นวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัย เสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกพัฒนาไกล ได้มาตรฐาน

อาหารถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิต โดยสัตว์ปีกถือว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่นิยมนำมาบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบและเทคโนโลยีในการเลี้ยงที่หลากหลายแตกต่างจากเดิมมาก ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพผลผลิตจากสัตว์ปีก ไม่ว่าจะเป็นไข่หรือเนื้อ

การเลี้ยงสัตว์ปีกในไทย

สัตวแพทย์หญิงณัฏฐิรา ลือโฮ้ง หน่วยงานสัตวแพทย์บริการด้านสัตว์ปีก บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ในอดีตประเทศไทยเน้นการเลี้ยงไก่สายพันธุ์พื้นเมืองเป็นหลัก เช่น ไก่อู ไก่ตะเภา และไก่แจ้ โดยเลี้ยงแบบปล่อย ไม่มีการจัดการใดๆ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เรื่องของโภชนาการ การบริโภคอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่เริ่มเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง พร้อมกันนี้ บุคลากรทางการแพทย์ของไทยได้มีการนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้แก่ประชาชนชาวไทยอีกด้วย ทั้งนี้ ได้มีการชูไข่ไก่ให้เป็นแหล่งโปรตีนหลักของประเทศไทย หลังจากนั้นได้มีการเลี้ยงไก่ไข่ในเชิงธุรกิจมากยิ่งขึ้น

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเลี้ยงไก่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้น มีการนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยวางแผนการเลี้ยง ควบคุมโรค และมีการผลิตอุปกรณ์เลี้ยงไก่ในประเทศครั้งแรก

ต่างประเทศเริ่มมีการคิดค้นแหล่งโปรตีนที่มากกว่าไข่ไก่ จึงริเริ่มการเพาะพันธุ์ไก่ที่ตัวใหญ่ขึ้น แต่ยังคงรักษาต้นทุนให้เท่าเดิม ทำให้เกิดพันธุ์ไก่เนื้อ หรือ Broiler Chicken

ปี 2500 ประเทศไทยเริ่มมีการนำเข้าสายพันธุ์ไก่เนื้อจากต่างประเทศ รวมทั้งมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการเลี้ยงไก่สายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ปีกที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

รูปแบบการเลี้ยงสัตว์ปีกให้ได้มาตรฐาน

การเลี้ยงสัตว์ปีก ไม่ว่าจะเป็นนกกระทา เป็ด หรือไก่ มีรูปแบบการเลี้ยงที่คล้ายคลึงกัน ในเชิงธุรกิจมักนิยมเลี้ยงสัตว์ปีกในโรงเรือน ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิภายใน มีระบบระบายอากาศ รวมทั้งมีอุปกรณ์การให้น้ำให้อาหารที่เหมาะสม และการดูแลที่ใกล้ชิด รวมทั้งมีการสนับสนุนมาตรฐานจากภาครัฐ อาทิ กรมปศุสัตว์ เข้ามากำกับดูแลให้มาตรฐานการเลี้ยง เพื่อให้ทุกฟาร์มดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างมาตรฐาน GAP มาตรฐานการแบ่งแยกพื้นที่เลี้ยงสัตว์ออกจากพื้นที่พักอาศัยอย่างชัดเจน การทำความสะอาดบุคคล ยานพาหนะ หรืออุปกรณ์การเลี้ยง รวมทั้งการฉีดยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ซึ่งมาตรฐานนี้สร้างขึ้นสำหรับฟาร์มสัตว์ปีกขนาดใหญ่ เพื่อควบคุมและป้องกันโรคในฟาร์ม และยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น  

สำหรับฟาร์มสัตว์ปีกขนาดเล็ก กรมปศุสัตว์ได้มีระบบ Good Farming Management หรือ GFM เพื่อให้เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ปีกแบบปล่อย หรือการเลี้ยงหลังบ้านมีมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น โดยมีการสร้างโรงเรือนขนาดเล็กเพื่อไม่ให้สัตว์ปีกในฟาร์มสัมผัสกับสัตว์พาหะ ข้อดีของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ GFM คือ ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นทำให้รายได้เพิ่มมากขึ้น ลดความเสี่ยงที่สัตว์จะป่วยกรณีเกิดโรคระบาด และได้สิทธิพิเศษอื่นๆ อาทิ มาตรฐานปศุสัตว์ OK นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานอื่นๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในฟาร์มสัตว์เลี้ยงของตนเองได้ เช่น การควบคุมการใช้ยาในฟาร์ม

 

เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ปีก

เทคโนโลยีที่ใช้คือการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) ของบริษัท ซีพีเอฟ คือการนำข้อมูลการเลี้ยงต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์และทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้คือ Controlled Temperature การควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน Food Control Sensor มีการใช้ระบบเซ็นเซอร์ในการให้อาหารและน้ำแก่สัตว์ในฟาร์ม Camera Weight Sensor การใช้กล้องในการคาดคะเนน้ำหนักสัตว์ปีกภายในโรงเรือน นอกจากนี้ ยังมีระบบ Realtime farming ที่สามารถทราบอุณหภูมิ ความชื้น การให้น้ำและอาหารในฟาร์มแบบเรียลไทม์ ควบคุม ดูแลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต อีกทั้งยังมีระบบ Birdoo Digitizing Poultry ที่ประยุกต์จากกล้องสามมิติ ประมวลผลด้วยระบบ AI เพื่อประเมินสภาพสัตว์เลี้ยงแบบรายวัน และระบบอื่นๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงสัตว์ควรคำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ ยึดมั่นในหลักการ รวมทั้งเข้าใจความต้องการของสัตว์เลี้ยง อีกทั้งควรคำนึงถึงความปลอดภัยในเรื่องอาหารด้วย

ขอบคุณภาพประกอบจาก สัตวแพทย์หญิงณัฏฐิรา ลือโฮ้ง หน่วยงานสัตวแพทย์บริการด้านสัตว์ปีก บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354