“วรุณา” เดินหน้า “คุ้งบางกะเจ้า” โมเดลต้นแบบฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วยเอไอ เวิร์กชอปใช้งานฐานข้อมูลเชิงลึก เดินหน้าต่อยอดประโยชน์ด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อมไทย

การใช้ Web

ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้เราสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเป็นระบบ และนำข้อมูลดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง อย่างการวางแผนฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวที่คุ้งบางกะเจ้า ในโครงการ OUR Khung BangKachao บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า เครื่องมือเทคโนโลยีด้านการสำรวจพื้นที่และวิเคราะห์ด้วย AI ที่ถูกนำมา บูรณาการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพนั้น มีอิทธิพลและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สีเขียวของไทย และสามารถนำไปพัฒนาในภาคเกษตร เอื้อประโยชน์ในการวางแผนทำงานของภาคเอกชนและการมีส่วนร่วมของชุมชน

พณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ธราณิศ ประเสริฐศร

เบื้องหลังการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วยเอไอที่เกิดขึ้นกับโครงการ OUR Khung BangKachao โดยมีมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้กำกับดูแลกำหนดนโยบาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานคณะทำงานฯ และร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายมากกว่า 100 องค์กรนั้น ล้วนมาจากความตั้งใจและความเชี่ยวชาญของทุกภาคส่วน สำหรับบริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี เราใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านการสำรวจพื้นที่โดยนำเทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ติดตามผลการรักษาพื้นที่สีเขียวในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ตลอด 5 ปี (ปี 2562-2566) โดยมีแพลตฟอร์มวิเคราะห์ “วรุณา” (VARUNA Analytics) ช่วยเก็บข้อมูลในพื้นที่ด้วยโดรนสำรวจและดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์พื้นที่แบบ End to End ด้วยระบบเอไอ (AI) ช่วยให้การวางแผนฟื้นฟูทำได้ตรงจุด และแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ใช้แอป VARUN

สำหรับเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้กับโครงการ OUR Khung BangKachao นั้น ถูกนำมาประสานรวมกันเพื่อเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถนำมาประมวลผลได้ ทั้งเทคโนโลยี Geographic Information System (GIS) เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสะท้อนภาพจริงที่เกิดขึ้นแต่ละพื้นที่ รวมถึงเทคโนโลยีการสำรวจจากระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อให้ได้ภาพ Normalized Difference Vegetation Index (NDVI) นำมาเทียบประเมินพื้นที่สีเขียวจากภาพดาวเทียมขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องใช้กำลังคนและเวลาเดินสำรวจพื้นที่ภาคพื้นเหมือนในอดีตอีกต่อไป นอกจากนั้นยังมีการใช้ภาพถ่ายจากโดรน ซึ่งสามารถกำหนดทิศทางการสำรวจได้อย่างแม่นยำชัดเจนมาก ตลอดจนการติดตามโดยใช้ Dashboard ทำให้เห็นความคืบหน้าเพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนแผนงานต่อไป

บรรยากาศอบรม

ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นอยู่ภายใต้การทำงานที่เข้มข้นของ “วรุณา” มาโดยตลอด โดยมีส่วนช่วยขับเคลื่อนโครงการ OUR Khung BangKachao ให้บรรลุเป้าหมาย นางสาวพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วรุณาได้นำเทคโนโลยีมาช่วยเก็บข้อมูล ทำการพัฒนาและจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ และติดตามผลความคืบหน้าการดำเนินโครงการ รวมถึงสร้างฐานข้อมูลจำเป็นที่สามารถนำไปวิเคราะห์ ช่วยให้ทีมงานสามารถปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานได้อย่างทันท่วงที เพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวของคุ้งบางกะเจ้าได้อย่างสมบูรณ์

