อดีตครูสกลนคร ไม่ท้อ ถูกยึดทรัพย์ แต่สู้…จึงกลับมาเป็นแบบอย่างได้

คุณวงศ์สถิตย์-คุณบุปผา โมราษฎร์

วงศ์สถิตย์-บุปผา โมราษฎร์ อดีตข้าราชการครูลาออก วางชอล์กและไม้เรียว หันมาทำธุรกิจหวังรวย สุดท้าย ล้มเหลว ถูกยึดทรัพย์ จากชีวิตที่แทบหมดตัวหันมาทำเศรษฐกิจแบบพอเพียง สามารถมีทรัพย์สินส่งลูกเรียนหนังสือจนประสบผลสำเร็จได้

มีโอกาสพบกับ คุณร่มไม้ นวลตา เกษตรจังหวัดสกลนคร คุณร่มไม้ แนะนำว่า มีเกษตรกรรายหนึ่ง อยู่ที่ 148 หมู่ที่ 7 บ้านเซือม ตำบลโพนแพง อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร อดีตเป็นข้าราชการครูทั้ง 2 คน สามี-ภรรยา ได้ลาออกจากข้าราชการครู หันมาทำธุรกิจหลายอย่าง แต่สุดท้าย มาเจอพิษเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เมื่อประมาณ ปี 2540 ทำให้ล้มเหลวและถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ชีวิตเร่ร่อน ไม่นอนบ้านกว่า 4 ปี สุดท้าย ได้คิดและหันกลับมาทำเกษตรผสมผสานแบบพอเพียง ในผืนดินที่ร้องขอจากผู้ยึดทรัพย์ ให้โอกาสพลิกพื้นแผ่นดิน 43 ไร่ ของตนเอง ปัจจุบันเป็นศูนย์เรียนรู้ งานเกษตรผสมผสาน หมู เห็ด เป็ด ไก่ นา สวน

บ้านเซือม ไปไม่ยาก ออกจากตัวจังหวัดสกลนคร มุ่งหน้าไปตามถนนสาย สกลนคร-อุดรธานี

ยามหน้าแล้งสองข้างทางมีคลองส่งน้ำจากเขื่อนน้ำอูน ตัดเป็นบางช่วง แต่ไม่มีน้ำในคลอง เนื่องจากเป็นช่วงงดปล่อยน้ำ ทำให้พื้นที่แห้งแล้ง เห็นนาปรังแถวทางผ่านแห้งเหี่ยวตาย เพราะขาดน้ำ

จากตัวเมืองสกลนครออกมา ประมาณ 25 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านดงมะไฟ ที่หมู่บ้านตรงนี้ เป็นหมู่บ้านงานปั้นดินให้เป็นเงิน (ปั้นเตา) ขายกันแทบทั้งหมู่บ้าน ผ่านแยกไฟแดงเลยหมู่บ้านดงมะไฟมา ประมาณ 5 กิโลเมตร จะพบกับสามแยกไฟแดงอีก ที่นี่เรียกกันว่า แยกบ้านสูงเนิน ที่จะไปยังอำเภออากาศอำนวย และทะลุไปถึงอำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ

พอเลี้ยวขวา มุ่งหน้าสู่อำเภออากาศอำนวย ที่ฟังชื่อแล้วน่าไปเยือน มาอีกราว 40 กิโลเมตร ก่อนเข้าตัวอำเภออากาศอำนวย จะพบกับบ้านเซือม ผ่านหน้าโรงเรียนบ้านเซือม ราว 1 กิโลเมตร จะพบกับสามแยก บอกไปอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เลี้ยวซ้ายตามถนนลาดยางมาประมาณ 300 เมตร เห็นป้ายขนาดใหญ่ “ศิริวัฒน์ฟาร์ม” และเข้าไปอีก 100 เมตร เป็นศูนย์เรียนรู้ หมู เห็ด เป็ด ไก่ นา สวน ที่เขีวยขจีไปด้วยพืชผักที่อุดมสมบูรณ์ และมีโรงเรือนดัดแปลงเป็นหอประชุม มีเกษตรกร ชาวบ้าน เข้ามาอบรมเรียนรู้ กว่า 50 คน

 

ก่อนมาเป็นเกษตกร

หลังจากทักทาย รู้จักกันแล้ว คุณวงศ์สถิตย์ โมราษฎร์ เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้อายุ 56 ปีแล้ว เขาเป็นคนในหมู่บ้านมาแต่กำเนิด หลังจากเรียนจบภาคบังคับ ก็เรียนต่อที่วิทยาลัยเกษตรกรรมนครพนม ระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง ทางด้านพืช และในช่วงนั้นก็มีการสอบครู ก็เลยสอบเข้ารับราชการครู มาบรรจุที่อำเภอบ้านเกิด และได้พบกับ คุณบุปผา ภรรยาที่เป็นครูด้วยกัน แต่เป็นคนอำเภอติดกัน โดยมีเวลาว่างก็อาศัยที่จบทางด้านเกษตร ก็มาปลูกต้นไม้ใบหญ้าตามประสา เล็กๆ    น้อยๆ รอบบ้าน ขณะนั้นได้รับเงินเดือนเพียง 2,400 บาท แต่ก็ไม่ถึงกับลำบาก

