“ผึ้งโพรง” เลี้ยงง่าย ต้นทุนต่ำ ฝากเลี้ยงในสวนคนอื่นได้ สร้างผลกำไรเกิน 50 เปอร์เซ็นต์

“ผึ้ง” ถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี ว่าถ้าหากพื้นที่ตรงไหนหรือสวนไม้ผลไม้ดอกที่ไหนมีผึ้งมาอาศัยอยู่มาก ก็แปลได้ว่าบนพื้นที่แห่งนั้นค่อนข้างที่จะมีแหล่งน้ำ แหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งนอกเหนือจากสิ่งบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์แล้ว “น้ำผึ้ง” คือของดีมีประโยชน์ จะนำมาประกอบอาหารหรือทำเป็นยาคุณค่าก็สูงทั้งนั้น แต่น้ำผึ้งแท้ๆ ไม่มีส่วนผสมอื่นเจือปนในปัจจุบันหากินยากขึ้นทุกที สาเหตุหลักคือ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติลดน้อยลง ประกอบกับมีผู้รู้วิธีการเลี้ยงและดูแลผึ้งโพรงป่าที่ถูกต้องมีจำนวนน้อย

คุณสันต์ ติ๊บปาละ หรือ พี่สันต์

ดังนั้น หากใครกำลังสนใจอยากเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพเสริม ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่สนใจอยู่ไม่น้อย ด้วยวิธีการดูแลไม่ยาก ใช้พื้นที่น้อย สามารถฝากให้ชาวบ้านช่วยเลี้ยงได้ แต่มีข้อแม้ว่าพื้นที่ตรงนั้นต้องมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ปลอดจากสารเคมี

สร้างรวงรังซ้อนกันหลายชั้น

คุณสันต์ ติ๊บปาละ หรือ พี่สันต์ อยู่บ้านเลขที่ 181 หมู่ที่ 16 ตำบลม่วงคำ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งโพรง สร้างรายได้มานานนับ 10 ปี ด้วยข้อดีที่ไม่ต้องใช้เวลาดูแลเยอะ ลงทุนไม่มาก ตลาดไม่ตัน และราคาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับไม้ผลหลายชนิดที่มีแต่จะถูกลงๆ แต่ถ้าหากท่านใดสนใจอยากเลี้ยงก็อย่าเพิ่งใจร้อน พี่สันต์บอกว่า การเลี้ยงผึ้งเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย ต้องอาศัยประสบการณ์ ความขยัน ความเข้าใจธรรมชาติของผึ้งโพรง การเป็นคนช่างสังเกต และสถานที่เลี้ยงที่เหมาะสมถึงจะไปรอด

ทำรังในโพรงไม้ มีรูเข้าออกเป็นช่องเล็กๆ สร้างรวงรังซ้อนกันหลายชั้นว่า ผึ้งโก๋น

พี่สันต์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเลี้ยงผึ้งโพรงว่า เริ่มต้นจากการเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ทำโพรงไม้ไว้ตามหลังบ้าน เพื่อให้ผึ้งโพรงป่ามาทำรัง โดยส่วนมากจะเป็นผึ้งประจำถิ่นที่เข้ามา ตนเองก็เกิดความสนใจตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา แต่เพิ่งได้มาลงมือทำแบบจริงจังประมาณ 10 ปี เริ่มจากการทดลองทำโพรงไม้ขึ้นมาโดยที่ยังไม่รู้เทคนิคและวิธีการเลี้ยง อาศัยครูพักลักจำและถามผู้เฒ่าผู้แก่ให้ถ่ายทอดเทคนิคการเลี้ยงให้ แล้วนำมาผสมผสานปรับปรุงใช้ให้เข้ากับยุคสมัย

ต้นปาล์มขวด ตัดทิ้งตากฝนตากแดดสัก 4 เดือน เดี๋ยวตรงกลางจะยุบเอง

จากนั้นโพรงที่เคยทำไว้ก็เริ่มมีผึ้งเข้ามาอยู่ จึงได้มีการพัฒนาทั้งรูปแบบโพรงให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น มีทั้งโพรงไม้ธรรมชาติ จากไม้มะพร้าว ไม้ตาล ไม้สัก และโพรงไม้แผ่นที่ประกอบขึ้นมาเอง โดยข้อได้เปรียบของพื้นที่บริเวณตรงนี้คือ เป็นพื้นที่ติดภูเขา ค่อนข้างมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำที่ดี เหมาะสมในการเลี้ยงผึ้งอยู่แล้ว

