เภสัชกรแนะ กัญชาปลดล็อค แต่ต้องใช้อย่างระวัง

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ “ปลดล็อคกัญชา กัญชง” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565” ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ให้สามารถใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของพืชกัญชา กัญชง สามารถปลูกรับประทาน และจำหน่ายได้เสรีอย่างเป็นทางการ โดยยกเว้นสารสกัดที่มีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) หรือสารที่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท เกินร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก และยกเว้นสารสกัดจากเมล็ดกัญชง กัญชาที่ยังถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งได้สร้างความฮือฮาให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การใช้พืชตระกูลนี้ยังถือเป็นเรื่องใหม่ที่หลายคนกังวลใจเรื่องการใช้งานที่ผิดและไม่เหมาะสม

สารออกฤทธิ์ในพืชกัญชง กัญชา

จากเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต ระบุว่า ในกัญชาพบสารออกฤทธิ์ 2 ตัว คือ Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabinoid (CBD) โดยสาร CBD เป็นสารออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางยา หรือในเชิงการรักษาซึ่งต้องใช้ในปริมาณมาก ในปัจจุบันไม่ได้จัดเป็นสารเสพติด ไม่มีการออกฤทธิ์ทางจิตประสาทมีประโยชน์ในการระงับปวด ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระ จึงนิยมนำมาใช้เป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหาร และยา ส่วน THC เป็นสารออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท มีผลต่อสมอง โดยสารออกฤทธิ์นี้จะใช้ในทางยาเท่านั้น

อาหารสามารถใส่กัญชาได้มากแค่ไหน

เภสัชกรพิสณฑ์ ศรีบัณฑิต เภสัชกรชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การนำกัญชา กัญชงมาปรุงอาหารไม่ควรหวังผลทางการรักษา ให้เน้นการปรุงเพื่อเติมแต่งรสชาติให้มีความหลากหลายเท่านั้น โดยการปรุงอาหารมักใช้ส่วนใบของกัญชา ซึ่งใบกัญชาหนึ่งใบมีสาร THC ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม นับว่ามีปริมาณน้อย ข้อแนะนำจากประกาศกรมอนามัย เรื่องการใช้ใบกัญชง กัญชามาใช้ในการประกอบอาหาร อาหารสามารถใส่ใบกัญชาสดได้ 1 ใบ ต่อจาน โดยหนึ่งวันไม่ควรบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเกิน 5 จาน ทั้งนี้ หากใช้ความร้อนในการปรุงอาหารมาก สาร THC จะเพิ่มปริมาณและเปลี่ยนเป็นสารเมามากขึ้นด้วย การปรุงอาหารด้วยวิธีการทอด ถือว่าเป็นวิธีการที่ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง นอกจากสาร THC จะมีอยู่ในใบกัญชาแล้ว ยังมีในน้ำมันอีกด้วย หากนำน้ำมันไปทอดซ้ำสารเมาก็จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ร้านอาหารที่ใช้ใบกัญชาในการประกอบอาหารควรติดป้ายบอกลูกค้าให้ทราบอย่างชัดเจน หรือสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค เพื่อป้องกันอันตรายสำหรับผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารดังกล่าว

ข้อควรระวังในการบริโภคกัญชา กัญชง

นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังในการบริโภคพืชกัญชง กัญชา โดยไม่แนะนำให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตรบริโภคกัญชงและกัญชา เนื่องจากผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หากได้รับสาร THC เข้าไปในร่างกายจะส่งผลกระทบต่อสมอง วิธีการคิด นอกจากนี้ ผู้ที่ไวต่อสาร THC หรือ CBD รวมทั้งผู้ที่แพ้สารนี้ หรือผู้ที่เคยทานแล้วเกิดอาการใจสั่น หน้ามืด นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากเกินไป ให้หยุดทานทันที พร้อมกันนี้ยังรวมถึงผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะ และทำงานเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรไม่แนะนำให้ทานเช่นกัน

กัญชา กับทางเลือกในการรักษาโรค

การปลดล็อคกัญชาถือว่าเป็นทางรอด และทางเลือกของการรักษาหลายโลก อาทิ มะเร็ง พากินสัน โดยโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ได้นำไปใช้รักษาผู้ป่วยพาร์กินสัน ผลคือผู้ป่วยที่ได้รับยากัญชาสามารถควบคุมอาการสั่นได้ดี แต่ไม่แนะนำการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคไต เนื่องจากกัญชาถือว่าเป็นพืชที่ดูดสารพิษเข้าตนเอง โดยเฉพาะโลหะหนักจำพวกแคดเมียม ซึ่งนากต่อการกำจัดเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้น อาจจะเกิดผลเสียตามมา อย่างไรก็ตาม หากต้องการใช้กัญชาในการรักษาโรคให้เข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากโรงพยาบาลของภาครัฐทุกแห่งมีระบบการรักษาด้วยยากัญชาอยู่ ซึ่งลดความอันตรายจากการใช้งานที่ผิด และการใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม

“สิ่งที่กังวลคือการเอาไปใช้ผิด บางสิ่งบางอย่างมีทั้งคุณและโทษ หากใช้อย่างมีความรู้และมีสติจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่” เภสัชกรพิสณฑ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้กัญชง กัญชาจะถูกปลดล็อกจนสามารถปลูก จำหน่าย รับประทาน และใช้ประโยชน์ในทุกส่วนได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้  กัญชง กัญชาต้องมีความรู้และระมัดระวังเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งทำตามคำแนะนำจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเสี่ยงในการศูนย์เสีย นอกจากยังมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่ต้องทราบ เช่น หากกระทำการให้เกิดกลิ่น หรือควัน เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทางที่ไม่เหมาะสม อาทิ การสันทนาการที่อาจกระทบกับชีวิต และเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือผู้ที่อาศัยโดยรอบ เป็นเหตุรำคาญแก่ผู้อื่นถือเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2565

เขียน : ศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาพ : ศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัย  เชียงใหม่ / เภสัชกรพิสณฑ์ ศรีบัณฑิต