ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณจีระศักดิ์ เข้มบุญศรี หรือ พี่เก่ง อยู่บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 9 ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม หนึ่งในเกษตรกรที่จะมาแชร์ประสบการณ์การทำเกษตรบนพื้นที่น้อยอย่างไรให้มีความสุข แถมยังมีเงินเก็บได้ด้วย
พี่เก่ง เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาทำงานด้านการเกษตรตนเองทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อน มีภูมิลำเนาเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ทำให้โหยหาธรรมชาติ อยากได้ยินเสียงนก เสียงกา มากกว่าเสียงรถยนต์ และความแออัดในเมืองหลวง นำไปสู่จุดเริ่มต้นในการตระเวนหาซื้อที่ดินในต่างจังหวัดไว้สักแปลง สำหรับทำที่อยู่อาศัยและเป็นอาชีพรองรับในวัยเกษียณ และในเวลาเพียงไม่นานความฝันก็เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด เพราะปัจจุบันตนเองได้เกษียน ลาออกจากงานในวัยเพียง 40 ปี เพื่อมาเริ่มต้นชีวิตการเป็นเกษตรกรในพื้นที่ที่ตั้งใจซื้อไว้ที่จังหวัดนครปฐม โดยที่ไม่รู้ว่าการตัดสินใจในครั้งนี้จะถูกหรือไม่ แต่ก็อยากลองสู้ดูสักครั้ง ด้วยการตั้งเป้าหมายและบอกกับพ่อแม่ไว้ว่าขอเวลา 6 เดือน ในการพิสูจน์ตนเอง ถ้าหากภายใน 6 เดือน สิ่งที่ตั้งใจทำไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ เหมือนเดิม
แต่จนถึง ณ ตอนนี้นับเป็นเวลาเกือบ 5 ปี ตนเองก็ยังอยู่ที่สวนเหมือนเดิม ก็สามารถบ่งบอกได้ว่าสิ่งที่ตั้งใจทำตอบโจทย์กับวิถีชีวิตที่ต้องการ รวมถึงรายได้ที่ไม่มากแต่กินอิ่มทุกมื้อ และมีความสุขในชีวิตทุกวัน ก็เป็นสิ่งที่การันตีความสำเร็จได้ “ไม่ยิ่งใหญ่ แต่ทำแล้วมีความสุข ถือว่ายอดเยี่ยมที่สุดแล้ว”
พื้นที่เล็กๆ จำนวน 2 งาน
ทำอย่างไร ให้เลี้ยงตัวเองได้
พี่เก่ง บอกว่า การทำเกษตรของตนเองเริ่มต้นจากการเป็นเกษตรกรวันหยุด ยังต้องไป-กลับ ระหว่างกรุงเทพฯ กับนครปฐม ทำให้ต้องเลือกปลูกพืชที่ไม่ต้องดูแลมาก แต่ให้ผลตอบแทนดี ซึ่งพืชที่เลือกปลูกในตอนนั้นคือไผ่กิมซุง เพราะเป็นไผ่สายพันธุ์ที่ออกหน่อได้ตลอดทั้งปี มีปัญหาเรื่องโรคแมลงน้อย เหมาะสำหรับคนมีเวลาน้อย
โดยเริ่มต้นปลูกไผ่กิมซุงจำนวน 10 กอ ซึ่งในช่วงนั้นราคากิ่งพันธุ์มีราคาค่อนข้างสูงถึงกิ่งละ 250 บาท ตนเองจึงเลือกที่จะสร้างรายได้จากการขยายกิ่งพันธุ์ไผ่กิมซุงขาย ใช้เวลาในการขยายพันธุ์ประมาณ 2 ปี ทำขายสร้างรายได้เพียงระยะหนึ่ง เนื่องจากมีคนเริ่มปลูกเยอะ คู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคากิ่งพันธุ์ตกลงเหลือกิ่งละ 10-20 บาท เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพราะถ้าหากยังดึงดันปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการค้าบนพื้นที่เล็กๆ แบบนี้อีกต่อไปคงไม่รอดแน่ จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงเปลี่ยนมาปลูกพืชผสมผสานด้วยการไปปรึกษาหาผู้รู้ในจังหวัดนครปฐมให้ช่วยชี้แนะ รวมถึงการเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนการทำงาน ให้อยู่บนพื้นฐานของความจริงให้มากขึ้น ในเรื่องที่ตนเองมีพื้นที่ผืนเล็กๆ แค่ 211 ตารางวา แต่จะทำยังไงให้สามารถเลี้ยงชีพได้ ก็ต้องเริ่มจากพื้นฐานของการพอเพียงก่อน “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน เหลือกินจึงเก็บขาย
