เกษตร ดันระบบ Isan e-Extension นำร่องงานส่งเสริมการเกษตรภาคอีสาน

กรมส่งเสริมการเกษตร ดันระบบ Isan e-Extension นำร่องงานส่งเสริมการเกษตรภาคอีสานพัฒนาเจ้าหน้าที่และเกษตรกร ก้าวสู่ Next Normal

นางอัญชลี สุวจิตตานนท์  รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น เพื่อติดตามงานส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีด้านการเกษตรไปสู่เกษตรกร ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาการผลิตของตนเองให้มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน แต่ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงทั้งสภาพแวดล้อม  เศรษฐกิจ  สังคม และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ  

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการปรับวิธีการทำงานให้สอดรับกับวิถี New Normal โดยมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี หรือ Digital  DOAE  และสนองนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่จะขับเคลื่อนภาคเกษตรเพื่อเตรียมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตามวิถี Next Normal  รวมทั้งยังสามารถให้บริการเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น ได้พัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Isan e – Extension ขึ้น เป็นระบบการส่งเสริมการเกษตรที่ปรับปรุงจากระบบส่งเสริมการเกษตร Training and Visit System (T&V System) ที่กรมส่งเสริมการเกษตรใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการเกษตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ 2520 จนถึงปัจจุบัน

Isan e – Extension ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ การพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน (Training) การเยี่ยมเยียนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร (Visiting) การสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ (Supporting)  การนิเทศงาน (Monitoring) และการบริหารจัดการข้อมูลให้มีความถูกต้องแม่นยำและมีความเป็นปัจจุบัน (Data Management)  เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาเกษตรกรได้ตรงกับความต้องการและสอดคล้องกับปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการพัฒนาต่อยอดนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปฏิบัติงานได้ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้า

การนำระบบระบบส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Isan e – Extension เข้ามาบูรณาการในการส่งเสริมเกษตรกร ช่วยให้เกิดผลดีกับเกษตรกรในหลายมิติ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสมุนไพรบ้านดงกลาง อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเห็นผลชัดเจนในเรื่องของ e-Trading ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด ทำให้ลูกค้าสามารถเห็นสินค้าบนตลาดออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ยอดขายทะลุแสนบาทต่อเดือน และในอนาคตอันใกล้เกษตรกรเตรียมพร้อมที่จะขยายผลไปสู่สินค้าชนิดอื่น ๆ โดยเน้นสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค”  รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่นกล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบส่งเสริมการเกษตร Isan e – Extension เป็นการดำเนินการในรูปคณะทำงาน ภายใต้การดูแลของผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น เกษตรจังหวัด และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมโยงเครือข่ายสู่ 20 จังหวัด และ 27 อำเภอนำร่อง

นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการนำร่องเต็มรูปแบบใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดบึงกาฬ  สกลนคร และจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ประกอบด้วย ด้านพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการเสริมสร้างความรู้และพัฒนาทักษะแบบออนไลน์ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในหลักสูตรการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรประจำตำบล

รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ขับเคลื่อนภายใต้ MOU ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร  และการพัฒนาความสามารถในการใช้อุปกรณ์และโปรแกรมประยุกต์ในการจัดประชุมออนไลน์ ส่วนในด้านการสนับสนุน ได้ดำเนินการจัดทำ Website เพื่อประชาสัมพันธ์ และ Web board เพื่อใช้ในการสื่อสารการขับเคลื่อนงานระบบส่งเสริมการเกษตร Isan e – Extension การจัดทำระบบการทำงานของอาสาสมัครเกษตรผ่าน Website  และการพัฒนาระบบจัดเก็บแผนพัฒนาการเกษตรประจำตำบลในพื้นที่อำเภอนำร่อง เพื่อสะดวกในการจัดเก็บ และสืบค้นเมื่อจะนำไปใช้งาน  และสะดวกในการมอบหมายงาน

ในส่วนของแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น จะดำเนินการ 3 ส่วน คือ 1) การทดลองใช้รูปแบบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการส่งเสริมการเกษตรแบบเต็มรูปแบบ และเก็บข้อมูลเพื่อศึกษารูปแบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมในการส่งเสริมการเกษตร พื้นที่จังหวัดบึงกาฬ  สกลนครและอุบลราชธานี 2) การพัฒนาเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นำร่องภายใต้ MOU กรมส่งเสริมการเกษตรกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในหลักสูตร Non – Degree และ 3) การอบรมการนำนวัตกรรมโซล่าเซลและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการจัดการน้ำและปุ๋ยแบบออนไลน์ ซึ่งกลุ่มบุคคลเป้าหมายเป็นเกษตรกรต้นแบบในอำเภอนำร่อง Isan e – Extension

สำหรับระบบส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Isan e – Extension) เป็นระบบที่พัฒนาและปรับปรุงเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรเฉพาะในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของพื้นที่ โดยมี 9 องค์ประกอบ  คือ 8 e และ 1 W  ได้แก่ 1) e – Training  ปรับรูปแบบการอบรมเพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่จากการอบรมแบบเผชิญหน้าเป็นอบรมออนไลน์ 2) e-learning ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่เห็นความสำคัญในการพัฒนาตนเองผ่านช่องการเรียนออนไลน์

3) e – Visiting พัฒนาระบบจากการเยี่ยมปกติเป็นการเยี่ยมผ่านระบบออนไลน์  4) e – Service สร้างระบบสนับสนุนข้อมูลการเกษตรและข้อมูลวิชาการผ่านช่องทางออนไลน์  5) e – Trading  พัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์

6) e – News สร้างช่องทางการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร และกิจกรรมในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านช่องทางออนไลน์ 7) e – Supervision ปรับเปลี่ยนรูปแบบการนิเทศงานเป็นแบบออนไลน์  8) e – Plan พัฒนาข้อมูลพื้นที่ คน  สินค้า ให้มีความถูกต้อง  ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน เพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรประจำตำบล และจัดเก็บในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลบนเว็บไซต์  

และ 9) Webinar & Web Conference ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุมสัมมนาจากแบบการเผชิญหน้าเป็นรูปแบบออนไลน์ โดยได้กำหนดเป้าหมายของการขับเคลื่อนงานตามระบบส่งเสริมการเกษตร Isan e – Extension ไว้ 3 ประการ คือ 1) ลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 2) การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 3) มีระบบการส่งเสริมการเกษตรที่ทันสมัย ทำให้เกษตรกรได้รับบริการที่ดีและเกิดความพึงพอใจมากขึ้น ซึ่งได้จัดกิจกรรม Kick off ไป เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา