“เกษตรกรเลย” ปลูก “ต้นดีหมี” แปรรูปขาย สร้างรายได้ในชุมชน

“เหตุที่ได้ชื่อว่าชาดีหมี มิใช่มีหมีใหญ่ในไพรสัณฑ์

แต่เป็นไม้ใหญ่น้อยนับร้อยพัน เรียงรายกันที่ท่าน้ำแสนงามตา

นำเปลือกใบมาต้มรสขมปี๋ รสชาติเหมือนดีหมีที่ในป่า

โบราณกล่าวหวานเป็นลมขมเป็นยา จึงชื่อว่าชาดีหมีเช่นนี้เอย”

ด.ต. บุญเรือง สีดาพิมพ์ หรือ ดาบบุญเรือง

ด.ต. บุญเรือง สีดาพิมพ์ หรือ ดาบบุญเรือง เกษตรกรผู้ปลูก “ต้นดีหมี” ในพื้นที่บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ที่ทำการเพาะปลูก “ต้นดีหมี” ภายในชุมชน เพื่อสานต่อภูมิปัญญาชาวบ้านจากบรรพบุรุษ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องสมุนไพรสู่ลูกหลาน เป็นรุ่นๆ และยังเป็นอัตลักษณ์ของบ้านท่าดีหมี ในอดีตมักจะนำราก ลำต้น เปลือก ใบ มาต้มดื่มเพื่อสุขภาพที่ดีภายในชุมชนนั่นเอง

จุดเริ่มต้นของการปลูกนั้น เริ่มจากต้นดีหมีเกิดขึ้นจำนวนมากที่หมู่บ้าน จึงเป็นเหตุผลของความเป็นมาของชื่อของหมู่บ้านว่า “บ้านท่าดีหมี” หมายถึง หมู่บ้านที่มีต้นดีหมีอยู่ที่ท่าน้ำแม่น้ำโขงเชื่อมต่อแม่น้ำเหือง ติดกับแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว

ต้นกล้าดีหมี

จนกระทั่งในปี 2559 จึงทำให้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนชาใบต้นดีหมี ต่อมาในปี 2561 ได้พัฒนาการแปรรูปใบจากต้นดีหมีเป็นชาสมุนไพร ชงในน้ำร้อน โดยบรรจุในซองเยื่อไม้เพื่อสะดวกในการบริโภค และลงทะเบียนชาดีหมีประเภทเครื่องดื่ม ของกรมการพัฒนาชุมชน จากนั้นปี 2560-2565 ได้รับการส่งเสริมพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP บ้านท่าดีหมี จังหวัดเลย

ต้นดีหมี

ลักษณะของต้นดีหมี เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ใบดกหนา เปลือกสีเทาดำเกลี้ยง ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปใบรี ขอบขนาน ขอบใบหยักตื้น ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแหลม ผิวใบหนาเรียบและมัน สีเขียวเข้ม หลังใบสีอ่อน ก้านใบยาว 3-7 เซนติเมตร ดอกแยกเพศในต้นเดียว ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อยาวที่ซอกใบหรือใกล้ยอด ดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ ผลค่อนข้างกลม เมล็ดกลม

ผลของต้นดีหมี

ด้านสรรพคุณ เป็นพืชสมุนไพร ราก สามารถนำมาต้มดื่มแก้มลพิษในกระดูก เปลือกต้น ต้มน้ำดื่มแก้ตับพิการ รักษาโรคมะเร็งผิวหนัง และใช้ส่วนทั้งห้า ซึ่งประกอบไปด้วย ราก ลำต้น ใบ ดอก และผล ต้มดื่มแก้ไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ ดับพิษไข้ ขับเหงื่อ โดยอ้างอิงจาก สวนสาธารณสุข รักษ์สมุนไพร โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สถาบันความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ชาดีหมีชงพร้อมดื่ม

ส่วนวิธีการปลูก ดาบบุญเรือง เล่าว่า ต้นดีหมีนั้น ปลูกเหมือนพืชทั่วไป ใช้ระยะการปลูกไม่นาน ก็สามารถนำต้นกล้าของต้นดีหมีที่เจริญเติบโตจากเมล็ดที่หล่นลงสู่พื้นดิน เมื่อมีฝนตกลงมาดินได้ความชื้น เมล็ดของต้นดีหมีจะเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดพันธุ์และการตอน เมื่อต้นดีหมีมีความสูงไม่เกิน 50 เซนติเมตร จะทำการขุดดินปลูกปกติ ไม่มีการกำหนดความลึกและกว้างของหลุม ต้นดีหมีก็จะเจริญเติบโตตามธรรมชาตินั่นเอง

