วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม เมื่อคนรุ่นใหม่ทำเกษตร เลี้ยงวัวด้วยเปลือกทุเรียน สร้างเนื้อวากิวพรีเมี่ยม A5 (ตอนที่ 1)

สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นประจำในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ด้วยความที่ผมสอนวิชาส่งเสริมการเกษตรและวิชาธุรกิจการเกษตร เป็นวิชาหลักมาหลายปี การอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ชี้ให้เห็นข้อมูลที่ว่า เกษตรกรรายย่อยในประเทศของเรานับวันจะยิ่งอยู่อย่างยากลำบากหากไม่ปรับตัวเองในอนาคตเกษตรกรรายย่อยอาจจะล้มหายตายจากไปจนเกือบหมด เหลือเพียงเกษตรกรรายย่อยที่ปรับตัวในทุกวิถีทางเพื่อให้อยู่รอดในอาชีพเกษตร กับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้าสู่อาชีพเกษตรด้วยความรู้ ความพร้อมทุกๆ ด้าน ทั้งด้านทุน ความรู้ เทคโนโลยี ตลาด และปัจจัยอื่นๆ ฉบับนี้ผมมีความยินดีเป็นพิเศษที่จะพาท่านผู้อ่านไปพบกับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาสู่อาชีพเกษตรด้วยความรู้และใช้ความรู้นั้นปรับอาชีพเกษตรให้มีความก้าวหน้าไปได้อย่างน่าชื่นชมไปดูกันครับ

วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม เมื่อคนรุ่นใหม่ทำเกษตร จังหวัดนครสวรรค์

วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม

พาท่านมาที่วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ดร.นิติพล พลสา ด๊อกเตอร์หนุ่มที่จบการศึกษาจากหลักสูตรวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่นำความรู้ด้านวิชาการมาประยุกต์ใช้ในงานการเกษตร และ คุณภูชิต มิ่งขวัญ บัณฑิตจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันดำเนินกิจการฟาร์มแห่งนี้ ดร.นิติพล เล่าว่า ฟาร์มของเราก่อตั้งมาได้ 2 ปีกว่าแล้วโดยจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อที่เราจะได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชนของเรา ในการเป็นต้นแบบการเลี้ยงวัวเนื้อคุณภาพดี

จากความรู้และประสบการณ์จากการเรียนและการทำวิจัยทำให้ ดร.นิติพล พบว่า ปัญหาด้านการปศุสัตว์ของเกษตรกรไทยคือ การแบกรับภาระต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูง ดร.นิติพลจึงใช้เรื่องนี้มาเป็นโจทย์ตั้งต้นในการเริ่มกิจการเพียวพลัสฟาร์ม “ผมมองว่าในประเทศไทยมีเศษวัสดุทางการเกษตรมากมายแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เศษวัสดุพวกนี้ถ้าไม่มีการจัดการ เกษตรกรก็มักจะต้องเผาทิ้งซึ่งก็จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ผมจึงอยากเอาเศษวัสดุเหล่านี้มาทำประโยชน์มาสร้างอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร จึงพยายามประยุกต์ความรู้ที่เรียนมาเพื่อให้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด”

ดร.นิติพล พลสา และ คุณภูชิต มิ่งขวัญ

ใช้จุลินทรีย์ปรับปรุงพันธุกรรมจากเทคโนโลยีพลาสมาพลังงานต่ำ

ผมขออนุญาตใช้พื้นที่อธิบายงานของ ดร.นิติพล กันสักหน่อยนะครับ เพื่อชี้ให้เห็นว่างานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้นจะมีส่วนช่วยเกษตรกรอย่างไร ดร.นิติพล เล่าว่า “งานวิจัยที่ผมทำคือการปรับปรุงพันธุกรรมจุลินทรีย์จากเทคโนโลยีพลาสมาพลังงานต่ำ โดยจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักเปลือกทุเรียนเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีตามธรรมชาติ คัดเลือกมาจากแหล่งอาหารและเป็นสายพันธุ์ที่ปลอดภัยต่อสัตว์ ต่อผู้ใช้ และต่อสิ่งแวดล้อม โดยจุลินทรีย์ที่ถูกคัดเลือกแล้วจะถูกปรับปรุงพันธุกรรมด้วยเทคนิคพลาสมาพลังงานต่ำ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้นจากเดิม” (Sangwijit et al., 2016; Polsa et al., 2020) จุลินทรีย์ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุกรรมจะถูกคัดเลือกโดยดูจากคุณสมบัติหลายด้าน

