หมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ชุมชนที่สืบสาน-อนุรักษ์การผลิตกลอง

การเดินทางของช่วงเวลาจากอดีตจนถึงยุคนี้ทำให้เครื่องดนตรีสำคัญที่สร้างความสนุกสนานครึกครื้นอย่าง “กลองยาว” กำลังจะหายไป

กลองยาว เป็นเครื่องตีชนิดหนึ่งของไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก วงกลองยาวประกอบด้วยผู้แสดงหญิงและชายที่แต่งกายแบบพื้นบ้านของแต่ละภูมิภาคในขบวนแห่งานรื่นเริงสนุกสนานของเทศกาลและงานมงคล โดยระหว่างการแสดงได้สอดประสานท่วงท่าลีลาการร่ายรำร่วมกับเสียงตีกลองเป็นจังหวะ พร้อมกับ ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง สร้างความบันเทิง ความสนุกสนานครึกครื้นให้แก่ผู้เล่นและผู้ฟังได้เป็นอย่างดี จนเป็นที่รู้จักกันว่า “รำเถิดเทิง” หรือ “เทิงกลองยาว”

กลองแขก เตรียมพร้อมจัดส่งจำหน่าย

แต่ดูเหมือนความเจริญทางสังคมในยุคดิจิทัลกำลังจะทำให้เครื่องดนตรีสำคัญชนิดนี้หายไปเนื่องจากขาดการถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ขาดผู้ที่จะสืบทอดความรู้จนไปถึงปัญหาในการผลิตกลองยาวที่มีคุณภาพ ดังนั้น คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงพิจารณาเห็นสมควรประกาศขึ้นทะเบียนกลองยาวให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงประจำปี พ.ศ. 2558

ด้วยเหตุนี้จึงอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านมารู้จักกับสถานที่ผลิตกลองยาวที่ยังพอมีเหลืออยู่ รวมถึงผู้คนที่มีความเกี่ยวข้องและพยายามจะอนุรักษ์สืบสานเครื่องดนตรีชนิดนี้ไว้เพื่อให้เป็นมรดกและความภาคภูมิใจของคนไทย

กลองเพลขนาดต่างๆ

ชุมชน “หมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราช” เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งร่วมแรงร่วมใจกันผลิตกลองมายาวนานเพื่ออนุรักษ์ จนสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอ่างทอง ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

คุณศราวุธ เผ่าพยัฆ เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องและคลุกคลีกับกลองยาวมาตั้งแต่เกิด เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มทำกลองที่สืบทอดเป็นรุ่นที่ 3 ต่อจากคุณตาและบิดา พร้อมกับยังทำงานประจำในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเอกราชด้วย ทั้งยังเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนกลุ่มทำกลอง

คุณศราวุธ เล่าถึงประวัติความเป็นมาของการทำกลองในชุมชนแห่งนี้ว่า เริ่มต้นมาเกือบร้อยปี โดย คุณตาเพิ่ม ภู่ประดิษฐ์ ท่านเป็นเจ้าของวงปี่พาทย์ ซึ่งมีกลองเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ โดยคุณตาเพิ่มทำกลองด้วยตนเอง จนเป็นที่โด่งดัง จึงมีวงปี่พาทย์หลายแห่งพากันมาหาตาเพิ่มเพื่อให้ทำกลอง

คุณตาเพิ่มพัฒนาฝีมือและรูปแบบการทำกลองให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วยการคิดค้นสร้างเครื่องกลึงกลองขึ้นเพื่อให้เกิดความสะดวก แต่สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้จึงต้องใช้จักรยานปั่นแทน พร้อมกับได้ผลิตกลองขึ้นมาอีกหลายชนิด โดยยึดรูปแบบจากกลองไทยโบราณในยุคแรก ไม่ว่าจะเป็นกลองทัด (กลองเพล) กลองยาว กลองโทน และกลองรำมะนา (กลองรำตัด) แล้วยังถ่ายทอดองค์ความรู้การทำกลองส่งต่อให้กับลูกหลานและคนสนิทใคร่รู้เพื่อยึดเป็นอาชีพทำกลองหาเลี้ยงชีพมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีครัวเรือนที่ทำกลองประมาณ 30 ครัวเรือน จึงทำให้เกิดเป็นชุมชน “หมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราช” โดยใช้ชื่อตามชื่อของตำบลเอกราช หนึ่งในอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง อีกทั้งชุมชนแห่งนี้ยังเป็นหมู่บ้านที่สร้างชื่อเสียงการทำกลองให้กับจังหวัดอ่างทอง แล้วยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