เมื่อคิดได้ก็เริ่มทำตามเป้าหมายที่วางไว้คือการปลูกพืชผักสวนครัวขาย ก็มีรายได้เข้ามา แต่ยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่ กลายเป็นโจทย์อีกข้อที่ต้องกลับมานั่งแก้ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ได้ และคำตอบที่ได้คือการต้องเลือกขายของให้ถูกจุด เปลี่ยนจากการเน้นขายผลผลิตสด มาเก็บเมล็ดพันธุ์ขายแทน แล้วจากนั้นมีการต่อยอดปลูกผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นมาเพื่อสร้างความหลากหลาย
เริ่มจากการร่างโครงสร้างบนกระดาษขึ้นมาก่อนเพื่อให้เห็นภาพ ว่าในพื้นที่แต่ละจุดควรจะเลี้ยงหรือปลูกอะไรเพื่อให้เกื้อกูลกันมากที่สุด เพราะโจทย์ของตนเองคือทำน้อยแต่ได้มาก พื้นที่น้อยแต่ต้องทำเกษตรแบบครบวงจร และสามารถทำอาชีพอย่างอื่นควบคู่โดยใช้พื้นที่ในสวน ดังนี้
- พื้นที่สำหรับปลูกพืชผัก มีทั้งปลูกผักบนแคร่และปลูกลงดิน
- ทำร่องสวนปลูกไม้ผลไว้หลายชนิด แต่ปลูกไม่มาก อย่างละ 5-6 ต้น เน้นชนิดที่ตนเองชอบและขายง่าย เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม ฝรั่ง ส้มโอ มะนาว และมัลเบอร์รี่
- โซนปลูกไผ่กิมซุง ปัจจุบันขยายปลูกจำนวน 20 กอ ควบคู่กับการเลี้ยงไก่แบบปล่อยธรรมชาติ มีต้นไผ่ให้ร่มเงา ที่มีทั้งไก่ไข่ไว้สำหรับบริโภคเอง ไก่งวง ไก่ชน ไว้สำหรับขายเป็นไข่เชื้อ เพื่อสร้างมูลค่า เพราะถ้าหากขายเป็นไข่ธรรมดารายได้อาจไม่ตอบโจทย์
- เลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำมูลมาทำเป็นปุ๋ยใส่พืชผักผลไม้ในสวน และพอมีไว้เหลือขาย จากการเริ่มต้นเลี้ยง 20 กะละมัง แล้วขยายทำโต๊ะเลี้ยง เป็นการใช้พื้นที่ไม่มากแต่ให้ประโยชน์สูง
- บ่อเลี้ยงปลา เน้นเลี้ยงปลากินพืช อย่างปลาสลิดและปลานิล ในบ่อดินขนาดความกว้างประมาณ 3×15 เมตร ลึก 2 เมตร
- พื้นที่สำหรับการสอนศิลปะเครื่องปั้นดินเผา โดยมีทำเลที่ดีที่สุดคือภายสวนผสมผสานของตนเอง ที่มีร่มเงาของต้นไม้คอยให้ความร่มรื่น ให้ความร่มเย็นอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งผลที่ได้รับตามมาจากสิ่งที่ตั้งใจทำในตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา คือได้เห็นผลผลิตที่งอกเงยขึ้นมาอย่างสวยงาม ทุกอย่างที่ตั้งใจทำเริ่มตอบแทนกลับคืนมาเป็นจำนวนไม่มากแต่ช่วยคลายจนได้ เพราะการทำเกษตรบนพื้นที่น้อย ถ้าหากมีการจัดการดีๆ สามารถทำให้ไม่มีต้นทุนได้ หรือมีค่าใช้จ่ายเท่ากับ 0 และไม่มีขยะเหลือทิ้งแม้แต่น้อย
“สิ่งที่ผมทำในสวนทุกอย่างจะต้องเอื้อประโยชน์ต่อกันได้ทั้งหมด เราพยายามจะไม่ให้มีของเหลือทิ้ง ถ้าเป็นผักหลังจากที่เรากินหรือผักใบแก่ที่กินไม่ได้แล้วเราก็จะโยนให้ไก่กิน แล้วพอให้ไก่เสร็จ ไก่ขี้ออกมาเราก็จะเอาขี้ไก่มาหมักทำเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อไปเลี้ยงไส้เดือนหรือใส่ต้นไม้ แล้วผักบางส่วนที่ยังเหลือเราก็เอาไปให้ปลากิน พอปลาโตเราก็เอามากิน เอาไปขายได้ และหัวปลา ไส้ปลา ก็เอามาทำน้ำหมัก กลับคืนสู่ต้นไม้ได้อีก ไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยเคมีและอาหาสัตว์ นับได้ว่าต้นทุนในสวนตอนนี้เท่ากับศูนย์ เพราะทำแบบอินทรีย์เป็นหลัก ไม่ได้เป็นธุรกิจใหญ่โต จึงสามารถอยู่ได้แบบสบายๆ ตรงนี้ถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับการทำเกษตรบนพื้นที่น้อยยังไงให้อยู่ได้ ไม่ต้องควักเงินในกระเป๋าไปซื้อของจากที่อื่น มันก็ทำให้ตัวเรายืนได้ด้วยตัวเอง”
