เกษตรกรหญิงเมืองอุบล ปลูกเบญจมาศ ตัดดอกส่งขาย ตลาดต้องการ มีรายได้ทั้งปี

เบญจมาศ เป็นพรรณไม้ล้มลุก มีลำต้นสูงได้ประมาณ 1-3 ฟุต การแตกกิ่งก้านแตกไม่มาก ซึ่งตามกิ่งก้านและลำต้นจะมีขนละเอียดอยู่ ลักษณะใบของเบญจมาศจะมีลักษณะใบเรียวรี ขอบใบหยัก ใบอ่อนและมีขนอ่อนๆ อยู่ทั่วทั้งใบ มีสีเขียว โดยใบที่มีลักษณะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่ที่สายพันธุ์เป็นหลัก โดยเบญจมาศมีการผสมแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ย่อยอีกมากมาย ซึ่งดอกก็มีด้วยกันหลายสีและขนาดของดอกแตกต่างกันไป พร้อมทั้งมีดอกที่ซ้อนกันจะมากหรือน้อยแล้วแต่สายพันธุ์ สีดอกเบญจมาศหลักๆ จะประกอบไปด้วย สีแดง สีชมพู สีขาว สีเหลือง ฯลฯ

เบญเหลือง หรือ เรย์
สายพันธุ์ใหม่

เบญจมาศเป็นไม้กลางแจ้งที่ต้องการแสงแดดจัด นิยมปลูกกันเป็นแนวตามริมรั้วหรือริมทางเดิน ซึ่งการปลูกก็จะปลูกในดินร่วนผสมอินทรียวัตถุ เพราะจะทำให้ออกดอกดกและสวยงาม ในบ้านเราด้วยความที่มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อความศรัทธา ดอกเบญจมาศจึงเป็นไม้ดอกที่นำมาบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้ตลาดไม้ดอกในบ้านเรามีความต้องการดอกเบญจมาศ ส่งผลให้มีการปลูกเป็นเบญจมาศตัดดอกในหลายพื้นที่

คุณนภัสวรรณ เมณะสินธุ์ อยู่บ้านเลขที่ 105 หมู่ที่ 3 บ้านตาติด ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เล็งเห็นถึงความต้องการของเบญจมาศตัดดอก ทำให้เธอตัดสินใจมาปลูกเพื่อสร้างรายได้ พร้อมทั้งมีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกเบญจมาศตัดดอกที่เข้มแข็ง จึงสามารถมีผลผลิตส่งลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง เกษตรกรในพื้นที่เกิดรายได้ที่ยั่งยืน

การปักชำให้เกิดต้นใหม่
คุณนภัสวรรณ เมณะสินธุ์

จากพนักงานบริษัท
กลับบ้านเกิดมาทำเกษตร 

คุณนภัสวรรณ เล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีทำงานเป็นพนักงานบริษัทอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ในเวลาต่อมาเริ่มรู้สึกเบื่อกับการทำงานอยู่ในเมืองใหญ่ จึงได้ตัดสินใจลาออกและย้ายมาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นจึงได้เรียนรู้ในเรื่องของการทำเกษตร โดยในช่วงแรกจะเน้นเป็นพืชไร่ที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิมคือ ไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง สวนยางพารา ต่อมาเมื่อเห็นว่ามีในพื้นที่มีการปลูกเบญจมาศกัน เธอจึงได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนมาปลูกเบญจมาศ พร้อมทั้งศึกษาการปลูกอย่างจริงจังจนประสบผลสำเร็จ สามารถเกิดรายได้มาจนถึงทุกวันนี้

เบญขาว หรือ ขาวญี่ปุ่น
มัมมาเล

“ประเทศเรามีการใช้ดอกไม้เป็นจำนวนมาก เพราะอย่างแรกเลยคือการนำไปไหว้บูชาสถานที่ต่างๆ ยังไงก็น่าจะขายได้ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำเบญจมาศตัดดอก โดยสายพันธุ์ก็มีซื้อเข้ามาจากแหล่งอื่นๆ บ้าง และบางส่วนได้รับสนับสนุนต้นพันธุ์เบญจมาศปลอดโรคจากทีมวิจัยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงค์ จันจุฬา และทีมวิจัย เป็นผู้ดูแลโครงการทำให้การปลูกเบญจมาศมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถมีต้นพันธุ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ในการสร้างรายได้” คุณนภัสวรรณ บอก

เบญจมาศนำมาปักชำ
สร้างเกิดต้นใหม่ได้

สำหรับในเรื่องของการปลูกและขยายพันธุ์เบญจมาศนั้น คุณนภัสวรรณ เล่าว่า เมื่อต้องการปลูกเบญจมาศในแปลงใหญ่ จะทำการนำยอดใหม่ที่ได้จากต้นตอเดิมมาปักชำ เพื่อให้ได้ต้นใหม่ที่สมบูรณ์สามารถนำไปสร้างเป็นแม่พันธุ์ใหม่ได้ วัสดุที่ทำการเพาะชำจะเป็นพีทมอสส์ ขี้เถ้าแกลบดำ และขุยมะพร้าว ในอัตรส่วน 1 ต่อ 1 ซึ่งยอดเบญจมาศที่นำมาปักชำจะดูแลให้มีรากสมบูรณ์ใช้เวลาดูแลประมาณ 15 วัน จะย้ายลงไปภายในแปลงปลูกต่อไป

