“ที พี เค” ชวดซื้อข้าวเสื่อมดับฝันเบอร์ 1 ผู้ผลิตเอทานอล

เปิดเบื้องลึก “ที พี เค เอทานอล” วิ่งโร่ร้องนายกฯ ตู่ พลาดเป้าประมูลข้าวสารเสื่อมรัฐ เหตุหวังตุนสต๊อกป้อนโรงงานที่ขยายกำลังการผลิตรวม 1 ล้านตัน จ่อขึ้นแท่นเบอร์ 1 ผู้ผลิตเอทานอลจากมันเส้นไทย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ได้เข้ายื่นร้องเรียนว่าประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมและเป็นผู้เสนอราคาซื้อข้าวในสต๊อกครบทุกคลังสินค้า จำนวน 157 คลัง โดยเป็นผู้เสนอราคาซื้อสูงสุด จำนวน 74 คลัง ปริมาณ 5.25 แสนตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 2,332 บาท แต่ไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจำหน่าย พร้อมทั้งขอให้ภาครัฐตรวจสอบบริษัทที่ชนะการประมูลว่าสามารถนำข้าวไปใช้ตามวัตถุประสงค์ได้หรือไม่

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของคณะทำงานร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมโรงงาน พบว่า บริษัท ที พี เค เอทานอล ถือเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้เสนอซื้อมาตั้งแต่ต้น เพราะกรรมการของบริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด เคยเป็นกรรมการในนิติบุคคล 2 ราย ซึ่งเป็นจำเลยที่กระทำผิดสัญญาตามโครงการยกระดับราคาหัวมันสำปะหลัง โดยผ่านกลไกการผลิตและการตลาดปี 2536/37 ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยคืนแก่กรมการค้าต่างประเทศ แต่จนบัดนี้ทั้ง 2 รายยังไม่ชำระหนี้ ซึ่งขัดต่อหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐเรื่องการรจำหน่ายข้าวในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/2560 ลงวันที่ 12 เมษายน 2560 ข้อ 2. คุณสมบัติผู้เสนอซื้อ ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้เสนอซื้อจะถูกพิจารณาให้เป็นผู้ขาดคุณสมบัติ หากเคยมีหรือมีพฤติกรรมที่เป็นผลเสียหายแก่ทางราชการหรือการค้าระหว่างประเทศ หรือโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรภายใต้นโยบายของรัฐบาล

“วัตถุประสงค์ต้องการให้การระบายข้าวในสต๊อกของรัฐเป็นไปด้วยความโปร่งใส รัดกุม และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่เคยกระทำความเสียหายแก่ทางราชการ กรมได้ดำเนินการตามประกาศอย่างเคร่งครัด โดยนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวและคณะอนุกรรมาการพิจารณาระบายข้าว พิจารณาตามขั้นตอน รวมทั้งได้เสนอให้ประธานกรรมการ นบข. ให้ความเห็นชอบแล้ว และกรมในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ทราบแล้ว ซึ่งบริษัทมีสิทธิจะชี้แจงหรือโต้แย้งได้ตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป”

ในส่วนประเด็นที่บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ขอให้ภาครัฐตรวจสอบการนำข้าวไปใช้ของผู้ชนะการประมูลแต่ละรายนั้น เป็นเรื่องอยู่ในกระบวนการที่ นบข. ได้กำหนดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จัดมาตรการและดำเนินการตรวจสอบและติดตามการนำข้าวไปใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันข้าวดังกล่าวรั่วไหลเข้าสู่ตลาดปกติ หากพบว่ามีผู้ซื้อรายใดนำข้าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ตามประกาศ จะต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา และหากผู้ใดมีเบาะแสการกระทำผิด สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดอีกทางด้วย

แหล่งข่าวจากวงการเอทานอล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัท ที พี เค เอทานอล ไม่ใช่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ในวงการ เดิมเป็นผู้ผลิตและส่งออกมันสำปะหลัง และเป็นโรงงานที่ผลิตเอทานอลจากมันเส้นรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ตั้งอยู่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มีกำลังการผลิต 3.4 แสนตัน รองจากบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด

“ตั้งข้อสังเกตว่าการเสนอซื้อข้าวสารปริมาณมาก เพราะบริษัทกำลังขยายกำลังการผลิตทั้ง 2 เฟส เฟสละ 3.4 แสนตัน จากเดิมที่มี 3.4 แสนตัน หากก่อสร้างแล้วเสร็จบริษัทนี้จะมีกำลังการผลิต 1 ล้านตัน และกลายเป็นผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังอันดับ 1 ของประเทศทันที”

อย่างไรก็ตาม ยังต้องประเมินว่าการประมูลข้าวเพื่อมาผลิตเอทานอลจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะ 1. บริษัทมีต้นทุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรจากมันสำปะหลังเส้นมาเป็นข้าว หากวัตถุดิบมีไม่ต่อเนื่อง อาจจะไม่คุ้มค่า 2. เปอร์เซ็นต์แป้งในข้าวเสื่อมจะมากเท่ากับเปอร์เซ็นต์แป้งในมันเส้นหรือไม่ หากไม่เท่ากันจะต้องใช้วัตถุดิบในปริมาณมากขึ้น ทำให้ประเมินได้ยากว่าจะใช้ข้าวเท่าไร แป้งเท่าไร ส่วนเอทานอลที่ผลิตจากโมลาสจะมีกระบวนการที่แตกต่างจากข้าวและมันสำปะหลัง ทำให้ไม่มีผู้ผลิตเอทานอลโมลาสมาร่วมประมูล

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