เผยแพร่ |
---|
นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เสริมให้การเลี้ยงสัตว์ปีกในไทยพัฒนาไกลและมีมาตรฐาน
อาหารถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิต
การเลี้ยงสัตว์ปีกในไทย
สัตวแพทย์หญิง ณัฏฐิรา ลือโฮ้ง หน่วยงานสัตวแพทย์บริการด้านสัตว์ปีก บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ในอดีตประเทศไทยเน้นการเลี้ยงไก่สายพันธุ์พื้นเมืองเป็นหลัก เช่น ไก่อู่ ไก่ตะเภา และไก่แจ้ โดยเลี้ยงแบบปล่อยไม่มีการจัดการใดๆ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เรื่องของโภชนาการ การบริโภคอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่เริ่มเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง พร้อมกันนี้บุคลากรทางการแพทย์ของไทยได้มีการนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้แก่ประชาชนชาวไทยอีกด้วย ทั้งนี้ ได้มีการชูไข่ไก่ให้เป็นแหล่งโปรตีนหลักของประเทศไทย หลังจากนั้นได้มีการเลี้ยงไก่ไข่ในเชิงธุรกิจมากยิ่งขึ้น
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเลี้ยงไก่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้น มีการนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยวางแผนการเลี้ยง ควบคุมโรค และมีการผลิตอุปกรณ์เลี้ยงไก่ในประเทศครั้งแรก
รูปแบบการเลี้ยงสัตว์ปีกให้ได้มาตรฐาน
การเลี้ยงสัตว์ปีก ไม่ว่าจะเป็นนกกระทา เป็ด หรือไก่ มีรูปแบบการเลี้ยงที่คล้ายคลึงกัน ในเชิงธุรกิจมักนิยมเลี้ยงสัตว์ปีกในโรงเรือน ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิภายใน มีระบบระบายอากาศ รวมทั้งมีอุปกรณ์การให้น้ำให้อาหารที่เหมาะสม และการดูแลที่ใกล้ชิด รวมทั้งมีการสนับสนุนมาตรฐานจากภาครัฐ อาทิ กรมปศุสัตว์ เข้ามากำกับดูแลให้มาตรฐานการเลี้ยง เพื่อให้ทุกฟาร์มดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างมาตรฐาน GAP มาตรฐานการแบ่งแยกพื้นที่เลี้ยงสัตว์ออกจากพื้นที่พักอาศัยอย่างชัดเจน การทำความสะอาดบุคคล ยานพาหนะ หรืออุปกรณ์การเลี้ยง รวมทั้งการฉีดยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ซึ่งมาตรฐานนี้สร้างขึ้นสำหรับฟาร์มสัตว์ปีกขนาดใหญ่ เพื่อควบคุมและป้องกันโรคในฟาร์ม และยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับฟาร์มสัตว์ปีกขนาดเล็ก กรมปศุสัตว์ได้มีระบบ Good Farming Management หรือ GFM เพื่อให้เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ปีกแบบปล่อย หรือการเลี้ยงหลังบ้านมีมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น โดยมีการสร้างโรงเรือนขนาดเล็กเพื่อไม่ให้สัตว์ปีกในฟาร์มสัมผัสกับสัตว์พาหะ ข้อดีของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ GFM คือ ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นทำให้รายได้เพิ่มมากขึ้น ลดความเสี่ยงที่สัตว์จะป่วยกรณีเกิดโรคระบาด และได้สิทธิพิเศษอื่นๆ อาทิ มาตรฐานปศุสัตว์ OK นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานอื่นๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในฟาร์มสัตว์เลี้ยงของตนได้ เช่น การควบคุมการใช้ยาในฟาร์ม
เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ปีก
เทคโนโลยีที่ใช้คือการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) ของบริษัทซีพีเอฟ คือการนำข้อมูลการเลี้ยงต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์และทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้คือ Controlled Temperature การควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน Food Control Sensor มีการใช้ระบบเซ็นเซอร์ในการให้อาหารและน้ำแก่สัตว์ในฟาร์ม Camera Weight Sensor การใช้กล้องในการคาดคะเนน้ำหนักสัตว์ปีกภายในโรงเรือน นอกจากนี้ ยังมีระบบ Realtime farming ที่สามารถทราบอุณหภูมิ ความชื้น การให้น้ำและอาหารในฟาร์มแบบเรียลไทม์ ควบคุม ดูแลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต อีกทั้งยังมีระบบ birdoo Digitizing Poultry ที่ประยุกต์จากกล้องสามมิติ ประมวลผลด้วยระบบ Ai เพื่อประเมินสภาพสัตว์เลี้ยงแบบรายวัน และระบบอื่นๆ อีกมากมาย