นาแปลงใหญ่ ปทุมธานี ต้นแบบผลิตข้าวอินทรีย์ ต้นทุนต่ำ

จังหวัดปทุมธานี นับเป็นหนึ่งในทำเลทองของการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ภาคกลาง เพราะมีแหล่งน้ำชลประทานที่อุดมสมบูรณ์มากถึง 683,124 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด พื้นที่การเกษตรทั้งหมดของจังหวัดปทุมธานี มีเนื้อที่ประมาณ 343,601 ไร่ ซึ่งข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ มีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุด 311,184 ไร่  รองลงมาเป็นการปลูกพืชอื่นๆ ผสมผสานกัน ได้แก่ หญ้าปูสนาม ตะไคร้ กล้วยหอม มะระจีน ถั่วฝักยาว ฯลฯ

ระบบเลเซอร์

จากสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินและมีระบบชลประทานที่เพียงพอสำหรับเพาะปลูกพืช ทำให้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดตลอดทั้งปี แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาด้านการผลิต เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร จังหวัดปทุมธานีจึงส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสม ลดต้นทุนการผลิตพืชได้แบบครบวงจร ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสู่ตลาดโลก

   

วิสาหกิจชุมชนเพราะรักกสิกรรม

“วิสาหกิจชุมชนเพราะรักกสิกรรม” เป็นหนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จด้านการผลิตและจำหน่ายข้าวแบบครบวงจร ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนเพราะรักกสิกรรม ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 17 หมู่ที่ 2 ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เดิมทีเกษตรกรกลุ่มนี้ทำนาโดยใช้สารเคมีต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งระบบนิเวศ ปุ๋ยและสารเคมีมีราคาสูง ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รวมทั้งประสบปัญหาดินขาดสารอินทรียวัตถุ

วิสาหกิจชุมชนเพราะรักกสิกรรม เข้าร่วมโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น
ตัวแทนกลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ ที่เข้าร่วมโครงการ Thai Rice NAMA

คุณชาตรี ระดมเล็ก เป็นแกนนำชักชวนญาติพี่น้อง และเพื่อนสนิทจัดตั้งกลุ่มขึ้น โดยหาความรู้และวิธีการ การทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี จากการเข้ารับการอบรมตามโครงการต่างๆ ที่หน่วยงานภาคการเกษตรจัดขึ้น รวมทั้งศึกษาหาความรู้ด้านเกษตรด้วยตัวเองผ่านสื่อโซเชียลและศึกษาดูงานความสำเร็จของการทำนาอินทรีย์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้มีประสบการณ์จริง และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับการทำนาของกลุ่ม

วิสาหกิจชุมชนเพราะรักกสิกรรม พยายามลดต้นทุนการผลิตควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตโดยเริ่มจากการปลูกพืชตระกูลถั่ว ประเภทปอเทือง เพื่อบำรุงดิน ทำปุ๋ยหมักสลับกับการปลูกถั่วเขียว และเลือกใช้พันธุ์ข้าวตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ เลือกใช้น้ำส้มควันไม้และสารชีวภัณฑ์ เช่น บิวเวอเรีย ฮอร์โมนไข่ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง จุลินทรีย์หน่อกล้วย ฯลฯ แทนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและแมลง ทำให้สามารถลดต้นทุน 30-70% และส่งผลต่อความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค รวมถึงระบบนิเวศในชุมชน ขณะเดียวกันทางกลุ่มปลูกข้าวอินทรีย์บรรจุถุงขายตรงถึงผู้บริโภค ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง

คุณชาตรี ระดมเล็ก ประธานวิสาหกิจชุมชนเพราะรักกสิกรรม
มีรายได้เสริมจากขายก้อนฟางข้าว เฉลี่ยไร่ละ 750 บาท

 

ข้าวอินทรีย์ ปลูกเอง ขายเอง

ปัจจุบัน คุณชาตรี ระดมเล็ก รับหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกจำนวน 37 ราย มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 910 ไร่ โดยสายพันธุ์ข้าวที่ปลูก ได้แก่ ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว เดือนกันยายน ข้าวพันธุ์ กข 43 ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว เดือนกันยายน ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว เดือนพฤศจิกายน ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว เดือนกันยายน ข้าวพันธุ์สินเหล็ก ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว เดือนพฤศจิกายน

ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ เข้าสู่ระบบนาแปลงใหญ่ของจังหวัดปทุมธานี เน้นปลูกข้าวอินทรีย์ ด้วยระบบการจัดการด้านการเกษตรแบบองค์รวม ที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศ วงจรชีวภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพ เน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ หลีกเลี่ยงวัตถุดิบที่ได้จากการสังเคราะห์ และไม่ใช้พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่ได้มาจากการดัดแปรพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรม มีการจัดการกับผลิตภัณฑ์โดยเน้นการแปรรูปด้วยความระมัดระวังเพื่อรักษาสภาพการเป็นเกษตรอินทรีย์ และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน จึงปลอดภัยและมีคุณภาพดี ผ่านการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand หากใครสนใจอยากซื้อสินค้าหรืออยากเยี่ยมชมกิจการข้าวอินทรีย์ ของวิสาหกิจชุมชนเพราะรักกสิกรรม สามารถติดต่อกับ คุณชาตรี ระดมเล็ก บ้านเลขที่ 17 หมู่ที่ 2 ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โทรศัพท์ 086-614-2800

 

ปรับพื้นที่นา ด้วยเลเซอร์

ช่วยลดต้นทุนการผลิต

ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพราะรักกสิกรรม เข้าร่วมโครงการ นาแปลงใหญ่ ของกรมการข้าว โดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ และการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อช่วยลดต้นทุนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพสินค้าไปพร้อมๆ กัน เช่น การใช้ปุ๋ยสั่งตัด การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ รวมทั้งโครงการปรับพื้นที่ด้วยเลเซอร์ (Laser Land Levelling : LLL) เป็นต้น

เนื่องจากการทำนาข้าวเป็นกิจกรรมการเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 55% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของโลก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ การขังน้ำในนาข้าวในพื้นที่เขตนาชลประทาน ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งมีศักยภาพการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 28 เท่า

รถแทรกเตอร์กำลังปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์

ดังนั้น กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จึงร่วมกันดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ไทย ไรซ์ นามา) โดยสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยเข้าถึงเทคโนโลยีการทำนาลดโลกร้อน ชูมาตรการทางการเงิน “คน-ละ-ครึ่ง” ช่วยเหลือเกษตรกรเข้าถึงการปรับระดับพื้นที่นา ด้วยระบบเลเซอร์ และการจัดการฟางข้าวและตอซังข้าว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตข้าวของไทย

กรมการข้าว แนะนำให้เกษตรกรทำนาแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหลักการสำคัญ ประกอบด้วย เทคโนโลยี 4 ป. คือ ปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ เปียกสลับแห้ง ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และแปรสภาพฟางและตอซังข้าว ทั้งนี้ การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ จะเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเกษตรกรใช้เทคโนโลยีอื่นเข้าร่วมด้วย เช่น ลดการใช้น้ำและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้สูบน้ำด้วยการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ลดอัตราการสูญเสียปุ๋ย และข้าวได้รับปุ๋ยสม่ำเสมอทั่วกันทั้งแปลงนาจากการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

ผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชนเพราะรักกสิกรรม

กรมการข้าว ดำเนินโครงการไทย ไรซ์ นามา นำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี เเละสุพรรณบุรี โดย GIZ สนับสนุนเงินทุน จำนวน 300 กว่าล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรเเละสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเงินทุน โดยสนับสนุนการเงิน 2 รูปแบบ สำหรับเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินอุดหนุน 50% และเงินทุนหมุนเวียนอีก 50% รวมสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท ต่อไร่

ส่วนผู้ให้บริการทางการเกษตรที่ต้องการจัดซื้อชุดอุปกรณ์ปรับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ ( LLL) จะได้รับเงินอุดหนุนถึง 50% ของราคาชุดอุปกรณ์ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ต่อราย นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจร่วมเป็นผู้ให้บริการปรับ LLL ยังสามารถขอรับการอบรมที่โครงการฯ ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

แปลงนาที่ผ่านการปรับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์

หากใครสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เจ้าหน้าที่กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร ธ.ก.ส.ในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงเดือนสิงหาคม 2566