ผสมผสานได้ดีมาก
ผสมผสานได้ดีมาก

เมื่อประมาณ ปี 2533 ก็ดิ้นรนอยากสร้างฐานะและหาอาชีพเสริม โดยการเป็นพ่อค้าผักสด วิ่งรับซื้อและส่งตลาดในเมือง เริ่มจากอำเภอในบริเวณใกล้เคียง โดยใช้เวลาหลังเลิกสอนหนังสือ และ 2 ปีต่อมา คิดที่อยากจะทำสวนหรือมีที่เป็นของตนเอง จึงรวบรวมเงินได้จำนวนหนึ่ง มาซื้อที่ดินแปลงนี้ 43 ไร่ ราคา 170,000 (หนื่งแสนเจ็ดหมื่นบาท) เป็นผืนดินแรกของชีวิตที่ได้มา โดยอาศัยความรู้ที่จบทางด้านเกษตรมาก่อน ปลูกมะม่วง มะละกอ ลิ้นจี่ กระท้อน ส้มโอ และพุทรา และส่วนหนึ่งขุดบ่อเลี้ยงปลา 2 บ่อ และใช้เป็นแหล่งน้ำ

ไข่เป็ด ขายได้วันละ 2,400 บาท
ไข่เป็ด ขายได้วันละ 2,400 บาท

ในปีนั้น (ปี 2535) ได้รับการชักชวนให้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการขายตรง และมินิมาร์ท น้ำดื่ม น้ำแข็ง โดยกู้เงินกว่า 3 ล้านบาท จากธนาคารแห่งหนึ่ง ในช่วงแรกก็พอไปได้ แต่สุดท้าย เมื่อประมาณ ปี 2540 ประสบวิกฤติ (ฟองสบู่แตก) ธุรกิจล้มกระทบถึงทุกส่วน จึงได้ขอลาออกจากราชการครู พร้อมกับภรรยา หวังพอที่จะนำเงินมาบริหารให้ดีขึ้น แต่ก็ไปไม่รอด สุดท้ายล้ม ตายสนิท ไม่มีโอกาสฟื้น ที่ดินแปลง 43 ไร่ ก็ถูกยึดทรัพย์ไปด้วย

ในที่สุดก็ออกระเหเร่ร่อน นอนตามปั๊มน้ำมัน หาสินค้าไปขาย ไปส่ง 4 ปีเศษๆ ไม่ยอมกลับเข้าบ้าน เพราะโดนฟ้องยึดทรัพย์เตรียมขายทอดตลาด ได้แต่หาเงินจำนวนหนึ่งเพื่อส่งให้ลูกสาวและลูกชายเรียน และคืนหนึ่งขณะที่นอนอยู่ในปั๊ม เปิดวิทยุฟังข่าวและจำได้ว่า เป็นเรื่องที่ในหลวงได้ตรัสเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้นอนไม่หลับทั้งคืน สุดท้าย ชวนภรรยากลับเข้าบ้าน ปรับปรุงที่ดินที่ปล่อยร้างมานานกว่า 4 ปี และจัดทำแผนในการจัดการ เสนอต่อเจ้าของผู้ที่ยึดทรัพย์ แต่เจ้าหน้าที่บางคนวิเคราะห์แล้วหัวเราะว่า จะส่งเงินที่เป็นหนี้ ที่พุ่งสูงขึ้นเป็น 9 ล้าน แล้วได้อย่างไร แต่ก็ไม่หมดกำลังใจ แต่บอกเขาไปว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ให้มาดูว่าจะจริงหรือไม่

คุณวงศ์สถิตย์ บอกอีกว่า ครั้งแรกปลูกผักทุกชนิดที่ไม่ได้ซื้อ เช่น แมงลัก ตำลึง ข่า ตะไคร้ เหลือกิน ก็แบ่งปันเพื่อนบ้าน ตลอดจนนำมาขาย ส่งลูกเรียนหนังสือ และเมื่อ ปี 2546 ถูกธนาคารเจ้าหนี้ ประกาศขายทรัพย์ (ที่ดิน 43 ไร่) ที่มีอยู่ขายทอดตลาด และสุดท้ายกับภรรยาได้ปรึกษาว่าที่ดินนี้เป็นที่ดินได้มาเพราะแรงกายทั้ง 2 คน และไม่ต้องการขาย ไม่มีที่พึ่งแล้ว จึงได้ตัดสินใจทำเรื่อง ทูลเกล้าฯ เพื่อถวายฎีกา ขอชะลอการขาย เมื่อ 2550 และขอเจ้าหนี้เพื่อซื้อคืน และเมื่อ ปี 2552 ลูกสาวได้ขอกู้เงินจากธนาคารแห่งหนึ่ง (ออมสิน) มาชำระได้ 1.3 ล้านบาท 