ดร.นิติพล เล่าว่า จุลินทรีย์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีพลาสมาพลังงานต่ำจะได้จุลินทรีย์ปลอดสารเคมี 100% จากนั้นจึงคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีลักษณะเด่น มีความสามารถย่อยสลายโครงสร้างพืชได้เร็วใช้เวลาเพียง 5-7 วัน และต้องเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถเพิ่มคุณค่าทางอาหารหรือโภชนะในของเหลือใช้ทางการเกษตรและสามารถยืดอายุการเก็บรักษาของเหลือใช้ทางการเกษตรได้นาน 6 เดือน

เปลือกทุเรียนที่ใช้เวลาหมัก 5 วัน สามารถเก็บเอาไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ได้นานถึง 1 ปี

หมักเปลือกทุเรียนเป็นอาหารสัตว์

ดร.นิติพล เล่าต่อว่า ของเหลือใช้ทางการเกษตรในบ้านเรามีมากมายหลากหลาย อย่างเช่น ในพื้นที่นครสวรรค์จะมีต้นงาที่เหลือจากการตีเมล็ดออกแล้ว ซังข้าวโพด ใบอ้อย หรือเปลือกทุเรียน จากการวิจัยพบว่า ต้นงาหลังจากการตีแยกเมล็ดออกแล้วนำมาผ่านกระบวนการหมักแบบไร้อากาศด้วยกลุ่มจุลินทรีย์ปรับปรุงพันธุกรรมใช้เวลาการหมัก 14 วัน ใช้เป็นอาหารวัวขุน พบว่าวัวกินได้ดีสามารถทดแทนอาหารหยาบได้ โดยคุณค่าทางอาหารหรือโภชนะต้นงาหลังการตีแยกเมล็ดแล้วนำมาหมักมีโปรตีน 8.48% เยื่อใยหยาบ 13.12% ไขมัน 3.42% การนำต้นงามาหมักทำอาหารสัตว์ยังลดการเผาทำลายก่อนจะเริ่มทำไร่งารุ่นต่อไป

ในส่วนของเปลือกทุเรียนนั้นทางเพียวพลัสฟาร์มจะหาเก็บเปลือกทุเรียนจากตลาดทั่วทั้งจังหวัดนครสวรรค์ นำมาผ่านการล้างทำความสะอาด ผ่านเครื่องตีย่อยเปลือกให้แตกเป็นชิ้นเล็กลงแล้วนำไปหมักแบบไร้อากาศด้วยกลุ่มจุลินทรีย์ปรับปรุงพันธุกรรมใช้เวลาหมักเพียง 5 วันก็สามารถนำมาให้วัวกินได้ “ผลจากห้องปฏิบัติการพบว่า เปลือกทุเรียนที่ผ่านการหมักพบว่ามีโปรตีน 13% ที่ผ่านมาได้มีการทดลองใช้อาหารหมักนี้กับฟาร์มวัวนมในจังหวัดพะเยา พบว่าสามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้มากถึง 40% และไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพนม นอกจากนั้น ยังได้ทำการวิจัยการใช้เปลือกทุเรียนหมักด้วยกลุ่มจุลินทรีย์ที่ปรับปรุงพันธุกรรมกับหมูพบว่า คุณภาพของซากโดยเฉพาะสีของเนื้อสัน (สีแดง) ให้ค่าสูงกว่ากลุ่มอื่น และเป็นอีกแนวทางที่ช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร สามารถลดต้นทุนและได้กำไรมากถึง 29%” ดร.นิติพล อธิบายให้ฟัง

การหมักกากถั่วเหลืองหลังจากการทำน้ำเต้าหู้ ก็สามารถนำมาหมักเพื่อเอาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อย่างดี

ผลิตอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำเลี้ยงสัตว์ได้หลากหลาย

