“กรมวิชาการเกษตร และจังหวัดสงขลา ยก “สทิงพระโมเดล” เป็นต้นแบบเกษตรแก้จนเพื่อชุมชนเข้มแข็ง”

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลการผลิตพืชในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะมายกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรและชุมชนให้พึ่งตนเองได้ โดยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา (สวพ.8) ได้วิจัยสร้างนวัตกรรมการนำศาสตร์พระราชา มาพัฒนาการผลิตพืชให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ คือ “รำแดงโมเดล”

โดยขับเคลื่อน “4 เสาหลักเกษตรตามศาสตร์พระราชาเพื่อชุมชนพึ่งตนเอง” ประกอบด้วย เสาหลักที่ 1 การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยการจัดตั้งกลุ่ม พัฒนากลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน และจัดเวทีสัญจรเยี่ยมบ้าน เสาหลักที่ 2 การพัฒนา 9 พืชผสมผสานและเกษตรผสมผสานพอเพียง มีการปลูกพืชที่หลากหลาย เช่น พืชรายได้ พืชอาหาร พืชสมุนไพรสุขภาพ สมุนไพรกำจัดศัตรูพืช พืชอนุรักษ์ดินและน้ำ พืชอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น พืชใช้สอย พืชอาหารสัตว์ และพืชพลังงาน เป็นต้น เสาหลักที่ 3 การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร มีการนำสินค้ามาแปรรูปเพื่อให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้น และมีการรับรองมาตรฐาน GAP และ organic

เสาหลักที่ 4 การเชื่อมโยงภาคเกษตรกับภาคส่วนต่างๆ เช่น เชื่อมโยงชุมชน เชื่อมภาคการพัฒนาท้องถิ่น ภาคการตลาด และภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ขยายผล “4 เสาหลักชุมชนเกษตรพึ่งตนเองตามศาสตร์พระราชา” ไปสู่การพัฒนาชุมชนต้นแบบในจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา ได้ขยายผลไปสู่ชุมชน “ป่าขาดโมเดล” “บ้านแคโมเดล” จนกระทั่งมาถึง “สทิงพระโมเดล” ที่ สวพ.8 ได้จับมือกับหน่วยงานกรมส่งเสริมการเกษตร คือสำนักงานเกษตรอำเภอสทิงพระ นำผลการวิจัยไปใช้ในระบบการส่งเสริมการเกษตรของอำเภอ

นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวในโอกาสที่เดินทางมาร่วมงานชุมชนสัญจร ว่า สทิงพระโมเดล เป็นงานวิจัยที่นำศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหาความยากจนได้ ซึ่งพื้นที่ คาบสมุทรสทิงพระ เป็นพื้นที่ที่เกษตรกรมีรายได้ต่ำกว่าเขตพื้นที่อื่นๆ ของสงขลา ที่พึ่งพายางพาราและไม้ผลเป็นพืชหลัก เนื่องจากมีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่นา มีทะเลด้านตะวันออกคืออ่าวไทย ด้านตะวันตกคือทะเลสาบสงขลา พื้นที่เป็นที่นาและมีต้นตาลโตนดตามคันนาที่ขึ้นอยู่ทั่วพื้นที่ ปัจจุบันมีสวนปาล์มและไร่นาสวนผสมที่มีการขุดร่องสวนให้เห็นเป็นบางจุด

ข้อจำกัดของพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระเป็นพื้นที่ขาดน้ำจืดในการทำการเกษตร มีน้ำท่วมในฤดูฝน ดินเหมาะสมกับการปลูกข้าว จึงเป็นดินแดนที่มีข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ แต่ขาดพืชผัก ผลไม้ คนคาบสมุทรสทิงพระในอดีตจึงมีค่านิยมในการที่จะให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือเพื่อที่จะได้หลุดพ้นจากความยากจนและความยากลำบาก ส่วนแรงงานจะมีการย้ายถิ่นไปชุมชนเมืองสงขลา และเคลื่อนย้ายไปทำงานภาคบริการ และอุตสาหกรรม ในการพัฒนา หน่วยงานด้านเกษตรมีความพยายามในการพัฒนาคาบสมุทรสทิงพระในเรื่องการจัดหาแหล่งน้ำ การระบายน้ำท่วม การปลูกพืชอื่นที่หลากหลาย การประมง ปศุสัตว์ พัฒนาที่ดิน สหกรณ์ การท่องเที่ยวชุมชน และ อื่นๆ

