สสว.ผนึกกำลังสถาบันอาหาร หนุนSMEs ตั้ง 30 เครือข่ายอุตฯมะพร้าว

สสว.จับมือสถาบันอาหาร และ มทร.ธัญบุรี เปิดตัวโครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEs ปี 2560 หนุนรวมกลุ่มธุรกิจเกษตรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวและสมุนไพรไทยประเภทออร์แกนิก 30 เครือข่าย ด้วยการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มอายุการเก็บรักษา และพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสมุนไพร คาดผู้ประกอบการได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 4,000 ราย

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEs ปี 2560 ภายใต้งบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อสร้างเครือข่ายและยกระดับ SMEs ในอุตสาหกรรมมะพร้าวและสมุนไพรตลอดห่วงโซ่การผลิต มุ่งสนับสนุนการนำผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์ พร้อมรองรับการขยายตัวของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โครงการคลัสเตอร์ในครั้งนี้ กลุ่มธุรกิจมะพร้าวที่จะเน้นคือ การผลิตกะทิสำเร็จรูป เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว และเครื่องสำอางที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 กลุ่มนี้ตลาดมีอัตราการเติบโตสูง ในขณะที่ผลผลิตมีจำกัด ดังนั้น สสว.และสถาบันอาหารร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคเอกชน จะสนับสนุนให้มีการเพิ่มผลผลิต ด้วยการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกและพันธุ์มะพร้าวคุณภาพ ได้กำหนดพื้นที่ในภาคอีสาน เช่น อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด หรือใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเพิ่มมูลค่าในเรื่องการบ่งบอกต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์ เช่น ในพื้นที่ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี และในส่วนกระบวนการผลิตจะเน้นในเรื่องการยืดอายุ การลดกลิ่นของมะพร้าวในกลุ่มเครื่องสำอางเป็นสำคัญ

สำหรับคลัสเตอร์สมุนไพร เป็นเรื่องการนำสมุนไพรมาผลิตเป็นยาและเครื่องสำอาง ซึ่งตลาดมีความต้องการสมุนไพรประเภทออร์แกนิก ในขณะที่สมุนไพรของไทยมีผลผลิตเพียงพอ แต่ยังไม่เป็นออร์แกนิก โดย มทร.ธัญบุรีจะร่วมกับสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพรให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เกษตรทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น สกลนคร พังงา นครศรีธรรมราช สระบุรี และจันทบุรี ในส่วนของกระบวนการผลิตต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในการลดความชื้นของสมุนไพร การรับรองมาตรฐานการผลิตโดยจดทะเบียน อย. และพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ ๆ ให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่

“สสว.ตั้งเป้าจะรวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว รวม 25 เครือข่าย ผู้ประกอบการจะได้รับการพัฒนาศักยภาพจำนวน 3,300 ราย และกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรรวม 5 เครือข่าย ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพจำนวน 700 ราย รวมเป็นผู้ประกอบการจำนวน 4,000 ราย”

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถาบันได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว มีกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน 5 เดือน (พ.ค.-ก.ย. 2560) ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 3,300 ราย เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่ม 25 เครือข่ายเป้าหมาย เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้ประสานงานเครือข่ายไม่น้อยกว่า 70 ราย ทั้งนี้จะนำผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินการธุรกิจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์