อภัยภูเบศรแนะนำเกษตรกรมือใหม่ เรียนรู้ 4 หัวใจสำคัญการปลูกกัญชา

หลังจากกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกกัญชา กัญชง ออกจากบัญชีสารเสพติด นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ทำให้กัญชากลายเป็นพืชสมุนไพรทางเลือกที่คนไทยสามารถปลูกได้อย่างเสรีเพื่อใช้ดูแลสุขภาพ ภายใต้การควบคุมปริมาณการใช้งานตามที่กฎหมายกำหนด

ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนมากสนใจอยากปลูกกัญชาเป็นพืชสมุนไพรประจำบ้าน แต่ไม่รู้ว่า ควรปลูกดูแลอย่างไรให้ได้ผลผลิตที่ดี จึงขอแนะนำเทคนิคการปลูกกัญชาให้ได้ผลผลิตที่ดีของ “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ จนกลายเป็นต้นแบบเรื่องการปลูกกัญชาให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งเกษตรกรผู้สนใจ ซึ่งเคล็ดลับการปลูกดูแลกัญชาเหล่านี้ มือใหม่ที่หัดปลูกกัญชาสามารถนำไปปฏิบัติได้ไม่ยาก

หัวใจของการปลูกกัญชา

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า การปลูกกัญชาให้ประสบความสำเร็จ มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การจัดการดิน น้ำ ธาตุอาหารประเภท N P K ธาตุเหล็ก (Fe) สังกะสี หรือซิงก์ (ZINC) รวมทั้งดูแลจัดการศัตรูพืชอย่างเหมาะสม

ดินปลูก 

ดินปลูกต้องมีความโปร่ง ระบายน้ำและอากาศได้ดี หากปลูกในดินแข็งแน่นหรือดินแฉะเกินไป จะทำให้รากกัญชาเจริญเติบโตได้ไม่ดี เสี่ยงต่อการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ง่าย ดูแลป้องกันโดยใช้สารไตรโคเดอร์มา กำจัดเชื้อรากเน่า โคนเน่า ประการต่อมา เลือกวัสดุปลูกคุณภาพดี ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ขุยมะพร้าว แกลบเผา กาบมะพร้าวสับ หินเพอร์ไลต์ อภัยภูเบศร นิยมใช้วัสดุปลูกประเภทกาบมะพร้าว ขุยมะพร้าว เป็นหลัก โดยนำวัสดุไปหมักก่อน เพื่อลดความร้อนจากวัสดุปลูกที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการย่อย เติมจุลินทรีย์กับน้ำตาลลงไป ใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน จึงค่อยนำไปใช้งาน

ธาตุอาหาร

อภัยภูเบศร แบ่งธาตุอาหารเป็น 2 ส่วน สำหรับแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรเครือข่ายที่ปลูกระบบเกษตรอินทรีย์ จะใช้ปุ๋ยหมักที่ผ่านการรับรองธาตุอาหารแล้วว่า มีปริมาณโลหะหนักไม่เกินค่ามาตรฐาน ผลิตจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น แกลบ ฟางข้าว ขุยมะพร้าว กากมะพร้าว ฯลฯ

ส่วนโรงเรือนกรีนเฮ้าส์ ที่ปลูกกัญชาในระบบน้ำ (Hydroponics) อภัยภูเบศรได้พัฒนาสูตรปุ๋ย AB ขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยปรับสูตรให้เหมาะสำหรับปลูกกัญชามากยิ่งขึ้น เนื่องจากปุ๋ยบางชนิดหากใส่มากเกินไป จะทำให้ต้นกัญชาดูดซึมธาตุอาหารได้น้อยลง หรืออาจส่งผลต่อการสังเคราะห์แสงของต้นกัญชา

อภัยภูเบศรเติมธาตุอาหารให้ต้นกัญชาในสัดส่วนความเข้มข้นที่เหมาะสม โดยวัดจากค่าการนำไฟฟ้า (EC : Electrical Conductivity) เป็นตัวกำหนดปริมาณธาตุอาหารของต้นกัญชา มีการควบคุมธาตุอาหารและน้ำ ไม่ให้ค่า pH เกินค่ามาตรฐาน หากมีค่า pH สูงหรือต่ำกว่าค่ามาตรฐาน จะทำให้ต้นกัญชาดูดซับธาตุอาหารไปใช้ได้ไม่ดีพอ ทำให้ปุ๋ยที่เติมเข้าไปไม่เกิดประโยชน์และอาจเป็นพิษต่อต้นกัญชาได้