สุกร
สุกร

อดีตครูกล่าวว่า เมื่อกลับมาที่บ้านครั้งแรก ปี 2547 ได้ตระเวนไปเยี่ยมเพื่อนหลายคน ที่ยังรับราชการ ทั้งเกษตร และข้าราชการครู และหันมาทำการเกษตรอย่างจริงจัง เมื่อเห็นเขาเลี้ยงเป็ด หมู ไก่ ก็ขอขี้หมู ขี้ไก่ จากเพื่อนที่เลี้ยงไว้ มาเพื่อใส่ผักของตนเอง เพื่อนที่จบทางด้านปศุสัตว์ก็บอกว่า ให้ได้แต่ต้องเลี้ยงเองบ้าง ก็บอกเพื่อนว่าตัวเองจบพืช ไม่ได้จบสัตว์ ในที่สุดเพื่อนคนนั้นก็ให้หมูเพศเมียมา 1 ตัว และบอกว่าแล้วค่อยมาคืนเมื่อคลอดลูก

 หลังจากที่ทำอย่างจริงจัง เลี้ยงทั้งเป็ด ไก่ หมู ปลา และพืชยืนต้นที่ให้ผลระยะยาว ส้มโอ มะนาว กระท้อน ส้มเขียวหวาน มะม่วง ฯลฯ อาศัยน้ำจากบ่อที่มีอยู่ และเริ่มมีประชากรสุกรเพิ่มขึ้น และอาศัยที่เคยเรียนมาทางด้านนี้บ้าง จึงไปเรียนรู้จากเพื่อน ผลิตน้ำเชื้อสุกรขาย ในที่สุดเมื่อต้นปี 2557 เพื่อนๆ ที่ยังรับราชการคนหนึ่งแจ้งมาว่า ต้องการนำชาวบ้านมาศึกษาดูงานของตนเอง เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตนถึงกับหัวเราะว่า บ้านซุกหัวนอน ก็เป็นแบบชาวบ้าน และมีแค่โรงเลี้ยงสุกร เลี้ยงเป็ด ไก่ เท่านั้น จะให้พักที่ไหน เพื่อนคนนั้นก็บอกว่าไม่เป็นไร กางเต๊นท์ได้ ในที่สุดก็มีคณะมาศึกษาดูงานเรื่อยมา จึงได้ทำเรื่องขอสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ก็มีการตอบรับว่าไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ แต่ก็มีอาคารอบรม สัมมนา โดยสมบูรณ์ เนื่องจากตั้งแต่นั้นมา ได้เก็บเงินซื้อเสา ซื้ออิฐ ปูน ลงมือทำเอง โดยเฉพาะอาคารที่ประชุมที่เห็น ไม่ทราบราคา เพราะตนเองสร้างมาด้วยเงินครั้งละไม่ถึงหมื่นบาท คือได้เงินมาน้อยก็ซื้ออุปกรณ์มาน้อยและลงมือทำเอง จนกลายมาเป็นอาคารหอประชุมได้ โดยไม่ทราบราคา

เลี้ยงเป็ด
เลี้ยงเป็ด

คุณวงศ์สถิตย์ เล่าอีกว่า ทุนที่ซื้ออุปกรณ์ รวมทั้งลงทุน ส่วนใหญ่ จะหามาได้ ก็นำมาลงทุนต่อ จนสามารถขยายใหญ่ได้ แต่อาศัยที่ตนเองเรียนมาทางเกษตร จึงทำให้เข้าง่ายและปรับตัวได้เร็วขึ้น  

ปัจจุบัน มีการทำบัญชี รายได้ที่เป็นประจำเน้นไปที่ขายน้ำเชื้อสุกร เดือนละ 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) จำหน่ายไข่เป็ด วันละ 2,400 บาท ต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีจำหน่ายพืชผักอีกจำนวนหนึ่ง

บุตรชาย บุตรสาว ของคุณวงศ์สถิตย์ เรียนจบระดับปริญญา

ลูกชายนั้นรับราชการทหาร ส่วนลูกสาว หลังจบก็หันมาทำการเกษตรกับพ่อแม่ เพราะเขาเห็นว่าอาชีพการเกษตรก็สามารถอยู่ได้อย่างสบายๆ หากเรามีแนวทางและนำหลักของในหลวงมาใช้

 

ปัจจุบัน ที่นี่เป็นศูนย์แหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรทั่วไป ที่เดินทางเข้ามาเรียนรู้ศึกษาทุกวัน อย่างน้อย วันละ 50 ราย โดยคุณวงศ์สถิตย์ บอกว่า พร้อมที่จะให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ฟรี กลุ่มหรือหน่วยงานราชการใด จะศึกษาดูงานหรือนำเกษตรกรไปเรียนรู้ ติดต่อที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร หรือเกษตรอำเภออากาศอำนวย หรือที่ คุณวงศ์สถิตย์ โมราษฎร์ โทร. (081) 369-9512 ได้ทุกวัน