พลังของต้นไม้-ดอกไม้ กับสวนบำบัดโรคที่โปแลนด์

วิธีในการรักษาโรคบางโรค ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ยา แต่ใช้สิ่งรอบกายในการบำบัดรักษาโรค อย่างเช่นที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยในหมู่บ้านรุสเกีย พิแอสกี ทางตะวันออกของประเทศโปแลนด์ ที่ใช้วิธีการรักษาโรคด้วย “สวนบำบัด” เพื่อรักษาโรคทางจิตใจให้แก่ผู้ป่วย

ศูนย์ดูแลผู้ป่วยรุสเกีย พิแอสกี เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 เป็นของรัฐบาลโปแลนด์ ที่ทุ่มเงิน 1.4 ล้านซวอตี เพื่อสร้างสวนบำบัดแห่งนี้ขึ้นมา ปัจจุบันมีผู้ป่วยหญิงพักอยู่ 59 คน โดยวิธีการรักษาผู้ป่วยทางจิตนั้น เป็นการใช้สวนบำบัด

โบเซนา ซูซีค-ทาราเนก นักชีววิทยา ผู้สอนวิธีฝึกการใช้สวนบำบัดรักษาผู้ป่วย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมืองกรากุฟ ประเทศโปแลนด์ บอกว่า สวนเหล่านี้จะมีสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นอารมณ์ที่หลากหลาย ผู้ป่วยจะได้กลิ่นของดอกไม้และต้นไม้ ได้สัมผัส หรือแม้แต่ถูกหนามทิ่ม

นอกเหนือไปจากสวนดอกไม้และต้นไม้แล้ว ก็ยังมีพื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย อย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องสมดุลย์ ก็จะมีสวนที่เป็นก้อนหินให้กระโดดจากก้อนหนึ่งไปอีกก้อนหนึ่ง

แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นผู้ที่มีสติปัญญาบกพร่อง ก็ต้องให้แน่ใจได้ว่าจะไม่มีต้นไม้ที่เป็นพิษอยู่ อย่างพวกต้นยิว ไฮเดรนเยีย หรือ ดอกลิลลี่ อยู่ภายในสวน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า พืชสวนเหล่านี้จริงๆแล้วมันไม่ได้ช่วยรักษาอาการทางจิต แต่จะช่วยกระตุ้นสติปัญญาหรือภาวะทางสังคม ช่วยทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น และรู้สึกถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ดี

หรือแม้กระทั่งแค่พาผู้ป่วยออกนอกห้อง เพื่อไปสูดอากาศบริสุทธิ์ ก็สามารถช่วยให้สภาพทางร่างกายดีขึ้นได้แล้ว

อลินา อนาซีวิซ ผู้อำนวยการของศูนย์ดูแลผู้ป่วย รุสเกีย พิแอสกี หนึ่งในศูนย์ดูแลผู้ป่วยชั้นนำของโปแลนด์ที่ใช้สวนบำบัด บอกว่า หนึ่งในสิ่งที่ภูมิใจนำเสนอของศูนย์แห่งนี้ คือ “น้ำพุ”

เพราะในวันที่อากาศร้อน ผู้ป่วยจะสามารถสัมผัสกับน้ำ และลงไปเดินเล่นภายในลานน้ำพุได้ด้วยเท้าเปล่า แต่ก่อนที่จะไปถึงน้ำพุ ผู้ป่วยจะต้องเดินด้วยเท้าเปล่าตามทางเดินที่มีพื้นผิวที่แตกต่างกันไป ทั้งก้อนกรวด ทราย และพื้นไม้ ที่จะให้สัมผัสที่แตกต่างกัน และสร้างอารมณ์ที่แตกต่างกันไป

นอกจากนี้ อีกฟากหนึ่งของศูนย์ ก็จะมีพื้นที่ให้ผู้ป่วย ได้ลงมือปลูกผักกันเองและคอยดูแล เก็บเกี่ยวกันเอง

สำหรับสวนบำบัดที่นี่ ผู้ป่วยสามารถอยู่ได้นานตราบเท่าที่อาการป่วยทางจิตยังไม่หาย แต่ในช่วงที่เข้ารับการรักษา ก็สามารถกลับไปบ้านได้ หรือให้ญาติเข้ามาเยี่ยมได้

อนาซีวิชบอกว่า ผู้ป่วยบางคนที่กลับบ้านไป ก็จะขอรีบกลับมาที่ศูนย์แห่งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า
“ฉันคิดถึงสวน”

ที่มา : คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน หนังสือพิมพ์มติชน
ผู้เขียน : ศรีสกุล ลีลาพีระพันธ์ [email protected]