น้ำ

อภัยภูเบศรคอยตรวจวัดค่า pH ในน้ำอยู่ในอัตราที่เหมาะสม รดน้ำแค่พอชุ่มชื้น น้ำไม่ขัง น้ำที่นำไปใช้งานแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ น้ำที่ใช้ละลายธาตุอาหาร คือน้ำ RO ซึ่งมีค่าความเสถียรเรื่องความสะอาดของธาตุอาหาร ไม่มีเชื้อโรคเจือปน และอุณหภูมิน้ำนิ่งกว่าน้ำปกติ ส่วนน้ำที่ใช้รดต้นกัญชา มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณโลหะหนักและเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อความปลอดภัยก่อนนำไปใช้งาน

ศัตรูพืช  

โดยธรรมชาติ ต้นกัญชามีศัตรูพืชและแมลงหลายชนิด ได้แก่ เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว ไรแดง หนอน และผีเสื้อ ดูแลกำจัดโดยใช้สารชีวภัณฑ์ ประเภทสารบีที สารบิวเวอเรีย เมตาไรเซียม หรือกาวดักแมลง จากการปลูกทดสอบในแต่ละฤดูพบว่า มีการแพร่ระบาดของศัตรูพืชแตกต่างกันออกไป ที่ผ่านมาอภัยภูเบศรเน้นป้องกันมากกว่ากำจัด โดยฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ทุกสัปดาห์

ปัญหาเชื้อราบริเวณช่อดอก มักเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 6 เป็นต้นไป โดยมีสาเหตุสำคัญคือความชื้นสะสมภายในช่อดอก ทำให้ไม่สามารถนำไปผลิตยาได้ ต้องทำลายทิ้งอย่างเดียว จึงต้องคอยดูแลควบคุมความชื้นในพื้นที่ปลูกและใช้สารชีวภัณฑ์ฉีดร่วมด้วย

กัญชา เป็นพืชที่ไวต่อแสงในช่วงออกดอก จึงต้องปรับแสงให้เหมาะสม เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว แสงมักสั้นกว่า 8 ถ้าเกินกว่า 8 ต้องสร้างกำแพงบังเอา เช่น สมัยโบราณ หากอยากปลูกกัญชาในฤดูร้อน ต้องปลูกกัญชาบริเวณหุบเขา เพื่อให้หน้าผาบังแสง ส่วนกัญชาสายพันธุ์ต่างประเทศ เช่น เชอร์เล็ต แองเจิล เป็นสายพันธุ์เมืองหนาว แสงต้องไม่ต่ำกว่า 12 หากแสงต่ำกว่า 12 จะเริ่มออกดอก หากนำไปปลูกกลางแจ้ง จะทำให้กัญชาออกดอกเร็ว ได้ผลผลิตน้อย ต้องติดไฟเพื่อขยายเวลากลางวันให้มากขึ้น

เมื่อเกษตรกรเข้าใจธรรมชาติและการเติบโตของต้นกัญชา ในลักษณะ “หัวร้อนตีนเย็น” คือได้แสงพอสำหรับกระตุ้นให้สร้างสาร ส่วนตีนเย็นคือ มีความเย็นระดับหนึ่งที่เพียงพอสำหรับดูดออกซิเจน (ออกซิเจนในดินต้องไม่ร้อนเกินไป ในน้ำก็เช่นกัน) ต้นกัญชามีรากเยอะมาก จึงต้องการออกซิเจนจำนวนมาก หากให้น้ำมากเกินไป ต้นกัญชาสำลักน้ำได้ง่าย จึงต้องใช้ดินปลูกที่มีสภาพร่วนซุย ต้นกัญชากินจุมาก หากปลูกในกระถางเล็ก ไม่ทันออกดอกก็ตายเสียแล้ว เกษตรกรต้องคอยหมั่นสังเกตการเติบโตของต้นกัญชา เมื่อเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของต้นกัญชา มีการดูแลจัดการแปลงเพาะปลูกอย่างเหมาะสม การปลูกกัญชาให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีก็เป็นเรื่องง่าย ที่ใครๆ ก็ทำได้ไม่ยาก

………………

อ้างอิงข้อมูลจากเวทีเสวนาหัวข้อ “กัญชา ครบวงจรกับอภัยภูเบศร” โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในงานมหกรรมกัญชง กัญชา 360 องศา จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564