“กรมวิทย์” อัพห้องปฏิบัติการ ตรวจ “เห็ดพิษ” ระดับโมเลกุล

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน นพ. สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แต่ละปีห้องปฏิบัติการพิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับตัวอย่างเห็ดพิษจากทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถแยกความแตกต่างของเห็ดพิษได้จากลักษณะภายนอก เพราะเห็ดพิษและเห็ดกินได้บางชนิดคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะระยะดอกอ่อน ขณะที่จากการประเมินสถานการณ์กินเห็ดพิษในประเทศไทยในรอบ 10 ปี (พ.ศ. 2551-2560) พบอุบัติการณ์ดังกล่าวมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเห็ดพิษที่กิน อาทิ เห็ดระโงกหิน เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เห็ดขี้วัว เห็ดน้ำหมึก เป็นต้น

“การตรวจเห็ดว่ามีพิษหรือไม่นั้น ต้องอาศัยเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ขณะนี้ห้องปฏิบัติการพิษวิทยาได้พัฒนาวิธีการตรวจจำแนกชนิด (species) ของเห็ด โดยใช้ดีเอ็นเอ บาร์โค้ด ซึ่งมีลักษณะจำเพาะของการเรียงตัวของลำดับนิวคลีโอไทด์ทั้งเห็ดพิษและเห็ดกินได้ เนื่องจากให้ผลวิเคราะห์ที่มีความจำเพาะ (specificity) และความไว (sensitivity) สูง อีกทั้งยังช่วยค้นพบสายพันธุ์เห็ดพิษที่ไม่เคยมีรายงานการพบในประเทศไทย ทำให้มีฐานข้อมูลของดีเอ็นเอ บาร์โค้ด สำหรับเห็ดพิษที่มีความสำคัญทางการแพทย์ของประเทศ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงสายพันธุ์เห็ดพิษในกรณีเกิดการระบาดจากเห็ดพิษ ปัจจุบันได้ข้อมูลดีเอ็นเอ บาร์โค้ด มากกว่า 200 ฐานข้อมูล และเมื่อฐานข้อมูลสมบูรณ์มากขึ้นจะสามารถจัดทำฐานข้อมูลอ้างอิงในระดับพันธุกรรมโมเลกุล (DNA barcode reference) ของเห็ดพิษต่อไป” นพ. สุขุม กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน