สศก. จับมือ ABARES พัฒนาสารสนเทศการเกษตรเพื่อการพยากรณ์สินค้าเกษตร

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบาย จัดทำ บริหารจัดการ และให้บริการข้อมูลสารสนเทศการเกษตรของประเทศ ซึ่งหนึ่งในภารกิจสำคัญคือ การพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตร เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มและสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตร สำหรับนำไปใช้ในการจัดทำแผน เสนอแนะนโยบาย และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการวางแผนการผลิต การตลาดให้สอดคล้องทันต่อสถานการณ์

ปัจจุบัน สศก. ได้มีการจัดทำข้อมูลพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตร ระดับจังหวัด รวม 24 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง สับปะรดโรงงาน (ปัตตาเวีย) มันสำปะหลังโรงงาน กาแฟ มะพร้าวผลแก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง กุ้งขาวแวนนาไม กุ้งกุลาดำ ปลานิล ปลาดุก โดยมีรายละเอียด ได้แก่ เนื้อที่เพาะปลูก เนื้อที่เก็บเกี่ยวหรือเนื้อที่ให้ผล ผลผลิต ผลผลิตต่อเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล ซึ่งจะเป็นการพยากรณ์ผลผลิตทั้งปี และปรับค่าพยากรณ์ตามสถานการณ์การผลิตทุกๆ 3 เดือน

ล่าสุด สศก. ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ พัฒนาแบบจำลองเพื่อการพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตร โดยใช้ Machine Learning หรือเทคโนโลยีด้าน AI (Artificial  Intelligence) นอกจากนี้ สศก. ยังได้ศึกษาวิธีการพยากรณ์ของหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งมีโครงการความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้กับ Bureau of Agricultural and Resource Economics and Science (ABARES) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยอิสระมีหน้าที่ให้ข้อมูล การวิจัย การวิเคราะห์และข้อเสนอแนะนโยบาย ให้แก่กระทรวงเกษตร น้ำ และสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลออสเตรเลีย โดย ABARES ใช้แบบจำลอง Machine Learning เพื่อการพยากรณ์ผลผลิตและรายได้ การใช้ปัจจัยการผลิต ต้นทุนการผลิต ผลตอบแทน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงผลผลิตคงคลัง (Change in stock) ในระดับฟาร์ม ภูมิภาค และประเทศ โดยพิจารณาจากสภาพภูมิอากาศ ราคาปัจจัยการผลิต และราคาสินค้าเกษตร อีกทั้งยังสามารถนำแบบจำลองมาใช้ในการประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันและอนาคตที่อาจเกิดขึ้นต่อความสามารถในการทำกำไรของฟาร์ม  อีกทั้งยังสามารถใช้ค่าพยากรณ์ในการจัดทำตัวชี้วัดความเสี่ยงจากภัยแล้ง และความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้อีกด้วย

สำหรับท่านสนใจขอรับบริการข้อมูลด้านสนเทศการเกษตร สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่ ส่วนปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร ศูนย์สารสนเทศการเกษตร โทร. 02-561-2870 ในวันและเวลาราชการ หรือ e mail : [email protected]