เลือกสร้างรายได้ในสวนที่มีมูลค่าสูง
“ทำน้อยแต่ได้มาก”
จะเห็นได้ว่าการเกษตรสมัยใหม่ข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่มาก พื้นที่น้อย ไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำเกษตรอีกต่อไปแล้วหากทุกคนมีการจัดการที่ดี พี่เก่งอธิบายในส่วนของการทำงานเกษตรต่อว่า การดำเนินชีวิตของตนเองในแต่ละวันคือตื่นเช้ามาให้อาหารไก่ หลังจากให้อาหารไก่เสร็จ ก็ไปรดน้ำต้นไม้ถึง 9 โมงเช้า แดดเริ่มออกก็จะเข้าร่มไปนั่งทำงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผา ถึงช่วงบ่าย 3 โมงแดดร่ม ลมตก จึงออกไปถางหญ้า ดูความเรียบร้อยภายในสวน พร้อมกับให้อาหารไก่ ให้อาหารปลา เพราะการทำเกษตรในฉบับของตนเองไม่จำเป็นต้องทำเกษตรอย่างบ้าคลั่ง ที่ต้องตากแดดตั้งแต่เช้าจรดเย็น ก็สามารถสร้างเงินได้เช่นกัน หากมีการวางแผนและเลือกวิธีการหารายได้อย่างตรงจุด คือกลยุทธ์การตลาด ต้องขายให้เป็น ขายให้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่การขายผลผลิตอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการขายเมล็ดพันธุ์และแปรรูป ทำให้ผลผลิตมีมูลค่าสูงขึ้น ถ้ามีพื้นที่น้อยก็เน้นขายของที่มีมูลค่าสูง เน้นดูแลให้ทั่วถึง ทำน้อยได้มาก
ยกตัวอย่างการสร้างรายได้ของสวนตอนนี้
- ในส่วนของไก่ หากเป็นไก่งวงก็จะใช้วิธีการขายไข่เชื้อมากกว่าการขายเป็นไก่เนื้อ เพราะจะได้มูลค่าที่มากกว่า ไม่ต้องรอเลี้ยงให้โต เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนและทำให้เสียเวลา และจะขายไข่เชื้อได้ในราคาฟองละ 60-100 บาท ส่วนไก่ไข่เน้นเก็บไว้กินเอง เพราะถ้านำไก่ไข่ไปขายจะไม่สามารถสู้กับฟาร์มที่ทำธุรกิจผลิตไก่ขายโดยตรงได้ เราจะขาดทุน ก็ต้องปรับเปลี่ยนขายไข่เชื้อหรือลูกพันธุ์เท่านั้น
- ไผ่ ไม่เน้นขายสร้างรายได้แต่เน้นนำมาใช้สอยประโยชน์ ทำเชื้อเพลิง ไว้ใช้ในงานด้านศิลปะ ในส่วนของใบจะนำไปหมักทำปุ๋ย และส่วนของหน่อเก็บไว้บริโภคและแจกเพื่อนบ้าน
- ไม้ผล กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง มัลเบอร์รี่ เก็บไปขายสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ตามงานที่ได้ไปออกบู๊ธ หรือฝากเพื่อนในกลุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์วางขาย
- ปลากินพืช อย่างปลานิลและปลาสลิด จะมีชาวบ้านเข้ามาซื้อถึงในสวนอยู่เป็นประจำ
“เท่ากับตอนนี้พี่มีรายได้หลักจากงานสอนปั้นดินเผา งานเกษตรเป็นอาชีพเสริม มีรายได้จากงานเกษตรประมาณเดือนละ 3,000 บาท แต่เราที่เป็นคนปลูกก็อิ่มท้องไปด้วย ถือว่าเงินตรงนี้เป็นเงินเก็บได้ฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย ทุกคนก็ทำได้ เพียงแต่ต้องวางแผนให้ดีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด” พี่เก่ง กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดหรือสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำสวนและปั้นดินเผาสามารถติดต่อพี่เก่งได้ที่เบอร์โทร. 081-458-5210
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2565