อดีตเภสัชรกร ทำสวนเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน สร้างทั้งรายได้และความสุข

คุณมนทิพย์ รัชตวิจิน หรือ คุณจอย เจ้าของสวนสันติเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่ตำบลแสลง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี น้องสาวของ คุณสรกล อดุลยานนท์ หรือที่รู้จักกันในนาม “หนุ่มเมืองจันท์” นักเขียนชื่อดัง ผู้หญิงคนนี้มีความตั้งใจวางแผนในอนาคตว่าจะเกษียณตนเองก่อนกำหนด จากอาชีพ “เภสัชกร” เพื่อสานฝันทำสวนเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่จำนวน 15 ไร่ สถานที่ที่เปรียบเสมือนลมหายใจของคุณพ่อ เป็นสมบัติที่ล้ำค่า และเปี่ยมไปด้วยความรัก ที่มองมากี่ครั้งก็เจอแต่ความสุข

คุณพ่อของคุณมนทิพย์ และคุณสรกล
คุณมนทิพย์ รัชตวิจิน และคุณสรกล อดุลยานนท์ หรือที่รู้จักกันในนาม “หนุ่มเมืองจันท์”
ทุเรียนเนื้อแน่น พร้อมรับประทาน

จุดเริ่มต้นจากการทำสวนมาจากความตั้งใจส่วนตัว ที่วางแผนว่าจะเกษียณตนเองจากงานก่อนกำหนด จากอาชีพเภสัชกร ในอดีตนั้นที่สวนแห่งนี้ทำเกษตรแบบใช้สารเคมีปกติ จึงคิดว่าถ้าเข้ามาอยู่ในสวนก็จะทำสวนเกษตรแบบอินทรีย์เท่านั้น เพราะรู้ว่าสารเคมีนั้นเป็นพิษ ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ จากนั้นเดือนมกราคม 2561 ก็เปลี่ยนการทำสวนเกษตรแบบหักดิบจากเคมีมาทำเป็นอินทรีย์ ทำควบคู่กับอาชีพเภสัชกรในขณะนั้น โดยจะเข้าสวนทุกวันหยุด และลงมือทำมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

คุณมนทิพย์ เล่าว่า หลังจากลงมือทำยังคงต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบอินทรีย์ เพราะเหมือนเป็นการเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะปกติเข้าสวนปีละครั้ง เรียนรู้เรื่องปัจจัยการผลิต ระบบเกษตรอินทรีย์ เรียนรู้ควบคู่กับการทำงานเป็นเภสัชกรในขณะนั้น จนถึงเดือนมกราคม 2564 จึงลาออกจากเภสัชกรและหันมาทำเกษตรแบบเต็มตัว

คุณมนทิพย์ รัชตวิจิน หรือ คุณจอย เจ้าของสวนสันติเกษตรอินทรีย์
เปลือกทุเรียน นำมาต่อยอดด้วยการหมักเป็นปุ๋ยใช้ในสวน

“สวนสันติเกษตรอินทรีย์แห่งนี้ เกิดจากความตั้งใจว่าเราอยากกินอะไร เราก็อยากทำแบบนั้น เราอยากกินผลไม้ พืชผักทั้งหลายที่ปลอดภัย ในฐานะผู้ผลิตก็อยากผลิตอาหารที่ปลอดภัย รวมถึงมองเรื่องสุขภาพของตนเองและบริโภค เพราะด้วยการทำงานเกี่ยวกับเภสัชกรมานาน จึงเห็นคนที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมี ก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราทำ เราจะทำให้ปลอดภัย”

พื้นที่ของสวนสันติเกษตรอินทรีย์นี้ มีทั้งหมด 15 ไร่ เป็นสวนเก่าแก่ของคุณพ่อของคุณมนทิพย์ ที่มีการทำมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เป็นสวนที่คุณพ่อรักมาก เพราะฉะนั้นต้นไม้ในสวนก็มีอยู่แล้ว ทั้งทุเรียน มังคุด ลองกอง ขนุน มะไฟ เงาะ เป็นต้น

“เมื่อเริ่มลงมือทำ จึงปรับปรุงพื้นที่โดยรอบสวนสันติเกษตรอินทรีย์ นำต้นเงาะออก เพราะว่าเงาะใช้แรงงานค่อนข้างเยอะ ปลูกทุเรียนใหม่เพิ่ม จ้างทีมงาน จ้างคนสวนเพิ่มก็จะเรียบร้อยขึ้น พอมาอยู่เองก็มีเวลากำกับดูแลและลงมือทำเองด้วย และค่อยๆ พัฒนาขึ้น”

ถังสำหรับใช้หมักปุ๋ยน้ำ
พื้นที่ภายในสวนสันติเกษตรอินทรีย์

ด้านวิธีการดูแลรักษานั้นไม่มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ทางสวนสันติเกษตรอินทรีย์จะไม่มีการใช้สารเคมี แต่ใช้เป็นระบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด มีการทำปุ๋ยเอง โดยออกแบบเป็น 2 แบบ คือ ปุ๋ยดินและปุ๋ยน้ำ มีการทำระบบสำหรับให้ปุ๋ยทางน้ำ โดยการผสมปุ๋ยใส่น้ำหมักและปล่อยไหลไปกับน้ำทันที เช่น ทำปุ๋ยหมักปลา เป็นปุ๋ยหลักส่วนหนึ่งที่ให้ทางน้ำ ทางดินก็จะใช้ปุ๋ยหมักแทนนั่นเอง

