เลี้ยงแพะพันธุ์บอร์ เป็นอาชีพเสริม มีรายได้ทั้งปี

แพะพันธุ์บอร์ เป็นแพะเนื้อที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสายพันธุ์ที่มีเลือดร้อย เพราะจากการเป็นสายเลือดแท้นี้เอง จึงทำให้แพะพันธุ์บอร์เด่นในเรื่องของการให้เนื้อมาก เป็นแพะที่มีโครงสร้างขนาดตัวที่ใหญ่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะนิยมนำมาเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์จำหน่าย เพราะยังมีเกษตรกรหลายท่านที่ต้องการแพะพันธุ์บอร์มาต่อยอด นำไปปรับปรุงและพัฒนาแพะภายในฟาร์มให้มีคุณภาพต่อไป  

คุณชรินทร์ วิทยาภรณ์ หรือ คุณหนึ่ง

คุณชรินทร์ วิทยาภรณ์ หรือ คุณหนึ่ง เจ้าของแขมณรงค์ฟาร์มแพะ ตั้งอยู่เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 ตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ดีกรีสถาปนิกหนุ่ม จากสาขาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ชื่นชอบในเรื่องของการทำปศุสัตว์ จึงได้มีการออกแบบวางแผนการทำฟาร์มแพะสร้างเป็นอาชีพเสริม จนเกิดรายได้ควบคู่ไปกับการทำงานประจำได้เป็นอย่างดี

แพะเป็นสัตว์เลี้ยง
อาชีพเสริมทำเงินได้

คุณหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า อาชีพหลักของเขาเป็นสถาปนิก หลังจากที่แต่งงานและได้มาอยู่กับภรรยา ช่วงนั้นบ้านของภรรยามีการเลี้ยงสุกรไว้ ต่อมาจึงเกิดความสนใจในเรื่องของการเลี้ยงแพะ ทำให้ได้ศึกษาเรื่องของสายพันธุ์แพะจากแหล่งต่างๆ จึงได้ตกลงปลงใจเลือกเลี้ยงแพะสายพันธุ์บอร์ เพราะสามารถเลี้ยงเป็นสายพันธุ์แท้ที่สร้างรายได้หลากหลาย ตั้งแต่การเลี้ยงเพื่อจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์และการส่งจำหน่ายเป็นแพะเนื้อ

“ช่วงแรกๆ ที่นำมาทดลองเลี้ยง ก็หาซื้อแม่พันธุ์ 20 ตัว ที่เป็นเลือดร้อยมาเลี้ยง พอการเลี้ยงประสบผลสำเร็จ ผมก็ได้จัดสรรพื้นที่เลี้ยงให้มีสัดส่วนมากขึ้น ทำให้มีแพะจำนวนเยอะขึ้น ตอนนี้มีแม่พันธุ์อยู่ประมาณ 75 ตัว และพ่อพันธุ์อยู่ที่ 5 ตัว นอกจากนี้ ก็มีการแบ่งเป็นพื้นที่โรงเรือน ส่วนเป็นแหล่งประหยัดต้นทุนให้กับฟาร์มก็จะเป็นในเรื่องของการปลูกหญ้าอาหารสัตว์เอง จะมีการปลูกแบบหมุนเวียนให้แพะกินอย่างเพียงพอภายในฟาร์ม ซึ่งจากสายอาชีพสถาปนิกของผม ทำให้การจัดสรรต่างๆ ค่อนข้างที่จะเป็นระบบของการวางแผนผัง ทำให้ฟาร์มแพะของผมจัดการได้ง่ายขึ้น” คุณหนึ่ง บอก

เน้นใช้พ่อพันธุ์ต่างประเทศ
เข้ามาผสมกับแม่พันธุ์ในฟาร์ม

คุณหนึ่ง เล่าในเรื่องของการผสมพันธุ์แพะภายในฟาร์มให้ฟังว่า พ่อพันธุ์แพะทั้งหมดจะเป็นพ่อพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เป็นพ่อพันธุ์ที่มีเลือดร้อยมาผสมกับแม่พันธุ์ที่มีอยู่ภายในฟาร์ม โดยแม่พันธุ์บางตัวเป็นแม่พันธุ์ที่ได้จากในฟาร์มมาทดแทนแม่พันธุ์ที่ต้องการปลดออก ส่วนตัวผู้ที่เกิดภายในฟาร์มทั้งหมดจะจำหน่ายออกไป โดยแม่พันธุ์ที่สามารถนำมาผสมพันธุ์ได้ จะมีน้ำหนักมากกว่า 50 กิโลกรัม และอายุ 1 ปีขึ้นไป ส่วนพ่อพันธุ์ต้องมีอายุมากกว่า 10 เดือน   

