ที่มา | พืชพื้นบ้าน เป็นทั้งอาหารและยา |
---|---|
ผู้เขียน | อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช |
เผยแพร่ |
“ความเชื่อ” เป็นฐานรากการคิดของ หมอดู หมอไสยศาสตร์ นักปราชญ์ กวี นักกฎหมาย แพทย์ หรือแม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ ต่างมีความเชื่อจุดประกายความคิด เป็นเบื้องต้น แล้วจึงแผ่ขยายรากกิ่งก้านความคิดไปตามบริบท ตามหลักการ คิด ตัดสินใจ ทำ ปรับปรุง และเผยแพร่ ในเรื่องที่เป็นความเชื่อนั้น บางสิ่งเป็นความลี้ลับ บางอย่างมีปาฏิหาริย์ มีอิทธิฤทธิ์ มีอิทธิพล มีคุณค่ามากมายหลายหลาก ความเชื่อถูกใช้เป็นฐานการตัดสินใจ เช่น รักษายาหมอไทยหายช้า แต่หายขาด ใช้ยาหมอตลาดหายไว แต่หายแล้วมาเป็นอีก หรือเชื่อว่า กินผักเป็นยา กินปลาเป็นอาหาร เป็นต้น
ชาวบ้านตำบลบ้านฝาย อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ทำนาได้ปีละครั้ง หลังจากได้ลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จแล้ว แปลงนามีพื้นที่ว่าง และบริเวณข้างที่นา ยังพอมีน้ำอยู่ในท้องลำห้วย ในบ่อขุด และในสระอยู่บ้าง เกี่ยวข้าว เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมแล้ว ยังได้มารวมกลุ่มปลูก “กระเทียม” ปลูกกันแบบเกษตรธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะปลูกตามมีตามเกิด ปล่อยให้ฟ้าดูแล แต่เป็นการปลูกแบบใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน มาผสมผสานวิทยาการอย่างแท้จริง ก็มีบางพื้นที่ที่ปลูกกระเทียมแบบการค้าบ้าง เช่น ที่บ้านใหม่ ตำบลบ้านฝาย เป็นพื้นที่น้ำอุดมสมบูรณ์ มีการใช้ปุ๋ย ใช้ยาเคมีในการดูแลรักษากระเทียม แต่ใช้ตามหลักการเกษตรปลอดภัย มีหน่วยงานรัฐ เช่น เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล พัฒนาที่ดิน ชลประทาน ศูนย์วิจัยการเกษตร ธ.ก.ส. สหกรณ์ เข้าไปส่งเสริม และดูแล
ผลผลิตกระเทียมบางส่วนเก็บเกี่ยวอายุน้อยกว่า 90 วัน เป็นการเก็บเกี่ยวเพื่อส่งขายให้กลุ่มแปรรูปกระเทียมดอง หรือไม่ก็เกษตรกรต้องการเงินเร็ว รีบเก็บเกี่ยวได้กระเทียมสดน้ำหนักดี ขายได้ 3 กิโล 100 หรือบางคนต้องรีบเก็บกู้ เอาเงินไปใช้หนี้เงินกู้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ชาวน้ำปาด ต้องช่วยกันเฝ้าติดตามตรวจสอบดู ทั้งด้านพื้นที่ เกษตรกร กรรมวิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว การซื้อขายจำหน่ายผลผลิต และการสร้างอัตลักษณ์กระเทียมน้ำปาด ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะ ชี้ว่ากระเทียมน้ำปาด จะรุ่งโรจน์ หรือรุ่งริ่ง บนวิถีเส้นทางก้าวเดินของกระเทียมน้ำปาดที่เลื่องชื่อ