การที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร ได้นำผลงานวิจัย สทิงพระโมเดล มาพัฒนาการเกษตรทั้งระบบในพื้นที่คาบสมุทรถือว่าส่งผลออกมาดีมาก โดยเฉพาะการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ถือว่าเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ชุมชนจะต้องระเบิดจากข้างในตาม 23 หลักทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อชุมชนมีความพร้อม หน่วยงานต่างๆ ก็พร้อมที่จะลงมาสนับสนุนต่อยอด มีการพัฒนาพืชผสมผสาน การสร้างมูลค่าพืช และการเชื่อมโยงเครือข่าย ก็ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยดึงพลังจากภายนอกเข้ามาช่วยชุมชนท้องถิ่นที่มีทรัพยากรอยู่จำกัด

ผลการพัฒนาจะเห็นว่าทำให้เกษตรกรเกิดการเพิ่มรายได้ เกิดความมั่นคงทางอาหาร เกิดความเข้มแข็งของชุมชน เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร และเกิดการพึ่งตนเองของชุมชน แนวทางสทิงพระโมเดลนี้จะแนะนำให้ทางหน่วยงานส่งเสริมนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป นอกจากนั้น สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ก็จะนำสทิงพระโมเดลไปถ่ายทอดสู่นักส่งเสริมใน 14 จังหวัดภาคใต้เพื่อนำไปขยายผลด้วย

กิจกรรมชุมชนสัญจรสทิงพระโมเดล ที่จัดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน 65 ที่ชุมชนดีหลวง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่บ้าน ร.ต.ท. จารึก สมัครพงศ์ ได้มีภาคส่วนต่างๆ ร่วมเวที เช่น ส.ส. เขต 4 สงขลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในภาคใต้ตอนล่าง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา สำนักงานประมง ปศุสัตว์ พัฒนาที่ดิน วัดดีหลวง อบต.ดีหลวง เกษตรกรจากชุมชนต่างๆ เช่น ตำบลท่าหิน ชุมพล บ่อดาน จะทิ้งพระ ดีหลวง วัดจันทร์ รำแดง บ้านแค ป่าขาด เป็นต้น รวมประมาณ 150 คน

โดย เวทีชุมชนสัญจรเยี่ยมชุมชนเครือข่ายหมุนเวียนกันไปเดือนละครั้ง เพื่อทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความสมัครสมานสามัคคี สร้างความเข้มแข็งในการรวมตัวเพื่อดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาการเกษตร ซึ่งการเยี่ยมบ้านเยี่ยมชุมชนจะมีกิจกรรม คือ “ของฝากจากเพื่อนบ้าน” “เรื่องเล่าจากเจ้าของบ้าน” “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาและวิชาการ” “ปรึกษาหารือ” และ “รับประทานอาหารร่วมกัน” ผลดีของการพัฒนาที่เห็นได้ชัดเจนคือการทำให้เกิดการร่วมมือของเกษตรกรในชุมชนที่เข้มแข็งขึ้นมีการพัฒนาการปลูกพืชที่รวดเร็ว เกษตรกรมีแรงกระตุ้น และแรงบันดาลใจในการทำการเกษตรที่หลากหลายขึ้น และเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนา เป็นต้น

“สทิงพระโมเดล” เป็นอำเภอต้นแบบของการนำกระบวนการของการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรแบบมีส่วนร่วม โดยนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ตามแนวทาง 4 เสาหลักสู่ชุมชนเกษตรพึ่งตนเอง ชุมชนที่สนใจที่จะขยายผลรูปแบบของการพัฒนาสามารถประสานงานกับสำนักงานเกษตรอำเภอสทิงพระ กรมส่งเสริมการเกษตร หรือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์