ดร.นิติพลและคุณภูชิต ได้พาเดินชมโรงงานที่ผลิตอาหารสัตว์จากการใช้จุลินทรีย์ปรับปรุงพันธุกรรม ซึ่งทางเพียวพลัสฟาร์มสามารถนำของเหลือใช้ทางการเกษตรในบ้านเราหลากหลายชนิดมาหมักเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ได้หลากหลายชนิด เช่น เปลือกทุเรียนที่ใช้เวลาหมัก 5 วัน สามารถเก็บเอาไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ได้นานถึง 1 ปี สามารถนำไปใช้เลี้ยงวัวขุน วัวนม หรือนำเปลือกทุเรียนที่ผ่านการหมักแล้วไปผสมกับกากถั่วเหลืองที่เหลือจากการทำน้ำเต้าหู้ก็สามารถนำไปเลี้ยงหมูได้ดี ส่วนต้นงาที่หมักแล้วสามารถใช้เลี้ยงวัว แพะ แกะ เป็ด ไก่ ได้ผลดี หรือจะนำต้นงาที่หมักแล้วไปผสมเป็นอาหาร TMR (Total Mixed Ration หรืออาหารผสมสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นจากการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม แล้วนำไปเลี้ยงวัวนม วัวเนื้อ แทนการเลี้ยงแบบเดิม) ก็ได้ นอกจากนั้น ยังมีการหมักเศษมันม่วง มันเหลือง เศษแอปเปิ้ล กากถั่วเหลืองหลังจากการทำน้ำเต้าหู้ ก็สามารถนำมาหมักเพื่อเอาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อย่างดี

การหมักเศษมันม่วง มันเหลือง เศษแอปเปิ้ล เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์

เพียวพลัสฟาร์ม เน้นมาตรฐานทำวิทยาศาสตร์ให้จับต้องได้

ดร.นิติพลและคุณภูชิต บอกว่า สิ่งที่เราทำอยู่ในเรื่องการผลิตอาหารสัตว์จากการใช้จุลินทรีย์ปรับปรุงพันธุกรรม เราพยายามทำให้เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด เราทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในเรื่องการใช้จุลินทรีย์ผลิตอาหารไก่เนื้อ เราทำวิจัยการใช้จุลินทรีย์ผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงหมูและวัวนม เราเน้นงานวิจัยวิทยาศาสตร์เพราะต้องการตอบโจทย์ทุกอย่างให้กับเกษตรกรได้ ทำให้เกษตรกรเห็นจับต้องได้แล้วมาร่วมมือกับเรา มาต่อยอดจากเรา เอาสูตรอาหารหมักของเราไปใช้เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ มาร่วมมือเป็นผู้ผลิตในระดับต่างๆ กับเรา

ใครสนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ฟาร์มโคพันธุ์ดีปากน้ำโพ คุณภูชิต โทร. 086-340-1828

เป็นอีกเรื่องราวดีๆ ที่ผมนำมาฝากกันครับ แต่ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ในวิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม เมื่อคนรุ่นใหม่ทำเกษตร เลี้ยงวัวด้วยเปลือกทุเรียน สร้างเนื้อวากิวพรีเมี่ยม A5 ตอนที่ 2 ผมจะเล่าให้ฟังถึงกระบวนการสร้างเนื้อวัวคุณภาพของเพียวพลัสฟาร์ม ยังมีอะไรดีๆ ที่น่าสนใจจาก 2 หนุ่มแห่งเพียวพลัสฟาร์มอีกเยอะ พบกันในตอนที่ 2 ครับ คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้วต้องขอลากันไปก่อนแล้วพบกันใหม่ ขอให้โชคดี ไม่มีโรคกันทุกท่านทั่วหน้า สวัสดีครับ

เปลือกทุเรียนหมักกลิ่นหอม สัตว์ชอบกิน

เอกสารอ้างอิง

นิติพล พลสา กมล ฉวีวรรณ กันตา แสงวิจิตร สุกัญญา สืบแสน และ สมบูรณ์ อนันตลาโภชัย. 2564. ผลของการใช้เปลือกทุเรียนหมักจุลินทรีย์ที่ถูกปรับปรุงพันธุกรรมในอาหารต่อประสิทธิภาพการเจริญเติบโต และคุณภาพซากในสุกรระยะรุ่น-ขุน. แก่นเกษตร 49 ฉบับที่ 6: 1609-1617 (2564).

Polsa, N., W.Suyotha, S.Suebsan, S.Anuntalabhochai, and K.Sangwijit. 2020. Increasing xylanase Activity of Bacillus subtilis by atmospheric pressure plasma jet for biomass hydrolysis. 3 Biotech. 10: 1-9.

Sangwijit, K., J.Jitonnom, S.Pitakrattananukool, L. D. Yu, and S.Anuntalabhochai. 2016. Low-energy plasma immersion ion implantation modification of bacteria to enhance hydrolysis of biomass materials. Surface and Coatings Technology. 306: 336-340.