กระเทียมน้ำปาด มีชื่อเสียงมานานปี ผู้คนกล่าวขวัญถึง คุณภาพความเผ็ด ฉุนหอม แกร่ง เก็บไว้กินได้นาน เป็นที่สนใจของคนทั่วไป เพราะปัญหาใหญ่ของผู้บริโภคกระเทียม คือ มักจะผิดหวังที่ไม่สามารถจัดซื้อหากระเทียมคุณภาพดี ที่เก็บไว้ได้นานๆ ทำให้ต้องซื้อกระเทียมไว้กินทีละน้อย หมดแล้วค่อยซื้อใหม่ ซึ่งการซื้อกระเทียมแบบย่อยๆ ราคาจะสูงมาก ยิ่งช่วงเวลาที่ห่างจากฤดูกาลให้ผลผลิต คือช่วงเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงต้นปี เป็นช่วงที่มีงานเทศกาล และเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้กระเทียมประกอบอาหารการกินจำนวนมาก กระเทียมระยะนั้นจะแพง และเสาะหากระเทียมคุณภาพดีที่ต้องการได้ยาก จะมีก็แต่กระเทียมจีน ที่ส่วนใหญ่เป็นกระเทียมอ่อน เหมาะสำหรับนำมาทำกระเทียมดอง หรือใช้กินสด
แต่กระเทียมน้ำปาด โดยเฉพาะกระเทียมบ้านชำบุ่น เป็นกระเทียมหัวเล็ก กลีบเล็ก แกร่ง ปลอดภัยจากสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมาะกับผู้ที่ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ หรือใช้เป็นยารักษาโรคเป็นอย่างยิ่ง บางท่านชอบกินร่วมกับอาหารที่มีมันมาก เช่น ข้าวขาหมู ข้าวหน้าเป็ด ผักบุ้งไฟแดง แกงหมูเทโพ พะโล้หมู ส่วนการนำมาเป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร ต้ม ผัด แกง ทอด ตำ ยำ ปิ้ง ย่าง คงไม่เอ่ยถึงกันละ เพราะรู้จักกันดีทุกเพศทุกวัยแล้ว กระเทียมน้ำปาด สามารถเก็บไว้กินได้นานมากเกินกว่า 6 เดือน ถือว่าคุ้มค่าที่ซื้อเก็บไว้ใช้ได้นาน ดีกว่าซื้อกระเทียมย่อยทีละน้อย จะทำอาหารทีต้องซื้อที เพราะกระเทียมที่ซื้อมาแห้งฝ่อเสียเร็วมาก ถ้าซื้อมามากก็ได้ใช้ครึ่งทิ้งครึ่ง แบบคนละครึ่งไง
คนเก่าชาวน้ำปาดเขาเล่าว่า คนบ้านชำบุ่น หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านฝาย อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ คาดว่าเป็นคนลาว ที่อพยพมาตั้งแต่สมัยท่านพ่อพญาปาด สร้างบ้านแปลงเมืองโน่นละกระมัง พื้นที่นี้มีการปลูก “หอมขาว” กันมานานแล้ว หอมขาว หรือกระเทียม หรือ “หอม เตียม” คนบ้านนี้ปลูกกินกันมาหลายชั่วอายุคน แต่จะมีปลูกกันมานานสักเท่าใดไม่มีใครรู้ ปลูกกระเทียมแบบสมัยเก่าก็เพียงแค่วางกลีบ หรือถ้ากระเทียมนั้นกลีบเล็กมากๆ โตเท่าเมล็ดถั่วลิสง ก็ใช้วิธีหยอด หรือโรยหว่านลงแปลงแล้วใช้ฟางข้าว หรือเศษหญ้ากลบทับเท่านั้น อาศัยน้ำอาศัยอาหารพืชจากในดิน ที่ก่อนหน้าทำนาใช้วัว ควาย ไถนามันได้ขี้เยี่ยว ถ่ายมูล เป็นปุ๋ยลงไปสู่ดิน เหลือจากข้าวดูดไปใช้แล้ว ก็แบ่งให้พืชที่ชาวบ้านหว่านลงไปต่อจากข้าว เช่น ผักกาดขม ผักชีลาว หอมแดง ผักชี หรือหอมน้อย หรือหอมป้อม และกระเทียม ให้โตอีกระยะก่อนน้ำจะหมดไปจากดิน
อีกประการหนึ่ง จะเป็นเพราะสภาพดินบ้านชำบุ่น จะเป็นดินที่แปลกกว่าถิ่นอื่นๆ เป็นดินนาที่อยู่ชายป่า และริมน้ำ ในสภาพที่เรียกว่า ธรรมชาติครบองค์ 4 ดิน-ฟ้า-ป่า-น้ำ มารวมกัน ดินที่ชะล้างพังทลายจากป่าเขา ผสมกับดินจากน้ำไหลจากห้วยน้ำใหญ่ ออกมามีครบทั้งเหนียว ร่วน ทราย และหนำซ้ำยังมีดินคล้ายดินขี้เถ้าภูเขาไฟอีกด้วย
