นวัตกรรมเกษตรเพื่อชุมชน ผลงาน วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

“วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี” สังกัด สถาบันอาชีวศึกษาภาคใต้ 1 นับเป็นหนึ่งในองค์การวิชาชีพระดับอาชีวศึกษาระดับแนวหน้าของประเทศไทย เปิดให้บริการความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี (ทล.บ.) มาอย่างต่อเนื่อง

นายสิรวิชญ์ ธนเศรษฐวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

นายสิรวิชญ์ ธนเศรษฐวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษาและชุมชนท้องถิ่น เพื่อก้าวไปสู่การเผชิญกับความท้าทายในโลกอาชีพในศตวรรษที่ 21 เป็นคนดี คนเก่ง และคนมีความสุขที่แข็งแกร่งไปพร้อมๆ กัน วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี มุ่งบริหารงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษากับชุมชนและสังคม โดยเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้แก่ชุมชนสังคม และนำผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากฝีมือของนักเรียน นักศึกษา มาช่วยแก้ปัญหาการประกอบอาชีพของชุมชนสู่ความยั่งยืน วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้รับรางวัลพระราชทานโล่ทองคำ การจัดการศึกษา ระดับอาชีวศึกษาได้อย่างมีคุณภาพดีเยี่ยมแล้ว ยังได้รับรางวัลจากการประกวดแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมในระดับชาติ และนานาชาติ ตอกย้ำบทบาท “วิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์”

พิธีส่งมอบตู้อบและรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ

เมื่อเร็วๆ นี้ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มอาชีพจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต้อนรับ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคณะ ประกอบด้วยตัวแทนสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา (สวพ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลงานสิ่งประดิษฐ์ชั้นเลิศของวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานีสู่นวัตกรรมชุมชน ภายใต้โครงการเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เพื่อเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม อาทิเช่น เตาอบโอ่งและรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ เครื่องตากแห้งกะปิแบบโรตารี่ ใช้พลังงานความร้อนร่วมแบบกึ่งอัตโนมัติ ตอบโจทย์ในมิติสุขภาพ และการพัฒนาอาชีพ ช่วยยกระดับคุณภาพกะปิ และสร้างความปลอดภัยอาหารให้กับชุมชน

ทีมนักประดิษฐ์เตาอบโอ่งและรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ

  

เตาอบโอ่งและรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ

ปลาเม็ง ถือเป็นปลาประจำท้องถิ่นของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เกษตรกรนิยมเลี้ยงปลาเม็งอย่างแพร่หลายริมแม่น้ำตาปีและร่องสวนปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่อำเภอบ้านนาเดิม บ้านนาสาร พระแสง และเคียน ปลาเม็งเป็นปลาที่มีรสชาติดี มีลักษณะเฉพาะที่มีเนื้อเหนียวเป็นเส้น ไม่เปื่อยยุ่ย และมีรสชาติหอม หวาน สินค้าขายดี เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะยำปลาเม็ง และต้มโคล้งปลาเม็ง อาหารขึ้นชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ราคาปลาเม็งสด ขายในราคา กิโลกรัมละ 400-600 บาท เมื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาเม็งตากแห้ง ปลารมควัน ขายได้ในราคา กิโลกรัมละ 2,400-3,500 บาท เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารเมนูยำปลาเม็ง โดยใช้เนื้อปลาเม็ง 1 ขีด สามารถขายได้ในราคา 400 บาท

ผู้บริหารคณะกรรมการการอาชีวศึกษาถ่ายรูปกับนักศึกษา

กระบวนการแปรรูปปลาเม็งสดเป็นปลาเม็งตากแห้ง ปลารมควันแบบดั้งเดิม โดยนำมาปลาเม็งสดมาใส่เกลือเพื่อให้ปลาตาย หลังจากนั้นนำมาเสียบไม้นำไปตากแดด และนำไปรมควันบนตระแกรงเหล็กโดยใช้เชื้อเพลิงจากเปลือกกะลามะพร้าว หรือไม้ยางพารา ประสบปัญหาสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก หากใช้ระบบแก๊สหรือไฟฟ้าก็สิ้นเปลืองพลังงานมาก และใช้เวลาในการอบควันนาน 3 วัน ต้องคอยพลิกกลับตลอดเวลา ทำให้ผลิตภัณฑ์ปลาเม็งรมควันแห้งไม่สม่ำเสมอ และปลาที่รมควันไหม้เสียหายจนไม่สามารถขาย หรือนำไปรับประทานได้ นอกจากนี้ กระบวนการแปรรูปแบบเปิดเพื่อรมควันปลา ทำให้ควันกระจายก่อให้เกิดมลพิษ PM 2.5 ติดตามมา

ผู้ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้แก่ นายภานุวัตร นุ่นแก้ว นายทินกร บุญธรรม นายกิตติศักดิ์ จงเกาะกลาง นายภัทรพล ชูณรงค์ และ นายเกียรติศักดิ์ เส้งพัฒน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงเกิดแนวคิดแก้ปัญหาโดยใช้พลังงานโซล่าเซลล์เข้ามาใช้ในกระบวนการแปรรูปเพื่อประหยัดพลังงาน