การเตรียมแปลงปลูกเบญจมาศจะทำการเตรียมแปลง โดยใช้รถพรวนดินไถแปลงให้ดินร่วนเหมาะสมต่อการปลูก จากนั้นตากทิ้งไว้ประมาณ 3-7 วัน โดยแปลงสำหรับปลูกเบญจมาศนั้นจะมีความสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ส่วนความกว้างและความยาวของแปลงจะปลูกอยู่ที่ 1×20 เมตร และระยะห่างระหว่างแปลงอยู่ที่ 50 เซนติเมตร

พื้นที่ปักชำ

“การนำต้นเบญจมาศที่ปักชำไว้มาปลูก ก็จะให้มีระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 1 คืบ หรือ 1 แปลงสามารถปลูกได้ประมาณ 1,000-1,200 ต้น ในระยะนี้จะมีการรดน้ำทุกวัน จากนั้นเมื่อปลูกลงแปลงได้อายุ 15-20 วัน จะใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 หรือสูตรเสมอ 16-16-16 ในอัตราส่วน 2-3 กิโลกรัมต่อแปลง ประมาณ 3 ครั้ง ทุก 20-30 วัน พร้อมกับใส่ปุ๋ยคอกผสมเข้าไปบ้าง โดยต้นเบญจมาศถ้าเป็นสายพันธุ์ดอกเดี่ยวจะแต่งกิ่งให้เหลือต้นละ 1 ดอก เพื่อให้ได้ดอกที่ใหญ่ ส่วนต้นที่เป็นสายพันธุ์ดอกช่อ ถ้ามีกิ่งช่อดอกออกมามากจะตัดแต่งให้ 1 ต้นมีอยู่ประมาณ 7 กิ่งหรือ 7 ดอกเป็นอย่างต่ำ ไม่เกินนี้ อายุประมาณ 3-4 เดือนก็สามารถตัดส่งจำหน่ายได้ทันที” คุณ นภัสวรรณ บอก

ในเรื่องของโรคและแมลงศัตรูพืชต้องป้องกันให้กับเบญจมาศที่ปลูกภายในแปลง หลักๆ จะป้องกันในเรื่องของรากเน่าโคนเน่า ส่วนแมลงศัตรูพืชก็จะเน้นป้องกันในเรื่องของหนอนชอนใบเป็นหลัก รองลงมาก็จะเป็นเพลี้ยต่างๆ ต้องทำการป้องกันให้ดีและทันท่วงทีก็จะทำให้เบญจมาศไม่เกิดความเสียหาย

พื้นที่แปลงปลูก

เบญจมาศในสวน
มีลูกค้ารับซื้อถึงในแปลง

สำหรับในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายเบญจมาศนั้น คุณนภัสวรรณ บอกว่า จะมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงในสวน โดยภายในพื้นที่นี้มีการทำแปลงใหญ่ของผู้ปลูกดอกเบญจมาศ จึงทำให้การส่งจำหน่ายในแต่ละปีให้กับลูกค้ามีความต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาติดต่อซื้อก็จะมีในพื้นที่หลายๆ จังหวัด รวมไปถึงตลาดที่อยู่ภายในกรุงเทพมหานครด้วยเช่นกัน

โดยเบญจมาศตัดดอกเฉลี่ย 1 แปลง น้ำหนักจะได้อยู่ที่ 60-80 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่อรอบการผลิตจะผลิตขั้นต่ำอยู่ที่ 10 แปลง เพื่อให้สามารถมีดอกเบญจมาศส่งจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งภายในกลุ่มมีการวางแผนการปลูกที่ชัดเจน จึงทำให้เบญจมาศตัดดอกในพื้นที่นี้ทำตลาดและปริมาณได้อย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

พื้นที่ปักชำ

“ตลาดเบญจมาศก็ถือว่าไปได้ดีนะคะ เพราะตลาดยังมีความต้องการ ที่สวนของเราถือว่ายังได้กำไรดี เพราะเราทำกันเองภายในครอบครัว จึงทำให้ต้นทุนการผลิตอื่นๆ เราไม่ได้เสียไป เพราะฉะนั้นคนที่จะทำเบญจมาศเป็นอาชีพ ก็อยากจะบอกว่า อย่างแรกเลยต้องมีองค์ความรู้ที่จะทำเบญจมาศก่อน จะมองว่าง่ายก็ไม่ง่าย จะมองว่ายากก็ไม่เชิง แต่มันค่อนข้างมีอะไรให้เราต้องเรียนรู้อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นก็ต้องดูแลเอาใจใส่ค่อนข้างมาก แต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็ถือว่าคุ้มค่าแน่นอน” คุณนภัสวรรณ บอก

 

การจัดส่งลูกค้า

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการปลูกเบญจมาศ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณนภัสวรรณ เมณะสินธุ์ หมายเลขโทรศัพท์ 063-512-9229

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2565