ภูมิปัญญาการปลูกกระเทียมของชาวบ้านชำบุ่น เพราะด้วยเหตุผลมีทุนน้อย พื้นที่น้อย น้ำน้อย แรงงานน้อย เครื่องจักรกลทุ่นแรงมีน้อย ทำให้ผลผลิตที่ได้ก็อาจจะได้น้อย แต่คุณภาพไม่น้อยแน่ กรรมวิธีการปลูก เริ่มจากการเตรียมดิน โดยการถากถางตอซังข้าว และวัชพืชต่างๆ ในนา แล้วใช้รถไถเดินตาม หรือบ้างใช้แรงงานคน ขุดไถแหวกร่องผ่าแบ่งแปลงเป็นช่วงๆ เพื่อเป็นร่องน้ำเอาน้ำเข้า ใช้ตักวิดรดน้ำกระเทียม หรือเป็นทางระบายน้ำออกจากแปลงในกรณีน้ำมากเกินไป ดินที่แหวกร่องก็ฟื้นขึ้นมาทุบเกลี่ยบนแปลงที่ถากตอซังแล้วใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ปรับหน้าดินให้เรียบ เรียกว่าปลูกแบบไม่ขุดดินทั้งผืนแต่ขุดเฉพาะร่องน้ำ
ปลูกกระเทียมที่แกะเป็นกลีบๆ แล้วลงบนแปลง ระยะ 10×10 หรือ 15×15 เซนติเมตร คือถ้าใช้พันธุ์กลีบเล็กจะใช้ระยะถี่ จะใช้พันธุ์กระเทียมที่แกะกลีบแล้ว 60-80 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่บางแปลงใช้มากถึง 100 กิโลกรัม ต่อไร่ ใช้ฟางแห้งคลุมแปลง ซึ่งจะช่วยรักษาความชื้นของดินในหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี มีการให้น้ำเพียง 2 สัปดาห์ ต่อครั้ง เดือนที่ 3 ให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง และเดือนสุดท้ายจะเริ่มลด และงดให้น้ำ โดยเฉพาะ 10 วันสุดท้ายก่อนเก็บเกี่ยว จะงดการให้น้ำ เพื่อให้ต้นกระเทียมปรับสภาพตัวมันเอง คายน้ำคายปุ๋ยต่างๆ ออกจนหมด เหลือกระเทียมที่มีหัว เนื้อ เปลือก และมวลสารอาหารสำคัญ ได้แก่ อินทรีย์กำมะถัน และสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายคนเราเท่านั้น
การปลูกกระเทียมบ้านชำบุ่น เขาไม่มีการใช้สารเคมี ด้วยศักยภาพพื้นที่ และกรรมวิธีการปลูกแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน การไม่ไถพรวนดินทั้งแปลง จะสามารถควบคุมวัชพืชได้ดีมาก แต่ข้อเสีย คือการอุ้มน้ำของดินมีน้อย ชาวบ้านใช้ฟางคลุมแปลง นับว่าช่วยคุมความชื้นได้มาก ยาฆ่าหญ้าไม่ได้ใช้เลย ส่วนโรคแมลงมีบ้างเล็กน้อย จะใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัด เช่น เชื้อราเขียวไตรโคเดอร์ม่า เชื้อราขาวบิวเวอเรีย เชื้อแบคทีเรียบีที เชื้อแบคทีเรียบีเอส หรือใช้น้ำสกัดชีวภาพ น้ำสกัดสมุนไพร มีการปรับปรุงดินให้เหมาะสมโดยใช้ปูนขาว และใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ใช้มูลไก่ มูลสุกร แต่ก็จะหายากขึ้นทุกวัน ถ้าจะใช้มูลวัว มูลควาย จะมีปัญหาหญ้าขึ้นเยอะมาก เลยใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ซึ่งสะดวกสบายในการใช้มากกว่า
การเก็บเกี่ยวกระเทียม เป็นสาระ และจุดเด่นที่สำคัญมาก กระเทียมชำบุ่น จะเก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุ นับจากวันปลูกเกิน 120 วัน เก็บกู้กันช่วงก่อนสงกรานต์ ต้นเมษายน บางแปลงปล่อยจนแห้งคาแปลง ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาในการมัดจุก เพราะก้านใบกระเทียมชำบุ่น มีความแข็ง และเหนียวมาก เมื่อมีการปล่อยให้แห้งจัด น้ำหนักจะเบา ผลผลิตจะได้ประมาณ 500 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งปกติกระเทียมทั่วไปจะให้น้ำหนักสด 1,200-1,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ถือได้ว่ากระเทียมชำบุ่นให้ผลผลิตต่ำมาก แต่เรียกได้ว่าต่ำแบบได้คุณภาพเต็มร้อย ปลอดภัยไร้สารพิษ เก็บไว้บริโภคได้นานวัน ผู้ผลิต ผู้บริโภค มั่นใจ ภาคภูมิใจ และพึงพอใจในผลผลิตนี้