รังที่วางใต้หน้าผาบนหุบเขา

เลี้ยงผึ้งโพรง 500 รัง
ไม่ต้องมีพื้นที่เยอะก็ทำได้

พี่สันต์ บอกว่า ปัจจุบันตนเองเลี้ยงผึ้งโพรง หรือภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า ผึ้งโก๋น เรียกผึ้งที่ทำรังในโพรงไม้มีรูเข้าออกเป็นช่องเล็กๆ สร้างรวงรังซ้อนกันหลายชั้นว่า ผึ้งโก๋น ซึ่งหลายคนสงสัยว่าการที่จะเลี้ยงผึ้ง 500 รัง จำเป็นต้องมีพื้นที่เยอะ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะการเลี้ยงผึ้งของตนเองจะเป็นการฝากให้ธรรมชาติช่วยเลี้ยงส่วนหนึ่ง และอีกส่วนเป็นการนำไปฝากไว้กับชาวสวนชาวไร่ในชุมชนที่สนใจ จำนวนบ้านละ 10-20 รัง ใช้เวลาว่างขึ้นไปดูบ้างสัก 15 วันครั้ง พอถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งก็จะให้น้ำผึ้งเป็นสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ให้กับพวกเขา

โพรงผึ้งที่ทำจากไม้มะพร้าว

“คือพี่จะทำโพรงไว้ขนานกับภูเขา พอผึ้งลงมาก็จะเจอโพรงที่พี่ทำไว้ พี่ก็ไม่ได้ดูแลอะไรมาก ดูแลแค่เรื่องมด แมลง กิ้งก่า จิ้งจก ให้เขาหาอาหารกินเองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นดอกไม้ป่า แล้วก็เก็บน้ำผึ้งแค่ปีละครั้ง เริ่มเก็บตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงประมาณเดือนเมษายน ซึ่งการเลี้ยงผึ้งในแต่ละปี บางโพรงก็อพยพกลับขึ้นภูเขา หรือว่าบางโพรงก็ยังอยู่ที่เดิมก็ปล่อยให้อยู่ไป หรือโพรงไหนที่ไม่มีผึ้งมาอยู่ก็ทำความสะอาดแล้วก็ล่อให้เข้ามาอยู่ใหม่ จะเป็นวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะผึ้งไม่ใช่ว่าจะมาทำรังครบทั้ง 500 รังที่เรามี”

ทำรังที่ไหนก็ได้ หากพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์

วิธีการเลี้ยงผึ้งโพรงที่เหมาะสม

  1. การเลี้ยงผึ้งโพรง เป็นอาชีพที่ไม่ต้องลงทุนมาก แต่ต้องอาศัยทั้งทักษะประสบการณ์ ความเป็นคนช่างสังเกต และมีปัจจัยสำคัญคืออยู่ที่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพราะผึ้งถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ หากพื้นที่ไหนมีสารเคมีจะไม่มีผึ้งอยู่ แต่ถ้าพื้นที่ไหนปลอดสารเคมี หรือยาฆ่าแมลง ตรงนั้นก็จะมีผึ้งอาศัยอยู่เยอะ นำไปสู่จุดเชื่อมโยงกับพืชสวน

“เมื่อก่อนชาวบ้านแถวนี้ยังไม่มีใครทำ แต่พอเขาได้เห็นพี่ทำเขาก็เริ่มสนใจทำตาม เขาเห็นเราได้ขายน้ำผึ้งเขาก็อยากได้บ้าง ก็สอดคล้องกับว่าถ้าอยากได้น้ำผึ้ง ที่สวนเขาก็ต้องลด ละ เลิก การใช้สารเคมีก่อน ไม่งั้นผึ้งจะอยู่ไม่ได้”