กลองยาวที่ทำเสร็จสมบูรณ์ พร้อมจำหน่าย

กลองมีกี่ชนิด กี่ประเภท

ลักษณะการใช้งานต่างกันอย่างไร

คุณศราวุธ บอกว่า ในปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ผลิตกลองมากมายหลายชนิด ครอบคลุมกิจกรรมการเล่นตามวัฒนธรรมไทยทุกอย่างที่พบเห็นกันทั่วไป เพราะกลองแต่ละชนิดมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโอกาสและผู้นำไปใช้เล่นกับเทศกาลและวาระที่ต่างกัน มีทั้งกลองสายเลือดไทยที่สืบสานมาตั้งแต่โบราณ รวมถึงกลองต่างประเทศด้วย ซึ่งหลายประเทศประทับใจคุณภาพกลองที่ผลิตจึงสั่งทำกลองในหมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราชเป็นประจำและต่อเนื่องยาวนาน

การเตรียมหุ่นกลองเพล

“ชนิดของกลองไทย ได้แก่ กลองเพล กลองยาว กลองแขก กลองตะโพนไทย กลองตะโพนมอญ กลองรำมะนา กลองรำวง กลองโทน ฯลฯ ส่วนกลองต่างประเทศ ได้แก่ กลองแจมเป้ กลองบองโก้ กลองทอม และกลองญี่ปุ่น รวมทั้งอีกหลายชนิดที่ลูกค้าส่งมาสั่งทำในหมู่บ้านทำกลองของเรา”

สำหรับจุดเด่นหรือเอกลักษณ์คุณภาพกลองที่ผลิตจากหมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราชมีอะไรบ้าง แล้วมีความต่างจากแหล่งอื่นหรือไม่อย่างไร?

คุณศราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของกลองเอกราช ขึ้นอยู่ในขั้นตอนการผลิตที่มีความสลับซับซ้อนในกลองแต่ละชนิด และกลองแต่ละชนิดก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน อย่างเช่น กลองยาวของเอกราชเราจะมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ทั้งหุ่นที่กลึงออกมาดูอ่อนช้อย สวยงาม เสียงที่ดังกังวานบอกถึงลักษณะเด่นของกลองเอกราชได้เป็นอย่างดี

“การใช้ไม้ทั้งท่อน ขึ้นกลองในใบเดียว โดยไม่ใช้ไม้ประกอบ นับเป็นลักษณะเด่นของกลองเอกราช ไม่ว่าจะเป็นกลองเพลที่ใบใหญ่ที่สุด ก็ขึ้นด้วยไม้ท่อนเดียวเช่นกัน ถือเป็นจุดเด่นของกลองเอกราช ที่ยากจะเลียนแบบได้ ส่วนคุณภาพกลองต้องถามจากผู้ใช้ที่ได้สัมผัสด้วยตัวเอง จึงเป็นผู้การันตีได้ดี และเป็นลูกค้าประจำที่ซื้อ-ขายกันมาตลอด ยาวนาน”

ขั้นตอนการขึ้นกลองเพล

ส่วนประกอบของกลอง

แต่ละส่วนผลิตจากวัสดุอะไร

คุณศราวุธ แจงว่า ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ 1. ไม้ ต้องใช้เป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้จามจุรี ไม้มะม่วง ไม้ขนุน เป็นต้น สำหรับผลิตหุ่นกลองทุกชนิด 2. หนัง ชนิดของหนังกลองต้องมาจาก หนังวัว หนังควาย และหนังแพะ โดยหนังวัวและหนังแพะใช้กับกลองที่ใช้มือตี เพราะเป็นหนังค่อนข้างบางและมีเสียงกังวาน ส่วนหนังควายที่มีความหนาต้องใช้กับกลองเพล ซึ่งเป็นกลองที่ต้องใช้ไม้ตี 3. เชือก ไว้ใช้สำหรับขึงกลองให้ยึดติดกับหนังและเพื่อยึดรั้งไว้ เพื่อทำให้เกิดเสียงกังวาน และ 4. หมุด หรือ แซ่ ใช้สำหรับยึดกลองเพลกับหนังควายให้ติดกันเพื่อให้เกิดเสียง นอกจากนั้น เป็นอุปกรณ์ช่วยเสริมเพื่อความสวยงาม เช่น ลงสีน้ำมันชักเงา ฯลฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คุณศราวุธ บอกว่า ในปัจจุบันการจัดหาวัสดุมาทำกลองประสบปัญหาบ้างพอสมควรเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป อาจทำให้วัสดุบางชนิดหายากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไม้ที่นำมาผลิตเริ่มหายากขึ้นและมีราคาสูง อีกทั้งขนาดไม้ตามที่ต้องการเริ่มลดลง ส่วนวัสดุประเภทอื่นที่ทำประกอบเริ่มมีราคาสูงขึ้น ตามยุคเศรษฐกิจในปัจจุบัน

คุณศราวุธ เผ่าพยัฆ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเอกราชและเป็นสมาชิกกลุ่มทำกลองในหมู่บ้าน

ความต่างของกลองในแต่ละภูมิภาคเป็นอย่างไร

หากพูดถึงเฉพาะกลองของเอกราช มีประวัติความเป็นมายาวนานและสืบทอดการทำกลองกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ยังคงใช้ความดั้งเดิมในการผลิตแล้วอาจเพิ่มเติมวิวัฒนาการใหม่เข้ามาช่วยให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้น แต่ยังรักษามาตรฐานเดิมโดยไม่ทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไว้

