้วยต้นศรีตรังพันธุ์นี้ทิ้งใบตั้งแต่หนาวจนเข้าแล้ง ภาพนี้ถ่ายตอนกลางเดือนมีนาคม ใบอ่อนเพิ่งผลิออก แสงจึงสาดลงมาในปริมาณที่สูงมากทั้งวัน สภาพเช่นนี้ในปีแรกถ้าผู้เลี้ยงไม่ช่วยรดน้ำ (ทุกวัน) ในช่วงที่ไม่มีฝน กล้วยไม้จะเหี่ยวตายไปมาก
เอื้องแปรงสีฟัน เขาจะออกดอกที่ปลายลำลูกกล้วย

ในจำนวนกล้วยไม้ที่มาจากสวนเดียวกันนี้ มีกล้วยไม้ลูกผสมสายใบกลม เป็นลูกผสมเอื้องโมกข์กับใบกลมของมาเลเซีย ชื่อมิสโจควิม ซึ่งสิงคโปร์ใช้เป็นดอกไม้ประจำชาติ (มาเลเซียและสิงคโปร์ใช้ปลูกกลางแดด 100 เปอร์เซ็นต์) ที่ผสมเข้ากับแวนด้าอีกทีหนึ่ง ซึ่งลูกผสมนี้จะค่อนข้างทนแดดและใช้ปลูกกลางแดดได้เช่นกัน แม้ผ่านการใช้ปุ๋ย N P K แบบไต่บันได แต่ไม่ได้ถูกค่อยๆ กราดแดดมาก่อน เมื่อนำมาวางในที่เดียวกัน คือรับแสงแดดตรงตั้งแต่ 14.30 น. เป็นต้นไป ผลคือ เกิดสภาพใบโดนแดดเลีย คือสีเขียวเปลี่ยนเป็นขาว และมีบางส่วนที่โดนแดดส่องจัด สีคล้ำน้ำตาลเป็นปื้นใหญ่ แต่ไม่รุนแรงเหมือนสองภาพแรกที่เป็นกล้วยไม้สกุลแวนด้าดอกเล็กที่ไม่มีเลือดแวนด้าใบกลมเลย

Advertisement
ต้นพะยอมที่ติดไว้ด้วยเอื้องแปรงสีฟัน ถึงแม้เขาจะดอกเล็กแต่สีชมพูสดใสสวยเด่น ถ้าปลูกมากๆ ก็ออกดอกพราว ดูเด่นไปอย่าง
12 เอื้องสายน้ำผึ้งเป็นกล้วยไม้มีกลิ่นหอม ชุดนี้ปลูกมาปีเศษแล้ว อีกปีสองปี จำนวนต้นหรือสายลูกกล้วยมากขึ้น ดอกจะพราวกว่านี้

ทั้งสองกรณีนี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า “ในการรับจ้างติดกล้วยไม้กับต้นไม้ใหญ่เชิงธุรกิจ กล้วยไม้ที่จะใช้งานจากสวนกล้วยไม้ทั้งหลาย ต้องผ่านการกราดแดด ให้ทนแดดได้ก่อนนำมาติด” เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเป็นข้อพิพาทตอนตรวจรับงานเมื่อเจอกล้วยไม้ใบเสียใบร่วงจากแดดเผา

เอื้องสายน้ำครั่งสายยาว สีม่วงของเขาฉูดฉาดโดดเด่นดีมาก เป็นกล้วยไม้ที่ขายกันในราคาค่อนข้างแพงสักหน่อย และไม่ค่อยมีขายทั่วไป ค่อนข้างหาซื้อยาก

ที่กล่าวมาข้างต้น มีความมุ่งหมายให้นักภูมิสถาปัตย์ นักจัดสวนมืออาชีพได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการกราดแดดของกล้วยไม้ก่อนใช้งาน นั่นคือจะต้องมีการเจรจาสร้างความสัมพันธ์กับสวนกล้วยไม้ใหญ่เตรียมกล้วยไม้ที่ผ่านการกราดแดดดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อเรื่องแสง ในบทความตอนที่ 1 ส่วนท่านที่จะติดกล้วยไม้กับต้นไม้ใหญ่ที่บ้านเป็นของตัวเอง ก็พลิกแพลงหามุมที่แสงส่องถึงช่วงเช้าเย็น หลีกช่วงแดดจัดๆ ช่วง 10.00-15.00 น. ก็สบายแล้วครับ แต่ถ้าจะติดต้นไม้พวกปาล์ม หมาก มะพร้าว หรือต้นไม้ใหญ่ที่ตัดแต่งกิ่งจนแดดจัดๆ ส่องถึง ก็ต้องฝึกทำการกราดแดดช่วยให้เขาค่อยๆ คุ้นชินกับแดดจัดๆ ถึงค่อยเอาไปติดครับ