ใบของต้นดีหมีพร้อมแปรรูป

“โรคและศัตรูพืชที่เกิดในต้นดีหมีนั้นแทบไม่มี เพราะว่ามีใบ มีผล ศัตรูพืชไม่มีหรอกครับ ใบต้นดีหมีก็จะไม่ร่วง เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน ต้นดีหมีมีการผลัดใบก็จะสามารถเป็นร่มเงาที่ดีที่สุดเลย มีทั้งในวัด ศาลเจ้า แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของจังหวัดเลย”

ใบต้นดีหมีที่นำไปตากแห้งพร้อมแปรรูป

ต้นดีหมี เป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมาก รดน้ำตามปกติ และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นบ้างในบางครั้ง หากต้องการใบอ่อนของต้นดีหมี โดยใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดมูลสัตว์ต่างๆ ทั้งมูลไก่ มูลวัว มูลควาย สลับกับการใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 เป็นต้น เพื่อบำรุงต้นดีหมีให้เติบโตแข็งแรง เมื่อใบต้นดีหมีเริ่มผลิออก ใบจะเริ่มหนา มันและเงา สามารถเก็บไปตากแห้ง พร้อมนำไปสู่การแปรรูปเป็นชาสมุนไพร ชงในน้ำร้อนต่อไป

อุปกรณ์ที่ใช้ในการแปรรูปชาดีหมี

ส่วนประกอบของชาดีหมี ประกอบด้วยสมุนไพร 3 อย่าง คือ ใบต้นดีหมี ใบเตยหอม และใบหญ้าหวาน

ต่อมาคือขั้นตอนและวิธีการผลิต มีดังนี้

  1. นำสมุนไพรทั้ง 3 อย่าง มาล้างนํ้าทำความสะอาด
  2. หั่นเป็นชิ้นๆ
  3. คั่วด้วยไฟอ่อนๆ เพื่อให้มีกลิ่นหอม
  4. ตาก อบ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
  5. นำไปอบด้วยตู้อบไฟฟ้า อุณหภูมิ 50 องศา ใช้เวลา 5 นาที
  6. นำไปบดด้วยเครื่องบดไฟฟ้า
  7. นำสมุนไพรทั้ง 3 อย่างที่บดแล้ว มาผสมปั่นรวมกันตามสูตร
  8. บรรจุชาที่ผสมตามสูตรลงในซอง ซองละ 1.5 มิลลิกรัม
  9. นำมาบรรจุใส่ซองพลาสติกใส เพื่อกันความชื้น
  10. นำไปบรรจุภัณฑ์ลงในกล่องเพื่อวางจำหน่าย
ชาดีหมีทั้ง 3 สูตร

สำหรับชาสมุนไพรต้นดีหมี มีด้วยกันทั้งหมด 3 สูตร คือ

  1. สูตรดั้งเดิม ประกอบด้วย ใบเตย 30% + ใบดีหมี 60% + หญ้าหวาน 10%
  2. สูตรผสมดอกอัญชัน ประกอบด้วย อัญชัน 30% + ใบดีหมี 60% + หญ้าหวาน 10%
  3. สูตรผสมกระเจี๊ยบแดง ประกอบด้วย กระเจี๊ยบ 30% + ใบดีหมี 60% + หญ้าหวาน 10%
บรรจุภัณฑ์ชาดีหมีพร้อมขาย

ซึ่งชาสมุนไพรต้นดีหมีทั้ง 3 สูตรนั้น จำหน่ายในราคา 12 ซอง 100 บาท

สำหรับท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับชาสมุนไพรต้นดีหมีและต้นดีหมี สามารถติดต่อ ด.ต. บุญเรือง สีดาพิมพ์ หรือ ดาบบุญเรือง ได้ในพื้นที่บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย หรือเบอร์โทรศัพท์ 087-232-8795 และ 096-817-3042

……………………………………………………………..

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354