  1. สถานที่และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะต้องเป็นพื้นที่ร่มรื่นและผึ้งจะชอบพื้นที่ที่มีบริเวณให้เขาสามารถร่อนลงได้สะดวก เช่น แถวบริเวณใต้ต้นไม้ ในป่าใหญ่ หรือเป็นสถานที่ใกล้กับแหล่งที่ผึ้งอาศัยอยู่เป็นหลัก เช่น บริเวณถ้ำ หน้าผา เพราะผึ้งที่อาศัยอยู่บนเขาจริงๆ จะไม่มีโพรงอยู่ จะอาศัยโพรงดินบ้าง โพรงถ้ำบ้าง ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นการขยายโพรงจะเป็นไปได้ยากกว่า เพราะบริเวณด้านในไม่ได้กว้าง หรือมีความสะอาดพอที่ผึ้งจะขยายได้

“ผึ้งตรงนี้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี คือผึ้งจะเริ่มเข้ามาอยู่ เข้ามาทำรังในโพรงที่เราสร้างไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และจะมีการแยกรัง คือพอรังมันสมบูรณ์ ช่วงที่มีดอกไม้เยอะๆ ผึ้งนางพญาก็จะสร้างผึ้งงานได้เยอะขึ้น และถ้ามีปริมาณเยอะพอมันจะไข่เป็นนางพญาออกมา พอนางพญาตัวใหม่พร้อมมันก็จะแยกรังออกไป ยิ่งถ้าที่อยู่อาศัยเขาดี เขาก็จะแยกรังได้เยอะ”

  1. ระยะห่างในการติดตั้งรัง จริงๆ แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ บางจุดจะใช้ระยะห่าง 2 เมตร บางจุดจะใช้ระยะห่าง 3 เมตร และการตั้งรังต้องตั้งหันหน้าให้ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด
  2. การสร้างรัง สำคัญที่สุดคือไม้ที่นำมาทำต้องเป็นไม้ที่สะอาด ไม่ผ่านการอบยามาก่อน ยิ่งถ้าเป็นไม้เก่าหรือไม้ฝาบ้านเก่าจะยิ่งดี แล้วนำมาทำความสะอาดอีกครั้ง เพราะผึ้งเป็นสัตว์ที่รักความสะอาด หากมีเศษฝุ่น เศษดิน ต้องล้างออกให้หมด แล้วจึงค่อยนำมาประกอบทำเป็นรังในขนาดที่เหมาะสม ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป โดยความกว้างที่ประมาณ 30 เซนติเมตร และความยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร โดยด้านบนของรังจะใช้สังกะสีเก่าในการทำเป็นหลังคา เพื่อรักษาให้รังไม้คงทนอยู่ได้นานเป็น 10 ปี

“ตามธรรมชาติของผึ้งแล้ว ก่อนที่ผึ้งจะเข้ามาอยู่ในรัง เขาจะมีผึ้งสำรวจเข้ามาก่อน เหมือนเป็นกรรมการชุดแรก จะมีสัก 3-4 ตัว พอมาสำรวจเสร็จ แล้วเขาจะบินเข้าบินออกดูมุมร่อน ดูทิศทาง แล้วก็จะกลับไปบอกกรรมการอีกชุดหนึ่ง ก็จะพากันมาอีกประมาณ 40-50 ตัว ถ้าโอเคเขาก็จะกลับไปบอกพวกอีกชุดแล้วก็จะพากันเข้ามาอยู่ในโพรง มันก็จะสนุกตอนได้ลุ้นว่าผึ้งจะมาเข้าโพรงไหม เพราะผึ้งไม่ใช่ว่าจะมีชุดเดียว อาจจะไปสำรวจเป็น 10 โพรง ผึ้งก็จะเลือกอยู่โพรงที่ดีที่สุด”

  1. ล่อผึ้งเข้าโพรง หลังจากเตรียมโพรงเสร็จ จะทาไขผึ้งเพื่อล่อผึ้งให้เข้ามาอยู่ในโพรง พอทาเสร็จการดูแลหลังจากนั้นคือ ดูแลมด แมลง และสัตว์รบกวนอื่นๆ อย่างเช่น จิ้งจก กิ้งก่า วิธีป้องกัน ถ้าเป็นมดจะใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องเก่ามาคลุมไว้ที่ขาตั้งของรัง มดก็จะไม่ขึ้น แต่ถ้าเป็นสัตว์รบกวนชนิดอื่นๆ จะใช้วิธีกำจัดด้วยการจับทิ้ง
ซ่อนโพรงไว้ตามแนวเขา ได้รวงผึ้งที่อุดมสมบูรณ์