เอกลักษณ์หนึ่งของกระเทียมน้ำปาด และกระเทียมชำบุ่น คือ การมัดจุก จะรวบรวมหัว และก้านกระเทียมที่ถอนมา และผึ่งแดดแห้ง แล้วกำละครึ่งกิโลกรัม ถึง 1 กิโลกรัม มัดตอกไม้ไผ่ตรงปลายก้านใบ ห่างจากหัว 1 คืบ แล้วพลิกกลับมัดจุก ให้ปลายก้านกลับอยู่ด้านใน และรวบมัดข้างนอกซ้ำอีก 2-3 เปาะ แล้วแต่ความยาวของก้าน จะได้จุกกระเทียมที่เล็ก กะทัดรัด และมั่นคงแข็งแรง ดึงเด็ดหัวมารับประทานจนหมด มัดจุดก็ยังอยู่แน่นอย่างนั้น เหมาะสำหรับผูกแขวนไว้รอการใช้บริโภคนานเกินครึ่งปี อย่างที่เคยบอกไว้แต่ต้น สิ่งนี้แหละคือ “กระเทียม ชำบุ่น” แห่งน้ำปาดอุตรดิตถ์ ฝากไว้ในความสนใจของทุกท่านครับ สนใจติดต่อได้ที่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมชำบุ่น ป้าสีนวน จำปาเทศ โทร. 097-163-9135 ในการติดต่ออยากจะให้ใช้ความใจเย็นหน่อย เพราะพื้นที่บ้านชำบุ่น สัญญาณการสื่อสารไม่แรงมากนัก หรือจะติดต่อผู้ประสานงานการตลาด คุณอำนาจ เชาวรัตน์ โทร. 089-108-9668 หรือสนใจกระเทียมอินทรีย์บ้านใหม่ หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านฝาย ติดต่อ ป้ามาลัย อินคำน้อย โทร. 097-918-9236 ได้นะ
กระเทียม (Garlic) เป็นพืชที่กำเนิดในแถบทวีปเอเชีย เป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium ampeloprasum จัดอยู่ในประเภทพืชผัก วงศ์พลับพลึง AMARYLLIDACEAE วงศ์ย่อย ALLIACEAE มีพืชที่อยู่ในตระกูลเรียงพี่เรียงน้องกัน คือ กระเทียมหัว กระเทียมใบ หอมหัวใหญ่ หอมแดง และ หอมแบ่ง กระเทียมหัว มีชื่อเรียกทางภาคกลางและทั่วไปว่า กระเทียม ภาคเหนือ เรียก หอมเตียม หอมเทียม ภาคใต้ เรียก เทียม หัวเทียม อีสานแถวอุดรธานี เรียก กระเทียมขาว หอมขาว
สารสำคัญของกระเทียม ที่ทำให้กระเทียมมีสรรพคุณ และคุณภาพความเป็นกระเทียมที่รู้จักกัน กระเทียมจะมีกลิ่นหอมฉุน มีน้ำมันหอมระเหย คือ สารอินทรีย์กำมะถันอัลลิอิน เมื่อถูกเอนไซม์อัลลิเนส เป็นตัวเปลี่ยนแปลงเป็นน้ำมันกระเทียม (Garlic Oil) กระเทียมจะมีกลิ่นหอมก็ต่อเมื่อ สารอัลลิอิน และสารอัลลิเนส ซึ่งปกติจะแยกกันอยู่คนละส่วน เมื่อถูกทุบ หั่น หรือทำให้ช้ำ สารทั้ง 2 ชนิด จะรวมกันทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี กลายเป็นสารอัลลิซิน ในรูปน้ำมันที่มีประโยชน์ สารอัลลิอิน สารอัลลิเนส และสารอัลลิซินในกระเทียมสดทั้งหัว ปกติจะไม่มีกลิ่น กลิ่นตามมาทีหลังเมื่อเกิดปฏิกิริยาดังที่กล่าวมา
