“ต้นผักขมหิน” ไม่ใช่วัชพืช เก็บมาทำยา และอาหารได้

คอลัมน์ เก็บป่ามาฝากเมือง โดย กุมิสบ๊ะ รงโซะ เขียนถึงต้นผักขมหิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Boerhavia Diffusa L. วงศ์ NYCTAGINACEAE

ต้นผักขมหิน หรือที่ นางนิปะห์ นิเฮง หมอยาสมุนไพรบ้านอีนอ ตำบลลาโละ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส จะรู้จักและเรียกชื่อในภาษามลายูถิ่นคือ ต้นบายังตือเลาะ (Bayang Telak) หมายถึง ต้นผักโขมที่แผ่ปกคลุมดิน หรือมีอีกชื่อที่ใช้เรียกกันคือ ต้นบายังตาเนาะห์ (Bayang tanah) หมายถึง ต้นผักโขมดิน จัดเป็นต้นพืชสมุนไพรที่มีขึ้นทั่วไปตามป่าข้างทาง หรือที่รกร้างต่างๆ ซึ่งปัจจุบันน้อยคนนักที่จะรู้จักต้นพืชชนิดนี้ และอาจมองว่า เป็นหนึ่งในต้นวัชพืชแล้วด้วยซ้ำไป เพราะไม่ค่อยมีคนเก็บเพื่อนำมาใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลายดังเช่นในสมัยก่อนกัน

สำหรับแม่หมอนิปะห์ นิเฮง นั้น ท่านได้เล่าว่า ปัจจุบันต้นผักขมหินนั้นจะค่อนข้างหายากมาก พื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งเก็บเกี่ยวนั้น ได้มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ เข้ามาแทนที่ แต่ท่านก็จะชอบเก็บต้นผักขมหินทุกครั้งเมื่อมีโอกาสพบเจอ ซึ่งท่านได้นำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านอาหารและยารักษาโรค เช่น นำมาแกงเลียง แกงกะทิ ลวกต้มจิ้มน้ำพริกบูดู รับประทานเป็นผักกับข้าว เป็นต้น

ส่วนการใช้ในด้านยารักษาโรคนั้น ท่านเล่าว่า สามารถนำมาใช้รักษาอาการผื่นแดงที่ขึ้นตามตัวในเด็ก แก้ไข้หัด แก้ไข้ตัวร้อน รักษาฝี แก้แผลฟกช้ำดำเขียว รักษาโรคไต บรรเทาอาการปวดของโรคนิ่วในไต ขับปัสสาวะ และอื่นๆ เป็นต้น

ตำรับต่างๆ ที่ใช้สำหรับรักษาโรคต่างๆ เหล่านี้นั้น เคยมีการนำมาใช้ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษสืบทอดกันมาอย่างยาวนานแล้ว นอกจากนี้ ต้นผักขมหินก็ยังสามารถนำมาปลูกเพื่อประดับสวนรอบบริเวณบ้านให้มีความสวยงามน่าอยู่ได้อีกด้วย

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2565


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354