นวัตกรรมนี้ช่วยให้ชาวบ้านผลิตกะปิได้ทุกฤดูกาล

จุดเด่นของผลงานนวัตกรรม ประกอบด้วย ส่วนตู้อบแบบโอ่งดินเผาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร x สูง 60 เซนติเมตร และชุดหมุนเวียนความร้อนเพื่อการประหยัดพลังงาน ขนาด 10×10 50 เซนติเมตร (กxยxส) น้ำหนักรวม 100 กิโลกรัม ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติในการควบคุมระบบ ใช้ต้นพลังงานจากโซล่าเซลล์อบและรมควันปลาเม็งครั้งละไม่น้อยกว่า 3 กิโลกรัม

ต่อมา วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี โดย นายเกียรติศักดิ์ เส้งพัฒน์ และคณะ ได้ออกแบบและพัฒนาตู้อบและรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อการผลิตระดับชุมชน โดยจุดเด่นของผลงานชิ้นนี้คือ สามารถอบแห้งและรมควันได้ในเครื่องเดียว ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงและพลังงาน ทดแทนการตากแดดและรมควันบนตะแกรงระบบเปิด ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ สามารถผลิตในช่วงที่ไม่มีแสงแดดหรือฝนตกได้ โดยกำลังการผลิต 30 กิโลกรัมสด ใช้เวลาอบและรมควัน 12 ชั่วโมง จะได้ปลารมควันแห้งน้ำหนัก 10 กิโลกรัม

สินค้าขายดี ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากปลาเม็ง

ปลายปี 2564 วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ร่วมกับกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันไทย-เยอรมัน ส่งมอบอุปกรณ์และถ่ายทอดเทคโนโลยี “ตู้อบและรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ” ให้แก่ วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทราย  อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ชุมชนแห่งนี้แปรรูปปลาได้ง่ายขึ้น ลดระยะเวลาการทำงาน และลดการฟุ้งกระจายของควัน ช่วยพัฒนาต่อยอดสินค้าอัตลักษณ์ชุมชนแบบครบวงจร ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านสำหรับจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน

นายสิรวิชญ์ ธนเศรษฐวงศ์ เยี่ยมชมนวัตกรรมตู้อบและรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ

 

เครื่องตากแห้งกะปิแบบโรตารี่

เครื่องตากแห้งกะปิแบบโรตารี่ เป็นผลงานนวัตกรรมที่ใช้พลังงานความร้อนร่วมแบบกึ่งอัตโนมัติ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการผลิตกะปิ สินค้าชุมชนพื้นบ้านของกลุ่มเกษตรกรแปรรูปอาหารทะเลตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน สะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ขณะเดียวกันชุมชนแห่งนี้สามารถผลิตกะปิได้ทุกฤดูกาลจากการใช้พลังงานความร้อนร่วม ลดปัญหาสิ่งเจือปนในกะปิ ลดการเสียหายจากกระบวนการผลิต สามารถเพิ่มมูลค่าจากการจำหน่ายสินค้าเชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและส่งออก

นวัตกรรมเครื่องตากแห้งกะปิแบบโรตารี่ ใช้พลังงานความร้อนร่วมระบบกึ่งอัตโนมัติ ช่วยแก้ปัญหาในกระบวนการผลิตขั้นตอนที่ 1 คือ การตากกุ้งเคย และกระบวนการผลิตขั้นตอนที่ 3 ในการตากแห้งกะปิสด ซึ่งถือเป็นกระบวนการผลิตที่สำคัญที่สุด ส่งผลต่อคุณภาพและรายได้ของชุมชน นวัตกรรมเครื่องตากแห้งกะปิ มีหลักการทำงานโดยสังเขป ดังนี้

เครื่องตากแห้งกะปิแบบโรตารี่
  1. ใช้พลังงานความร้อนร่วม คือ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในขณะที่มีแสงแดดปกติและใช้ความร้อนจากเชื้อเพลิงแก๊สแบบอินฟาเรดขณะที่ไม่มีแสงแดด หรือในช่วงฤดูฝน
  2. ภายในตัวเครื่องจะมีชั้นวางสำหรับตากกะปิแบบตาข่าย จำนวน 4 แผง ที่มีระบบหมุนเพื่อสลับแผงตากกะปิให้อยู่ด้านบนและด้านล่างสลับกันเพื่อให้กะปิแต่ละแผงได้รับความร้อนในปริมาณที่เท่ากันและป้องกันน้ำเคยหยดลงสู่แผงล่าง
  3. แผงตากกะปิ สามารถพลิกสลับด้านก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งบนและพลิกกลับอีกด้านเมื่อเลื่อนลงสู่ตำแหน่งล่าง โดยมีระบบกลไกภายในตัวเครื่องเป็นตัวควบคุมและเมื่อพลิกสลับด้านจะมีกลไกในการล็อกตำแหน่งป้องการการพลิกของแผง
  4. มีเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้นในตัวเครื่องเพื่อส่งสัญญาณไปยังมอเตอร์เพื่อให้ปรับลดหรือเพิ่มความเร็วรอบในการหมุนของแผงตากกะปิ
  5. มีระบบโซล่าเซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในระบบการเปิด-ปิดพัดลม
  6. ด้านล่างของเครื่องจะทำเป็นแบบลาดเอียงเพื่อให้น้ำเคยที่หยดจากการตากกะปิไหลรวมลงสู่ภาชนะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นน้ำปลาหรือน้ำเคยสำหรับประกอบในการทำอาหาร

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามสาระความรู้และผลงานต่างๆ ของ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้ที่ Facebook : งานประชาสัมพันธ์ วท.สุราษฎร์ธานี หรือ เพจ : วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี หรือทางเว็บไซต์ : Error! Hyperlink reference not valid.เบอร์โทรศัพท์ 077-272-168 ในวันและเวลาราชการ