ธราณิศ ประเสริฐศรี

นายธราณิศ ประเสริฐศรี หัวหน้าทีมพัฒนาเทคโนโลยี บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า บริษัทได้พัฒนาระบบเพื่อตอบสนองการวางแผนฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวที่คุ้งบางกะเจ้ากว่า 1 ปี มีการวิเคราะห์รูปแบบ นำไปสู่การดีไซน์ Dashboard ปรับแก้ไขและเชื่อมโยงข้อมูลปัจจุบันและย้อนหลังเข้าด้วยกัน และเชื่อมต่อเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ให้เป็นการใช้งานง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ภาคีเครือข่ายได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทันสมัย ใช้งานได้อย่างถูกต้องและเข้าใจ เจ้าหน้าที่หน้างานสามารถเรียกดูข้อมูลที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างสะดวกผ่านอุปกรณ์มือถือได้ จึงเป็นที่มาของการจัดอบรมการใช้งานระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ให้แก่คณะทำงานฯ โครงการ OUR Khung BangKachao ที่มีองค์กรภาคีเครือข่าย และชุมชนคุ้งบางกะเจ้า เข้ามาเรียนรู้การใช้งานเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ผ่านการใช้ Mobile App, Web App และ Dashboard อย่างละเอียด

อัธยะ พินจงสกุลดิษ

นายอัธยะ พินจงสกุลดิษ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวสนับสนุนว่า ประโยชน์ที่ทุกคนจะได้รับจากระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่พัฒนาโดย “วรุณา” มีหลากหลายมิติ นอกจากจะใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาดูข้อมูลได้แล้ว ยังเป็น DATA พื้นฐานเพื่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวด้านการเกษตร เช่น การจัดโซนนิ่งพื้นที่ ลักษณะพื้นที่สีเขียวและลักษณะดินและน้ำในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรและชุมชนเข้าใจพื้นที่ของตนเองมากขึ้น ภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ เป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจ พร้อมดำเนินการสนับสนุนและวางแผนพัฒนาพื้นที่นั้นๆ ให้มีประสิทธิภาพได้ รวมทั้งยังประยุกต์ใช้กับนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐอื่นๆ ก่อให้เกิดรายได้และผลประโยชน์ต่อชุมชนในหลายรูปแบบ เช่น การใช้ประโยชน์ของพื้นที่เพื่อผลักดันการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

อีกทั้งฐานข้อมูลต่างๆ ยังใช้เป็น “มาตรวัด” ช่วยให้ผู้สนับสนุนด้านเงินทุนสามารถวัดผลลัพธ์โครงการของตนเองได้อีกด้วย เช่น บริษัทต้องการทำ CSR พัฒนาพื้นที่สีเขียวโดยมีเป้าหมาย 4 พันไร่ ให้เป็น 6 พันไร่ ก็สามารถนำเทคโนโลยีของวรุณาไปปรับใช้เพื่อวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้นระบบยังสามารถพัฒนาฐานข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม เช่น โมเดลการคำนวณการกักเก็บคาร์บอน เพื่อศึกษาผลเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าในอนาคต เป็นต้น

พณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ระบบจะมีความพร้อมใช้งานแล้ว แต่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ ตรงกับสถานการณ์ สภาพแวดล้อมปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องขยายการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายภาคี ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเพิ่มเติมข้อมูลเข้าระบบได้เอง นางสาวพณัญญา เผยว่า นับเป็นความท้าทายที่จะพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ให้สามารถคัดกรองข้อมูลที่ถูกต้องเข้าสู่ระบบ และเชื่อมโยงข้อมูลจากหลากหลายแหล่งที่มาให้เป็นฐานข้อมูลที่สมบูรณ์ก่อนจะนำไปใช้งานจริง

“การจัดอบรมการใช้งานระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียว เป็นอีกก้าวหนึ่งของการนำเทคโนโลยีมาให้ผู้ใช้งานสัมผัสอย่างใกล้ชิด และยังนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่คนในชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่สีเขียวจะได้หันมาเข้าใจเทคโนโลยีจริงๆ และยังเป็นการสะท้อนการอยู่ร่วมกันของชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และการทำธุรกิจได้อย่างลงตัว และยังเป็นประตูให้ทุกคนรู้ว่าเครื่องมือเหล่านี้สามารถต่อยอดสู่การทำงานทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการเกษตรในพื้นที่อื่นๆ ได้อีกด้วย” พณัญญา กล่าวทิ้งท้าย