ปุ๋ยดิน จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ซื้อมาใช้เองด้วยภายในสวน ทดลองและคัดเลือกจากข้อมูลที่มี หรือตามคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์การทำสวนมาก่อน เพราะเนื่องจากมีพื้นที่ 15 ไร่ ทำให้ต้นไม้ในสวนนั้นมีจำนวนมาก จึงผลิตปุ๋ยดินเองไม่ทัน

ปุ๋ยหมัก ก็จะใช้ทรัพยากรที่มีก็คือตัดหญ้าภายในสวน หมักตามสูตร หญ้า 4 ส่วน ขี้วัว 1 ส่วน รดน้ำทุกชั้น นำมาตากแดดให้แห้ง ประมาณ 2 เดือน ก็จะนำมาใช้เป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ภายในสวน หรือบางครั้งอาจจะใช้ใบมังคุด ใบลองกองที่ร่วงตามพื้นแทน

รวมถึงในปีนี้ทางสวนสันติเกษตรอินทรีย์นั้น ได้รับการสนับสนุนเปลือกทุเรียนจากประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี เนื่องจากมีการทำทุเรียนฟรีซ มีเปลือกทุเรียนจำนวนมากเหลือใช้ จึงนำมาทำปุ๋ยหมักสูตรเดียวกันกับการหมักหญ้า ในอัตรา 4 ต่อ 1

“ปุ๋ยน้ำ ใช้หลายอย่าง เช่น ปลาหมัก ขี้วัวหมัก ขี้ไก่หมัก ขนุนหมัก น้ำหมักเปลือกมังคุด น้ำหมักลองกอง เป็นต้น ที่ใช้ในแง่ของการป้องกันโรคก็ใช้ร่วมๆ กัน ใช้ตามจังหวะเวลาว่าเราจะกระตุ้นใบ กระตุ้นลูกก็เลือกใช้ ซึ่งปุ๋ยทั้งหมด ทั้งปุ๋ยดิน ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ จะใช้ผสมรวมกันกับน้ำ และให้พร้อมกันเลย ปุ๋ยน้ำให้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ปุ๋ยหมักก็ให้ตามจังหวะ เช่น หลังเก็บเกี่ยว กระตุ้นให้มีดอก บำรุงผล”

ลองกองพวงโต

สำหรับการกำจัดศัตรูพืช มีการใช้ชีวภัณฑ์และสมุนไพรหมุนเวียนกันไป มีทั้งสูตรที่ทำขึ้นเอง และซื้อปะปนกันไป ขึ้นอยู่ช่วงจังหวะเวลาของสภาพอากาศในขณะนั้น เช่น สภาพอากาศแบบใดที่ควรรดน้ำให้กับต้นผลไม้ทั้งหมด และต้องใช้ระยะเวลาเท่าไร หรือจังหวะไหนต้องกระตุ้นน้ำให้ออกดอก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเองทั้งหมด โดยที่ไม่ได้มุ่งหวังว่าต้นไม้ในสวนจะต้องได้ผลผลิตสูงสุด ทุกอย่างที่ลงมือทำต้องค่อยเป็นค่อยไป ปีแรกอาจจะไม่ได้ตามที่คาดหวัง แต่ปีต่อมาก็จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

เงาะ ผลสวย ไร้สารเคมี

โรคที่เจอในการทำสวนแบบอินทรีย์ แบบไม่ใช้สารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ นั้น มีจำนวนมาก ทางสวนจะใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับสมุนไพร เช่น มอด จะกำจัดด้วยสมุนไพร ปูนแดงผสมเพื่อทาต้น ศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยไฟไรแดง จะกำจัดด้วยสาละ กลอย ยาเส้น สะเดา ฝักคูน เพื่อกำจัดเพลี้ยกับหนอน ถ้าเป็นเชื้อราจะใช้น้ำหมักเปลือกมังคุด เป็นต้น

คุณมนทิพย์ ให้คำแนะนำสำหรับใครที่สนใจอยากจะทำสวนแบบเกษตรอินทรีย์ว่า ควรที่จะศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง จะทำอย่างไรในการกำจัดศัตรูพืช วัชพืช ปัญหาโรคต่างๆ หากเกิดขึ้นภายในสวน โดยไม่ใช้สารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์

มังคุดลูกใหญ่ ชวนรับประทาน

ด้านรายได้ อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจในระดับหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบจากอดีตที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีในช่องทางออนไลน์ แต่ถึงกระนั้นรายได้ไม่ได้เป็นหัวใจหลัก เพราะทางคุณมนทิพย์มุ่งหวังว่าการทำสวนสันติเกษตรอินทรีย์แห่งนี้เป็นแบบสวนเลี้ยงสวน มีการจ้างงานภายในสวน ครอบครัวของลูกจ้างดำรงชีวิตอยู่ได้ นี่คือผลพลอยได้ที่เป็นกำไรอย่างแท้จริง

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อคุณมนทิพย์ รัชตวิจิน หรือ คุณจอย เจ้าของสวนสันติเกษตรอินทรีย์ ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก สวนสันติเกษตรอินทรีย์ หรือสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-458-2657

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2565