กลองของเอกราช รับรองคุณภาพทุกใบ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของเสียงและรูปลักษณ์ ความประณีต อ่อนช้อย ที่มีครบทุกรูปแบบอยู่ใน “หมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราช” แห่งนี้

ต้อนรับและแนะนำคณะเยี่ยมชมหมู่บ้านทำกลอง ในขั้นตอนการขึ้นกลองเพล

การทำกลองในชุมชนแห่งนี้ตกทอดมาเป็นรุ่นที่เท่าไหร่

ปัจจุบันการทำกลองในชุมชน สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น จนมาถึงในปัจจุบัน ประมาณรุ่นที่ 4-5 ในหลายครัวเรือนยังทำกันอย่างต่อเนื่อง และมีรุ่นที่สืบทอดต่อกันยังรุ่นหลานแล้ว ถึงแม้ว่าในบางครัวเรือนจะหันไปทำอาชีพอื่น เช่น รับราชการหรือทำงานโรงงาน แต่ก็เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ปัจจุบันคนที่สืบทอดรุ่นอายุน้อยสุดน่าจะประมาณ 20-30 ปี ซึ่งเป็นวัยที่พร้อมจะเรียนรู้ และได้นำวิวัฒนาการใหม่หลายอย่างเข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำกลองมากขึ้น โดยในปัจจุบันยังมีผู้ประกอบอาชีพทำกลองในหมู่บ้านอยู่ประมาณ 30 ครัวเรือน

พิธีมอบกลองยาว เพื่อใช้ในวงกลองยาวของเยาวชนในพื้นที่ตำบลเอกราช

การตลาด

คุณศราวุธ เผยว่า การทำกลองขายในแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับยอดการสั่งซื้อจากลูกค้าเป็นส่วนใหญ่ แล้วผลิตบางส่วนสำหรับไว้โชว์หน้าร้าน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาเยี่ยมชมหมู่บ้าน

ในด้านราคาขายจะถูกกำหนดจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยจะมีการกำหนดราคากลองแต่ละชนิด เป็นราคากลางขึ้นมา แต่การสั่งทำพิเศษจากลูกค้าก็เป็นปัจจัยผันแปรที่ทำให้ราคาสูงต่ำไม่เท่ากัน จึงเน้นกำหนดราคาด้วยคุณภาพของสินค้า

สำหรับลูกค้าที่เข้ามาซื้อกลอง ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ คนเล่นดนตรีไทย ดนตรีสากล วงกลองยาว รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในชุมชนแห่งนี้

หมู่บ้านทำกลองเอกราชไม่ได้ผลิตและขายกลองให้กับคนไทยภายในประเทศเท่านั้น แต่ด้วยศักยภาพและมาตรฐานการทำงานของกลุ่มยังได้โอกาสผลิตกลองของต่างประเทศด้วย โดยประเทศที่สั่งผลิตและเป็นลูกค้าประจำ ได้แก่ ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา หรือประเทศในแถบแอฟริกา ประเทศจีน ประเทศเกาหลี และประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง เช่น ประเทศลาว ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์

สาธิตการขึ้นกลองยาวเล็ก

แนวโน้มความนิยมใช้กลองจะเป็นอย่างไร

คุณศราวุธ กล่าวว่า แนวโน้มความนิยมการใช้กลองในปัจจุบัน ยังถือว่าเป็นที่นิยมของกลุ่มคนเล่นดนตรีอยู่เป็นจำนวนมาก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมสืบทอดกันมา แนวโน้มความนิยมไทยก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะเป็นเฉพาะกลุ่ม แต่เด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยยังคงให้ความสนใจกับกลอง ตลอดจนเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่นเพราะเห็นว่าเป็นศิลปวัฒนธรรมของไทยที่มีเอกลักษณ์ของชาติ

กลองยาว นับว่ามีคุณค่าทางวัฒนธรรมศิลปะของชาติไทย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวไทยมายาวนาน แม้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคนี้ทำให้การนำกลองยาวมาใช้ในกิจกรรมลดลง แต่ยังมีความน่าดีใจที่มีการสืบทอดการตีกลองยาว รวมถึงการแสดงรำกลองยาว โดยนักเรียน นิสิตนักศึกษา ในสถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนที่สนใจในกลองยาว อีกทั้งยังคงมีการนำกลองยาวไปใช้ขบวนแห่หรือมีการใช้กลองยาวมาแสดงในงานรื่นเริงอยู่ในทุกภูมิภาค

สอบถามรายละเอียดแวะเวียนไปเที่ยวชมกลองยาวได้ที่ หมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง fb :​ องค์การบริหารส่วนตำบลเอกราช   ​

ขอบคุณ : องค์การบริหารส่วนตำบลเอกราช