หลังจากที่ผสมพันธุ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะรอแม่พันธุ์ตั้งท้องประมาณ 5 เดือน โดยในช่วง 3 เดือนแรกให้ลูกแพะอยู่กับแม่พันธุ์จนกระทั่งหย่านม จึงจะปล่อยจำหน่ายออกให้กับลูกค้า ซึ่งอาหารที่ใช้เลี้ยงแพะภายในฟาร์มจะเป็นหญ้าหมัก พร้อมกับนำมาผสมกับอาหารข้นที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 14 เปอร์เซ็นต์ โดยแพะต่อวันจะกินอาหารอยู่ที่ 2 มื้อ เน้นเป็นอาหารที่ปลูกเองภายในฟาร์ม ช่วยให้ประหยัดต้นทุนได้เป็นอย่างดี

“การทำวัคซีนให้กับแพะภายในฟาร์มหลักๆ ก็จะเป็นในเรื่องของการถ่ายพยาธิ เรามีการทำโปรแกรมที่ชัดเจน ทุกๆ 3 เดือน ส่วนการรักษาอย่างอื่นก็ดูตามอาการของเขา หากมีการจัดการทำแผนวัคซีนที่ดีก็จะช่วยให้แพะมีความแข็งแรงและปลอดภัยจากโรค ส่วนในเรื่องของความสะอาดภายในฟาร์ม จัดการตามปกติ ช่วยให้ฟาร์มไม่สะสมโรค แพะทุกตัวภายในฟาร์มจะแข็งแรงเป็นแพะที่มีคุณภาพ” คุณหนึ่ง บอก

โซเชียลมีเดียตัวช่วยสำคัญ
ต่อการทำตลาดขายแพะ

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายแพะภายในฟาร์มนั้น คุณหนึ่ง บอกว่า เนื่องด้วยปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งสำคัญในการทำตลาด จึงทำให้กิจกรรมภายในฟาร์มของเขาจะอัพเดทอยู่เป็นประจำ จึงทำให้ผู้ที่สนใจเมื่อเห็นแพะภายในฟาร์มก็จะเข้ามาติดต่อขอซื้ออยู่เป็นระยะ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการแพะพันธุ์บอร์ที่เป็นเลือดร้อย นำไปพัฒนาสายพันธุ์ภายในฟาร์มให้ได้เป็นแพะที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็เป็นในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้าง

โดยการทำตลาดจะเน้นจำหน่ายแพะพันธุ์เป็นหลัก ซึ่งแพะที่จำหน่ายเป็นแพะพันธุ์จะมีใบประวัติทุกตัว เมื่อลูกค้าซื้อไปแล้วสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงช่วยให้ลูกค้ามั่นใจในสายพันธุ์แพะในฟาร์มของเขา ซึ่งราคาจำหน่ายลูกแพะตัวเมียอายุ 3-4 เดือน น้ำหนักอยู่ที่ 20 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาอยู่ที่ 30,000 บาท ส่วนตัวผู้น้ำหนักอยู่ที่ 20-30 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาอยู่ที่ 25,000 บาท การจัดการผสมพันธุ์จะแบ่งแม่พันธุ์ให้ตั้งท้องไม่พร้อมกัน เพื่อให้มีลูกแพะจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี

“พอผมมาเลี้ยงแพะ ผมรู้สึกมีความสุข เราได้ใช้วิชาของสถาปนิกมาต่อยอดด้วย เพราะการจัดการฟาร์มต่างๆ การวางแผนผังฟาร์ม ผมก็ใช้วิชาความรู้จากการเป็นสถาปนิกมาวางผังฟาร์ม จึงทำให้ทุกอย่างมีระบบมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการแปลงหญ้า ก็ช่วยให้เราประหยัดต้นทุนการเลี้ยงได้ ก็อยากจะฝากคนที่สนใจจะเลี้ยงแพะ อยากให้มองว่าแพะเป็นการทำปศุสัตว์ที่ไม่ได้เน้นนำไปประกวดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเลี้ยงเพื่อให้มีการพัฒนาต่อยอดได้ เพื่อให้แพะพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ ได้รับการปรับปรุงยิ่งๆ ขึ้นไป จะช่วยส่งผลให้มูลค่าทางตลาดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” คุณหนึ่ง บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงแพะสายพันธุ์บอร์ หรือต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณชรินทร์ วิทยาภรณ์ หรือ คุณหนึ่ง หมายเลขโทรศัพท์ 088-772-7460

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2565