3 สหกรณ์ เข้มแข็งภาคเหนือ ผลิตสินค้าคุณภาพ-ไม้ง้อพ่อค้าคนกลาง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับสินค้าเกษตรสู่ความมั่นคง มุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์ด้วยการมุ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกร โดยมีกรณีตัวอย่างของ 3 สหกรณ์ในภาคเหนือที่มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีตลาดรองรับชัดเจนโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

“ดวงรัตน์ ญานะ” เจ้าหน้าที่สหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สหกรณ์ส่งเสริมให้สมาชิกทำเกษตรอินทรียฺผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems : PGS) ซึ่งสมาชิกจะกำหนดกฎกติกา บทลงโทษ รวมถึงตรวจสอบแปลงเกษตรของเพื่อนสมาชิกได้ ปัจจุบันมีสมาชิก 296 ราย ได้รับรองมาตรฐาน 57 ราย

ขณะนี้ช่องทางการตลาด ได้แก่ ตลาดในโรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตลาดนัดเจเจมาร์เก็ต หมู่บ้านแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ตลาดจริงใจมาร์เก็ต ร้านค้าสหกรณ์อินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด และเครือข่ายร้านค้าสหกรณ์ในและต่างจังหวัด ซึ่งเกษตรกรจะผลัดเปลี่ยนกันไปจำหน่ายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 แห่ง

นอกจากนี้ สหกรณ์ยังให้ความรู้และสนับสนุนสมาชิกให้มีการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร รวมทั้งใช้ระบบคิวอาร์โค้ดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าเกษตรอินทรีย์ปลอดภัย สร้างรายได้ประมาณ 20,000 บาท ต่อคน ต่อเดือน

ในกรณีของสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายลำไย “มาลี เปรมมณี” ผู้จัดการสหกรณ์ฯ บอกว่า สหกรณ์เน้นทำการตลาด โดยการ MOU กับโมเดิร์นเทรด เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง โดยปีนี้ร่วมกับ ม.แม่โจ้ พัฒนาตัดแต่งช่อเพื่อให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น มั่นใจว่าสามารถส่งผลผลิตให้คู่ค้าได้อย่างเพียงพอ

สำหรับปีนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จับมือกับภาคเอกชน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ชิสเทม จำกัด (เทสโก้ โลตัส) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (แม็คโคร) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท เนเชอรัล เบฟ จำกัด รวมถึงเครือข่ายสหกรณ์และเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ ลงนามความร่วมมือซื้อขายผลผลิตลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดภายนอกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งปีนี้คาดการณ์ว่า ผลผลิตลำไยมีปริมาณ 609,770 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 44.60%

โดยเทสโก้ โลตัส ลงนามซื้อลำไยจากสหกรณ์การเกษตรประตูป่า 500 ตัน บริษัท เนเชอรัล เบฟ รับซื้อลำไยจากสหกรณ์การเกษตรประตูป่า 450 ตัน ขณะที่แม็คโครซื้อลำไยในฤดูกาลจากสหกรณ์เสริมป่าซาง จำกัด จังหวัดลำพูน 350 ตัน และลำไยนอกฤดูกาลอีก 150 ตัน สำหรับไปรษณีย์ไทยเป็นอีกช่องทางในการกระจายผลผลิต

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายให้เป็นตลาดถาวร เปิดให้บริการทุกวัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีสถานที่จำหน่ายสินค้า

ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็เป็นหนึ่งใน “ตลาดกลางสินค้าการเกษตรแบบถาวร” ที่เปิดให้บริการทุกวัน ซึ่งเกษตรกรได้ร่วมกันวางแผนการผลิตและการตลาดได้อย่างเป็นระบบ และสามารถจำหน่ายสินค้าโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

“รังสรรค์ ดีณรงค์” ผู้จัดการใหญ่สหกรณ์เมืองลับแล จำกัด กล่าวว่า อำเภอลับแล มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าว ทุเรียน ลางสาด ลองกอง และหอมแดง ปัจจุบันมีสมาชิก 71 กลุ่ม 8,271 คน โดยมีการส่งเสริมให้สมาชิกเข้าร่วมเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งฤดูกาลต่อไปในปี ’61 ตั้งเป้ามีสมาชิก 300 ราย พื้นที่ 6,000 ไร่ รวมถึงส่งเสริมให้ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP ผลไม้ท้องถิ่น และจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้จำหน่ายสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความเข้าใจการบริหารจัดการระบบการผลิตและการตลาดอย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้ เมื่อตลาดมีการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค อาจจะพัฒนาให้เป็นตลาดกลางขนาดใหญ่เพื่อรองรับการกระจายสินค้าในระดับจังหวัดและภูมิภาคต่อไป โดยตั้งเป้าเกษตรกรมีรายได้จากการนำสินค้ามาจำหน่ายปีละประมาณ 10 ล้านบาท

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 19 – วันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560