Smart Farm IOT นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ สร้างใช้เองได้ ลดต้นทุน ลดเวลา ง่ายนิดเดียว

คุณนิรันดร์ สมพงษ์ หรือ คุณโอ๋ ประธานสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง (คทช.) จำกัด ในพื้นที่หมู่ที่ 15 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดค้นและต่อยอดนวัตกรรม Smart Farm IOT นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ นวัตกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อจัดการระบบแปลงเกษตร ควบคุมและสั่งงานอัตโนมัติในระยะไกลด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ต้นทุนต่ำ เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ ลดเวลา เพิ่มผลผลิต รายได้เพิ่มขึ้น เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

จุดเริ่มต้นของการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมตัวนี้มาจากปัญหาทางการเกษตรในเรื่องของราคาผลผลิตตกต่ำ เพราะฉะนั้นการขายผลผลิตให้ได้ราคา ตลาดที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อต่อการขายผลผลิตของเกษตรกรอยู่แล้ว สิ่งที่เกษตรกรสามารถทำได้คือ การลดต้นทุนในการผลิตให้น้อยลงที่สุด รวมถึงในปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ มีการพัฒนาไปไกลในการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรที่เกิดขึ้นได้จริงนั่นเอง

ซึ่งปัญหาหลักในการแก้ไขในเรื่องแรกคือ การลดต้นทุน ลดเวลา เพิ่มผลผลิต และการเพิ่มศักยภาพในการเพาะปลูกพืชให้ดีขึ้นและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยเหตุผลต่างๆ จึงนำมาสู่โจทย์การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้การทำเกษตรกรรม คุณนิรันดร์จึงหาอุปกรณ์ที่จะใช้ทำนวัตกรรมตัวนี้ขึ้นมา ปรากฏว่าอุปกรณ์ดังกล่าวที่จะจัดทำขึ้นนั้น เป็นของต่างชาติที่ใช้กันมานานแล้วและค่อนข้างที่จะมีราคาสูงมาก รวมถึงหากวันใดวันหนึ่งเทคโนโลยีตัวดังกล่าวเลิกผลิตไปแล้ว อาจจะส่งผลกระทบเกษตรผู้ใช้งานจริงได้ในอนาคต

ผลผลิตที่ได้หลังจากใช้ระบบ Smart Farm IOT นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ
เด็กที่เข้ามาเรียนรู้ระบบ Smart Farm IOT นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ

คุณนิรันดร์ จึงคิดค้นและสร้างนวัตกรรม Smart Farm IOT นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ ภายใต้ข้อจำกัด 3 ข้อ คือ

  1. เทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้ ต้องมีราคาที่ถูกมาก เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงได้จริง
  2. อุปกรณ์ที่ใช้ซ่อมแซม Smart Farm IOT นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ ต้องหาง่าย ตามร้านขายอุปกรณ์ทั่วไป
  3. เกษตรกรที่ใช้งาน สามารถประกอบติดตั้งและซ่อมแซมด้วยตนเองได้

Smart Farm IOT นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ จะเข้ามาทำหน้าที่เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ภาคการเกษตรภายใต้ระบบการทำงานที่มีการเขียนโปรแกรมและติดตั้ง ทั้งระบบ AI หรือ DATA BASE ซึ่งจะมาลงมือทำแทนหน้าที่เกษตรกรผ่านการสั่งงานผ่านแอปพลิเคชั่นในมือถือเครื่องเดียว เช่น การควบคุมระบบน้ำ ตรวจสอบความชื้นของดิน ควบคุมระบบไฟฟ้า ควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น

ระบบวงจร IOT
อุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งภายในระบบ Smart Farm IOT

“นวัตกรรมนี้การทำงานหลักคือการจัดการเรื่องระบบแปลงเกษตร ไม่ว่าจะเป็นโรงเรือนเพาะเห็ด เครื่องทำปุ๋ย หรือเครื่องดูแลแปลงเกษตร แปลงไร่ แปลงนา แปลงสวนทั้งหมด สามารถใช้รดน้ำ ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืชและแมลงได้อัตโนมัติด้วย”

สำหรับรูปแบบการทำงานมีด้วยกันทั้งหมด 3 หัวข้อ คือ

  1. รู้ไว้ คือ ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นคืออะไร รู้เพียงอย่างเดียวว่าบนโลกใบนี้มีของแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว ทำอะไรได้บ้างและราคาเท่าไหร่
  2. รู้ทำ คือ เกษตรกรที่พอมีความรู้ มีความเข้าใจมาเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรม Smart Farm IOT นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ
  3. รู้คิด คือ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และสามารถต่อยอดในการใช้งานได้ในอนาคต

ด้านการลงทุนในการทำ Smart Farm IOT นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะนั้น คุณนิรันดร์มีความตั้งใจที่ทำนวัตกรรมที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ด้วยงบประมาณในการสร้างเพียงหลักร้อยเพียงเท่านั้น เนื่องด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมการสั่งงานนวัตกรรม แบบประกอบขึ้นใช้เองนั้น สามารถใช้งานได้ในระยะยาว มีความคงทนและมีราคาไม่เกิน 500 บาท ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ดังต่อไปนี้

คุณนิรันดร์ สมพงษ์ หรือ คุณโอ๋
รางวัลชนะเลิศโครงการประกวด Green Impact คลิก…พลิกประเทศ
  1. Node MCU : 100 บาท
  2. Relay : 100 บาท
  3. Display : 100 บาท
  4. Sensor : 100 บาท

ผลตอบรับทางด้านการใช้ Smart Farm IOT นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ชุมชนได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมนี้ มีการก่อตั้งทีมและสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมาแล้วตอนนี้ 7 จังหวัด ใน 10 พื้นที่

 

การติดตั้งระบบ Smart Farm IOT ในพื้นที่ ไม่มีไฟฟ้าและสัญญาณ internet
การใช้ Smart Farm IOT ควบคุมระบบการรดน้ำอัตโนมัติ

“ผมมั่นใจเลยว่าเกษตรกรที่เป็นคนรุ่นใหม่ ต้องใช้นวัตกรรมตัวนี้แน่นอน เพราะเด็กรุ่นใหม่เขาจะไม่ลงมือทำเกษตรแบบเดิมๆ แล้ว ไม่จับจอบ จับเสียม มุ่งลงสู่แปลงอย่างเดียวแล้ว เมื่อถึงวันที่เขาจะต้องใช้นวัตกรรมตัวนี้ เรามีพื้นที่ให้เขาได้เรียนรู้ มีองค์ความรู้ที่เขาสามารถจับต้องและนำไปปรับใช้ได้ และที่สำคัญเป็นชุดองค์ความรู้ที่เราพัฒนา เพื่อให้เป็นของเราเอง โดยที่ไม่ต้องไปซื้อของต่างชาติ ซึ่งมีราคาแพงในหลักหมื่น หลักแสน แต่ของเราราคาเพียงหลักร้อย แต่ลดต้นทุน ลดเวลา เพิ่มผลผลิตและลดรายจ่ายลง เมื่อต้นทุนลดลง กำไรก็เพิ่มขึ้น รายได้ก็เพิ่มขึ้น เกษตรกรก็มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

สำหรับท่านที่สนใจ สามารถติดต่อคุณนิรันดร์ สมพงษ์ หรือ คุณโอ๋ ได้ที่สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง (คทช.) จำกัด ในพื้นที่หมู่ที่ 15 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หรือได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 080-488-9355