กศน.แม่ฮ่องสอน พัฒนาวิถีชีวิต ส่งเสริมอาชีพชาวเขา ให้กินดีอยู่ดี

“แม่ฮ่องสอน” เป็นจังหวัดชายแดนอยู่ทางภาคเหนือตอนบน เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือ และเป็นอันดับ 8 ของประเทศ เสน่ห์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ที่ทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่ 7 อำเภอ ที่มีเส้นทางคดเคี้ยว เลี้ยวเลาะหุบเขา รวมทั้งเสน่ห์วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม และความมีมิตรไมตรีของ 7 กลุ่มชนเผ่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วย กะเหรี่ยง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุดของชาวไทยภูเขา, ลาหู่ หรือ มูเซอ, ลีซู หรือ ลีซอ, ลัวะ หรือ เลอเวือะ, ม้ง, ปะโอ ที่อพยพเข้ามาจากรัฐฉาน และชาวจีนยูนนาน (จีนฮ่อ)

“แม่ฮ่องสอน” มุ่งกำหนดแผนยุทธศาสตร์จังหวัดให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ส่งเสริมและพัฒนาการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ยกระดับคุณภาพชีวิตพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนบนพื้นฐานแห่งความพอเพียง

ผู้บริหาร กศน.แม่ฮ่องสอน โชว์สินค้าขายดี

ที่ผ่านมาพบว่า ประชากรจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีรายได้เฉลี่ยและคุณภาพชีวิตต่ำกว่าประชากรในภาคเหนือและทั้งประเทศ มีสัดส่วนจำนวนผู้ยากจนมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ เนื่องจากมีพื้นที่กันดารและพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา ซึ่งอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ประมาณร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมด ทำให้มีข้อจำกัดในด้านที่ดินทำกิน การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ เนื่องจากการบริการของรัฐไม่สามารถเข้าถึงได้โดยเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้ชาวบ้านขาดความรู้ที่จะใช้ในการประกอบอาชีพ

ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ นับถือศาสนาพุทธ ในด้านการศึกษา เด็กที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษามีโอกาสได้เรียนต่อในระดับมัธยมต้น ประมาณร้อยละ 36.96 ส่วนหนึ่งต้องออกไปช่วยครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม รับจ้าง แต่ยังมีส่วนหนึ่งได้เข้ารับการศึกษาต่อในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ เสมา 3 ร่วมเยี่ยมชมและซื้อผลิตภัณฑ์ กศน.แม่ฮ่องสอน

สำนักงาน กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทุกวันนี้ พื้นที่ชนบทห่างไกลความเจริญที่การคมนาคมไม่สะดวก ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ภูเขาสูงทั่วประเทศ มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาผ่านช่องทาง “ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และการทำงานด้วยความเสียสละของคุณครูอาสา กศน. หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “ครูดอย” ที่ตั้งใจทำงานช่วยเหลือเด็กเยาวชนและชาวบ้านที่ด้อยโอกาสให้สามารถอ่านออกเขียนได้ โดยพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียนและชุมชน ช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ ทักษะประสบการณ์ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชน พร้อมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้อื่นได้

คุณวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. ร่วมให้กำลังใจทีมงาน กศน.แม่ฮ่องสอน

ปัจจุบัน สำนักงาน กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ประกอบด้วย ศศช.บ้านแม่ปะกลาง, ศศช.บ้านจอลือใต้, ศศช.บ้านแม่แพน้อย, ศศช.บ้านจอลือเหนือ, ศศช.บ้านผาอันใต้, ศศช.บ้านห้วยเกี๋ยงน้อย, ศศช.บ้านห้วยเฮี้ย, ศศช. บ้านแม่ดี้ เป็นต้น ซึ่งในจำนวนนี้ มี ศศช. ภายใต้โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (กพด.) อีกด้วย

ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ในสังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินงานสนองนโยบายรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมุ่งส่งเสริมอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สินค้าผ้าทอชาวเขา เป็นผลงานศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน

ศศช. “แม่ฟ้าหลวง” บ้านผาแดงใต้

ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านผาแดงใต้ อยู่ภายใต้การบริหารงานของ กศน.อำเภอแม่สะเรียง สำนักงาน กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเป้าหมายจัดการศึกษาให้ทั้งชุมชน เป็นการศึกษาเพื่อชีวิต สังคม เพื่อปวงชน และการศึกษาตลอดชีวิต จัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นให้ประชาชนในชุมชนมีทักษะพื้นฐาน อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้