เอื้องสายน้ำผึ้ง ชุดนี้ซื้อไม้มาตอนเป็นไม้กำลังมีตาดอกมาติดต้นไม้ได้ประมาณ 2 เดือนเศษ การบานของดอกและระเบียบยังไม่สวย ต้องให้เขางอกต้นใหม่ปีหน้าจะสวยพราวกว่านี้

มีนาคม เดือนแห่งสีสันของกล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้สกุลหวาย

การติดกล้วยไม้โดยเฉพาะกล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้สกุลต่างๆ บนต้นไม้ใหญ่ตามบ้านหรือสวนของพี่น้องคนไทย มีทำมานานแล้ว ทั้งนักกล้วยไม้และคนที่แทบไม่รู้จักกล้วยไม้แต่ชอบ อีกทั้งในเฟซบุ๊ก จะพบว่ามีกลุ่มที่มีการขายกล้วยไม้ป่าที่เก็บจากป่ากัน และมีกล้วยไม้จากประเทศเพื่อนบ้านทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกนำเข้ามาขายกันมานานนักหนาแล้ว หลายท่านก็ได้ซื้อมาแล้วเอามาผูกติดกับต้นไม้โดยตรงเลย รอดบ้างตายบ้างเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ (ที่กล่าวถึงการซื้อขายกล้วยไม้ป่า เพียงเปรยว่ามีอยู่นะครับ ไม่ได้แปลว่าสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน เรื่องนี้ถือว่าเรื่องใครเรื่องมัน นอกเหนือจากอะไรที่ผมจะไปยุ่งได้ครับ บอกตรงๆ ว่าผมเองก็ได้สั่งซื้อมาติดอยู่บ้าง เพราะกล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้แทบจะไม่มีสวนไหนเพาะจากเมล็ดมาปลูกขาย เพราะต้นทุนสูงและขายแพงเท่าแวนด้าลูกผสมไม่ได้ จะไม่มีคนซื้อ ผู้สนใจจะหากล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้ชนิดต่างๆ มาติดต้นไม้จึงต้องพึ่งการซื้อกล้วยไม้ป่าไปโดยปริยาย)

เอื้องโมกข์ที่ติดบนต้นคิงส์ปาล์ม ออกดอกบานสู้แสงได้เต็มที่ มีเอื้องผึ้งกอเล็กๆ หลายกอติดอยู่ข้างบน แต่ยังไม่ออกดอก

แต่การซื้อกล้วยไม้ติดต้นไม้ใหญ่โดยที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของเขา (ดังที่ผู้เขียนได้ให้รายละเอียดไว้ในบทความชุดนี้ตอนที่ 1 และ 2 และแทรกในตอนต่างๆ อีกมาก) ก็เป็นความเสียหายที่น่าเสียดาย ผู้เขียนเคยเจอนักกล้วยไม้สมัครเล่นรุ่นเก่าผู้สูงวัยท่านหนึ่ง สมัยก่อนเคยเลี้ยงกล้วยไม้ในโรงกล้วยไม้ที่พรางแสงด้วยซ้ำไป ชอบไปซื้อกล้วยไม้ป่าถูกๆ เช่น ที่ด่านสิงขร แล้วเอามาวางตามซอกไม้ ง่ามไม้บ้าง ผูกติดต้นไม้กับเชือกฟางบ้าง แล้วปล่อยให้เทวดาเลี้ยง ผู้เขียนเคยไปที่บ้านท่านช่วงเดือนมีนาคม พบกล้วยไม้ป่ากอใหญ่ๆ ไม่ได้ตัดราก แห้งกรังใบเหี่ยวแบบกำลังแห้งตาย ส่วนที่ว่าเคยไปซื้อมาเยอะเมื่อหลายปีก่อน ก็ไม่พบเห็นว่ามีติดงอกอยู่ตามต้นไม้ เหตุการณ์แบบปล่อยให้เทวดาเลี้ยง ไม่ช่วยรดน้ำเวลาหนาวหรือแล้งอย่างนี้จะเจอบ่อย แต่ถ้าโชคดีรากเขาเดินเกาะต้นไม้ดี หรือได้ช่วยฉีดรดน้ำบ้างที่รอดตายออกดอกให้เห็นอยู่ก็มี ที่จะเน้นตรงนี้คือ “ถ้าเราช่วยรดน้ำให้เขา ใส่ปุ๋ยให้เขา เขาจะเจริญดีแน่นอน”