กระเทียมสด 100 กรัม ให้พลังงาน 149 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใยอาหาร 2.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 33.06 กรัม น้ำตาล 1.0 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม โปรตีน 6.36 กรัม โพแทสเซียม 401 มิลลิกรัม แคลเซียม 181 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 153 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม เหล็ก 1.7 มิลลิกรัม แมงกานีส 1.672 มิลลิกรัม สังกะสี 1.16 มิลลิกรัม ซีลิเนียม 14.2 ไมโครกรัม วิตามินบี 1 (ไทอะมีน) 0.2 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 (ไรโปฟลาวิน) 0.11 มิลลิกรัม วิตามินบี 3 (ไนอะซีน) 0.7 มิลลิกรัม วิตามินบี 5 (กรดแพนโทเทนิก) 0.596 มิลลิกรัม วิตามิน บี 6 (ไพริด็อกซิน) 1.28 มิลลิกรัม วิตามินบี 9 (กรดโฟลิก) 3.0 ไมโครกรัม วิตามินซี 31.2 มิลลิกรัม
สรรพคุณของกระเทียม เป็นยาปฏิชีวนะ บำรุงร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายต้านทาน และป้องกันรักษาโรคหลายชนิด ป้องกันการเกิดมะเร็ง ป้องกันโรคหวัด ไอ ไข้ น้ำมูก ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค หรือนิวโมเนีย โรคคอตีบ ปอดบวม ไทฟอยด์ มาลาเรีย ฆ่าเชื้อแก้อักเสบ คออักเสบ ไซนัส หอบหืด หลอดลมอักเสบป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน ป้องกันโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลับ ลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดความดันโลหิตสูง ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด โรคโลหิตจาง ขับสารพิษที่ปะปนในเลือด รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร และลำไส้ ขับลมภายในกระเพาะ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง ท้องผูก บิด โรคอหิวาตกโรค ช่วยขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ขับพยาธิ รักษาแผลสด แผลเป็นหนอง โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า เชื้อราในร่มผ้า บำรุงผิว บำรุงผม บำรุงหนังศีรษะแก้ปวดฟันจากฟันผุ กลิ่นปาก ปวดหู หูอื้อ หูตึง ปวดมึนงงวิงเวียนศีรษะ อาการปวดข้อปวดกระดูก โรครูมาติซัม เคล็ดขัดยอก ฯลฯ และสรรพคุณอีกกว่า 200 อย่าง ที่อยู่ในความสนใจในหมู่ ส.ว.สูงวัย คือ บำรุงสมรรถภาพทางเพศให้เป็นม้าคะนองศึก กระเทียมสร้างปาฏิหาริย์ได้
คุณค่าของกระเทียมมีมากเกินคณนา การกินกระเทียมไม่ว่าจะรูปแบบไหน ประโยชน์ที่ได้รับมากมาย บรรพบุรุษเราก็ใช้ประโยชน์จากกระเทียม มากันนับไม่รู้กี่รุ่น กี่ยุคกี่สมัย ชาวโลกทั่วไปก็รู้จักใช้ประโยชน์ และบอกเล่าสืบต่อกันมานานนับร้อยๆ ปี จะถือได้ว่า กระเทียมเป็นพืชโบราณที่เปี่ยมล้นด้วยนานาสรรพคุณ มหาศาลด้วยคุณประโยชน์ ที่สุดแห่งพืชที่เอื้อประโยชน์แก่มนุษย์โลกมาอย่างยาวนาน
แล้วเราจะปล่อยละเลยไม่สนใจ หรือทิ้งไปจากความเชื่อถือ และความสำคัญ โดยเฉพาะกระเทียมบ้านชำบุ่นน้ำปาด ปลอดภัย ระดับอินทรีย์ หัวเล็ก กลีบเล็ก คุณภาพสูง ซึ่งเป็น กระเทียมไทยแท้ ด้วยคุณสมบัติเฉพาะเหล่านั้น สามารถก้าวเข้าสู่การพิจารณายกย่อง จัดให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่า จี.ไอ.ได้คะแนนแบบเต็มๆ จึงไม่ควรให้ห่างหายไกลจากความรำลึกถึง และควรช่วยกันดึงขึ้นสู่มาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ของจังหวัดให้ได้ ซึ่งก็ไม่ไกลเกินไปนัก