ศศช. “แม่ฟ้าหลวง” บ้านผาแดงใต้ จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพภายใต้ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนขึ้น เพื่อช่วยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเรียนรู้พัฒนาอาชีพเดิม หรือสร้างอาชีพใหม่ให้มีรายได้ที่ดี ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข เช่น อบรมอาชีพ “ย่ามทอมือ” และพัฒนาลวดลายจกกะเหรี่ยงโบว์ให้แก่ชาวบ้านผาแดงใต้ หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง เป็นต้น

กระเป๋าลวดลายชาวเขา

นอกจากนี้ ศศช. “แม่ฟ้าหลวง” บ้านผาแดงใต้ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการดูแลสุขภาวะและสุขอนามัยของประชาชน เช่น อบรมความรู้เรื่องการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งองค์การอนามัยโลก ประกาศยกระดับให้เป็นไวรัสโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ที่น่ากังวลเพราะแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา สามารถเข้าสู่ระบบร่างกายมนุษย์ได้ง่ายขึ้น และมอบกล้าพันธุ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจรให้กับชาวบ้านนำไปปลูกเป็นสมุนไพรประจำบ้านต้านโควิด-19

สาธิตกิจกรรมอาชีพถุงสมุนไพรหอม ดับกลิ่น เผยแพร่โดย กศน.ตำบลเวียงเหนือ

โชว์ของดีจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมเรียนรู้ (สพร.) สำนักงาน กศน. ได้เชิญชวนสำนักงาน กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำผลิตภัณฑ์ศูนย์อาชีพ OOCC และสินค้า OTOP ซึ่งสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่น กศน.อำเภอปาย และ กศน.อำเภอขุนยวม ส่งเสริมและสนับสนุนจนเกิดการรวมกลุ่มและเป็นฝีมือของกลุ่มนักศึกษาสายอาชีพในชุมชนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่น เสื้อไต กู๊ปไต, เสื้อกะเหรี่ยง, ย่าม, เสื้อผ้าม้ง, ถั่วลายเสือ ข้าวอินทรีย์ กระเทียม นำมาขายในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ณ ด้านหน้าศูนย์เรียนรู้วังจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมสาธิตกิจกรรมอาชีพ “ถุงสมุนไพรหอม ดับกลิ่น” เผยแพร่ โดย กศน.ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย

คณะผู้บริหารสำนักงาน กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ (เสมา 3) พร้อมด้วย คุณวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการสำนักงาน กศน. และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมและให้กำลังใจ บู๊ธศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนของสำนักงาน กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อร่วมเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์สร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ให้กับประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า กศน.ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ของชุมชน มุ่งสร้างอาชีพให้ประชาชนสอดคล้องกับบริบทพื้นที่และช่วงวัยที่เหมาะสม และครู กศน. ก็ได้พัฒนาการเรียนรู้ของตนเองอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับเครือข่ายในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เกิดรายได้ มีการหมุนเวียนการจัดแสดงและสาธิตกิจกรรมอาชีพ ในบางกิจกรรมจะมีวิทยากรมาให้ความรู้ด้วย ซึ่งมีการแจ้งล่วงหน้าว่าจะมีผลิตภัณฑ์ใด จากพื้นที่ใดมาจัดแสดง ผ่าน Facebook ประชาสัมพันธ์ กศน. โดยช่วงแรกจะเริ่มจากพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน เนื่องจากอยู่ใกล้ จากนั้นก็ทยอยนำผลิตภัณฑ์จากต่างจังหวัดมาจัดแสดงตามความสะดวก

ศศช. “แม่ฟ้าหลวง” บ้านผาแดงใต้ อำเภอแม่สะเรียง อบรมอาชีพ “ย่ามทอมือ”

“อยากให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ กศน. พยายามผลักดัน อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ฝีมือของชาวเขาที่อยู่ห่างไกลในพื้นที่ทุรกันดาร ที่ กศน. เข้าไปฝึกอาชีพให้ ทำให้เกิดรายได้และเป็นกำลังใจให้ผู้สูงวัยในพื้นที่ ตลอดจนฝากสินค้าของ OOCC (Onie Online Commerce Center : ศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ ของ กศน.) รวมทั้งขอคำแนะนำว่าเราควรทำอย่างไร เพื่อให้เพิ่มช่องทางเสริมทักษะอาชีพให้กว้างขวางยิ่งขึ้น” ดร.กนกวรรณ กล่าวในที่สุด

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