ข้าวเหนียวราคาร่วงหนัก กก.7 บ. ชาวนาแห่ปลูกเพิ่ม

แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาข้าวเปลือกเหนียวในฤดูกาลผลิตนาปรัง ปี 2560 (ณ 12 มิ.ย.) เกี่ยวสดปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ตันละ 6,600-6,700 บาท ข้าวแห้งตันละ 9,200 บาท จากปีก่อนที่ราคา 14,00-14,500 บาท ส่วนราคาข้าวสารเหนียว 10% อยู่ที่ตันละ 15,500-17,500 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่ต่ำมากเทียบเท่ากับราคาปลายข้าวเหนียว เอวันเลิศของปีนี้ จากปกติราคาข้าวเหนียวจะสูงกว่าปลายข้าว และต่ำกว่าราคาช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ตันละ 27,000-28,000 บาท หรือลดลง ตันละ 10,500-11,500 บาท และราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี. ตันละ 490 เหรียญสหรัฐ จากปีก่อนที่ 550 เหรียญสหรัฐ

“สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากปีก่อนราคาข้าวเหนียวเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ชาวนาภาคอีสานปลูกเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ผลผลิตที่ออกมาจึงมีราคาต่ำลงในปีนี้ น่าห่วงว่าราคาข้าวเหนียว กข 6

หรือข้าวเหนียวนาปีที่จะออกช่วงปลายปีจะลดลงตามหรือไม่ โดยปัจจุบันราคาข้าวเหนียว กข 6 ยังทรงตัวที่ตันละ 21,000-22,000 บาท ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องมีมาตรการมาดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวซึ่งเป็นข้าวชนิดเดียวที่ปรับตัวลดลงสวนทางกับข้าวอื่นๆ”

แหล่งข่าวจากวงการโรงสี ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวเหนียวลดลง เพราะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกข้าวเหนียวเพียงแห่งเดียวของไทย ประกาศขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้ส่งออก แต่มีผู้ส่งออกไทยผ่านมาตรฐานการตรวจรับรองของหน่วยงานรับรองคุณภาพของจีน (AQSIQ) เพียง 49 ราย ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าผู้ส่งออกข้าวเหนียวรายใหญ่ๆ ของไทยผ่านการตรวจสอบบางราย ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 จึงต้องติดตามสถานการณ์การส่งออกข้าวเหนียวว่า จะปรับตัวลดลงหรือไม่

“ท็อปผู้ส่งออกข้าวเหนียวที่ผ่านการรับรองคือ เบอร์ 1 บริษัท โรงสีข้าว ป. ณัฐตพล จำกัด และบริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด เบอร์ 3 ส่วนอีก 3 ราย คือ บริษัท พรีเมียมไรซ์ เอ็กซ์ปอร์ต เบอร์ 2, ชิงตั๊ก กรุ๊ป เบอร์ 4 และสยาม ฟาร์มมิ่งเอ็กซ์พอร์ท เบอร์ 5 ไม่ผ่าน แต่ไม่น่าจะกระทบมากนัก เพราะผู้ส่งออกสามารถซื้อขายโควตาการส่งออกไปจีนได้”

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบรายงานกรมศุลกากรล่าสุดระบุว่า การส่งออกข้าวเหนียวในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) 2560 มีปริมาณ 23,243,855 กิโลกรัม มูลค่า 526,278,275 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีปริมาณ 18,888,984 กิโลกรัม มูลค่า 491,767,927 บาท เนื่องจากอุตสาหกรรมในจีนที่ใช้ข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบมีการสั่งนำเข้าเพิ่มมากขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