อุปสรรคในการเลี้ยงผึ้ง คือฤดูกาล ถ้าหากปีไหนสภาพอากาศแปรปรวน อย่างปีนี้ฝนตกเยอะผึ้งจะไม่ค่อยลงมาจากภูเขา และการแยกรังก็จะน้อย และปัญหาที่ตามมาอีกอย่างคือ ความชื้น ทำให้เวลาที่จะเก็บน้ำผึ้งต้องหาจังหวะตรงกับที่ช่วงแดดจัด หรือวันที่อากาศร้อนๆ จะดีกว่า และต้องมีการนำมาคลายความชื้นอีกครั้ง

ถึงเวลาเก็บผลผลิต

ปริมาณผลผลิต เฉลี่ย 5 ขวดต่อรัง สำหรับจำนวนรังผึ้งที่มีอยู่ 500 รัง จะมีผึ้งเข้ามาทำรังประมาณ 300 รัง ปริมาณน้ำผึ้งที่เก็บได้แต่ละรังไม่เท่ากัน บางรังให้น้ำผึ้งสูงถึง 10-15 ขวด ปริมาณขวดละ 700 ซีซี หรือบางรังให้น้ำผึ้งไม่ถึง 1 ขวดก็มี ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วปริมาณน้ำผึ้งต่อรังจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 ขวด เริ่มต้นเก็บน้ำผึ้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงน้ำผึ้งชุดสุดท้ายที่เป็นน้ำผึ้งช่วงที่ดีที่สุด คือช่วงเดือนเมษายน เพราะเดือนเมษายนจะตรงกับช่วงเดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ ที่เป็นช่วงที่แล้งที่สุด และเป็นช่วงที่น้ำผึ้งดีที่สุด มีความชื้นต่ำสุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วปริมาณผลผลิตที่ได้ขึ้นอยู่กับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และประสบการณ์เป็นตัวตั้ง ไม่สามารถกำหนดปริมาณได้อย่างแม่นยำ เพราะเมื่อถึงฤดูกาล หากคนไหนที่ขยัน ดูแลผึ้งได้ดีที่สุด รู้จังหวะและช่วงเวลาที่ดีที่สุด เข้าใจธรรมชาติได้ดีที่สุด คนนั้นก็จะได้น้ำผึ้งเยอะที่สุด

ค่อยๆ ตักรวงผึ้งอย่างเบามือ

ขั้นตอนการเก็บรังผึ้งที่ถูกต้อง
แยกขายได้หลายผลิตภัณฑ์

เจ้าของบอกว่า สำหรับวิธีการเก็บน้ำผึ้งอย่างถูกต้อง จะทำให้ได้น้ำผึ้งที่สะอาดบริสุทธิ์ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บรวงออกมา ให้แยกชั้นออกเป็น 3 ชั้น ชั้นบนสุดจะเก็บไว้สำหรับคั้นน้ำผึ้ง ด้วยวิธีการนำรวงผึ้งมาหั่นแล้วใช้มีดสับให้ละเอียด แล้วไปใส่ไว้ในถุงผ้าขาว ห่อทับด้วยถุงพลาสติกอีกชั้น จากนั้นนำไปห้อยไว้กับราวไม้ที่เตรียมไว้ น้ำผึ้งจะหยดออกมาเอง โดยที่ไม่มีการบีบ ใช้เวลาประมาณ 3 วัน กว่าน้ำผึ้งจะออกมาทั้งหมด

แยกภาชนะใส่แต่ละส่วนให้ชัดเจน
วิธีคั้นน้ำผึ้งแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้น้ำผึ้งสด สะอาด บริสุทธิ์

ส่วนตรงกลางจะเป็นส่วนของเกสรผึ้ง และชั้นล่างสุดจะเป็นตัวอ่อน การเก็บคือต้องเริ่มเก็บแยกออกเป็น 3 ชั้น แยกภาชนะใส่ให้ชัดเจน เพราะถ้าเก็บมาทับกัน หรือว่าเอามาใส่รวมไปด้วยกัน โอกาสที่เกสรหรือตัวอ่อนจะแตกไปผสมกับน้ำผึ้งมันจะมีเยอะ และให้ทำอย่างเบามือที่สุด อย่าจับจนรวงผึ้งเละ หรือว่าตอนที่เก็บรวงผึ้งออกมา บางคนใช้สโมกในการสยบผึ้ง เป็นวิธีที่ไม่แนะนำเพราะจะทำให้กลิ่นควันติดไปที่รวงผึ้ง ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดควรใส่เสื้อผ้าที่หนาและชุดป้องกันที่ดี และรู้จังหวะของผึ้ง เพราะโดยธรรมชาติของผึ้งจะหวงรังอยู่แล้ว ก็ให้เบามือในการเปิดฝา และยกด้านท้ายของรังให้สูงขึ้น แล้วเคาะโพรงให้เกิดการสั่นสะเทือนจะทำให้ผึ้งเคลื่อนตัวไปอยู่ที่สูงแล้วผึ้งจะทิ้งรังไปอยู่ด้านบน แล้วพอเก็บรวงออกมาได้สัก 1 รวง ผึ้งจะเริ่มสงบ รวงต่อๆ ไปก็จะเก็บง่ายขึ้น นี่คือเทคนิคจากประสบการณ์ที่สะสมมา หากทำอย่างถูกต้องจะสามารถแยกขายได้หลากหลายผลิตภัณฑ์ คือ

  1. ขายเป็นรวงผึ้งสด 500 กรัม ราคา 300 บาท
  2. ขายเป็นน้ำผึ้งบรรจุใส่ขวด 700 ซีซี ราคา 300 บาท
  3. ขายเป็นเกสรผึ้ง 500 กรัม 300 บาท
  4. ไขผึ้ง ขายราคากิโลกรัมละ 500 บาท

คิดเป็นรายได้ปีละ 200,000 บาท หักลบต้นทุนค่าน้ำมันรถ ค่าบรรจุภัณฑ์ออกไป 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นกำไรทั้งหมด ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพสร้างรายได้ที่น่าสนใจ ใช้เงินลงทุนน้อย มีเวลาไม่ต้องมากก็สามารถทำได้

น้ำผึ้งแท้ บรรจุใส่ขวด 700 ซีซี ราคา 300 บาท

“ตลาดหลักของพี่มาจากตลาดออนไลน์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ตลาดหน้าสวนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ มีลูกค้าสั่งจากทั่วประเทศ และน้ำผึ้งถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มหัศจรรย์ ราคาจะขยับขึ้นตลอด สวนทางกลับไม้ผลหลายชนิด อย่างที่ของพี่เริ่มขายมาตั้งแต่ราคาขวดละ 200 บาท ขยับขึ้นเป็น 250 บาท จนตอนนี้เป็น 300 บาท และเป็นเพียงไม่กี่ผลิตภัณฑ์ที่หากขายถูกจะขายไม่ได้ เพราะคนจะไม่เชื่อในคุณภาพ หรือมองว่าเป็นน้ำผึ้งไม่แท้ การขายน้ำผึ้งก็เหมือนกับเป็นการใช้ใจแลกใจด้วย โดยเฉพาะทางใต้ขายน้ำผึ้งราคาขวดละ 300 บาท เขาบอกว่าถูก แต่ถ้าขายทางเหนือเขาจะบอกว่าแพง เพราะที่เหนือมีพื้นที่ผลิตน้ำผึ้งได้เยอะ ก็ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค และคนขายต้องอธิบายกับลูกค้าให้ได้ว่าน้ำผึ้งของเราเป็นน้ำผึ้งแท้อย่างไร ซึ่งน้ำผึ้งแท้จริงๆ จะมีกลิ่นที่หอมลึกลงคอ เป็นกลิ่นหอมของพื้นที่ตามดอกไม้ป่า” พี่สันต์ กล่าวทิ้งท้าย

รวงผึ้งสด 500 กรัม ราคา 300 บาท

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 085-618-6322 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : สันต์ ติ๊บปาละ