วุ้นดำคนทีสอทะเลเสริมสาหร่ายผมนาง นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ

วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา มุ่งมั่นบริหารงานตามนโยบายของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่จะพัฒนายกระดับคุณภาพการเรียนการสอนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเตรียมกำลังคนสู่ศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา มีศักยภาพในการคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ให้มีคุณภาพ ทันสมัย ได้มาตรฐาน สามารถนำไปใช้งานได้จริง ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ในชุมชน สังคม และภาคอุตสาหกรรม

ผู้บริหาร อาจารย์และนักศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา
นักศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวุ้นดำฯ

ที่ผ่านมา วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา มีนโยบายการฝึกนักเรียน นักศึกษาในการปฏิบัติงานจริง โดยเน้นทักษะเป็นอาชีพในสาขาวิชา มีความประสงค์จัดสร้างแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมเป็นศูนย์ฝึกทักษะวิชาชีพ เช่น ทักษะวิชาชีพซักรีด  ทักษะวิชาชีพการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ ทักษะวิชาชีพการจัดดอกไม้ ทักษะวิชาชีพการผลิตงานเอกสาร ทักษะวิชาชีพการขายและการออกแบบบรรจุภัณฑ์

นายมนัสฌาน์ ชูเชิด ผู้อำนวยการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาระดับชาติ ได้สนับสนุนและส่งเสริมนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่มาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา ได้รับรางวัลทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง

สาหร่ายผมนาง (เครดิตภาพ อบต.เกาะยอ สงขลา)

สำหรับการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ นวัตกรรมอาชีวศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนระดับชาติ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัดสงขลา ประจำปีการศึกษา 2564 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ผ่านการนำเสนอในรูปแบบออนไลน์ Googlemeet ทั้งนี้ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา มีผลงานที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่  รางวัลชนะเลิศ ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหารไทย ชื่อผลงาน ปลาแป้งแดงกึ่งสำเร็จรูปเสริมถั่วแดง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหารไทย ชื่อผลงาน วุ้นดำคนทีสอทะเลเสริมสาหร่ายผมนาง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหารไทย ชื่อผลงาน เฉาก๊วยใบคนทีสอเสริมว่านหางจระเข้ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทที่ 1 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมซอฟต์แวร์ และระบบสมองกลฝังตัว ชื่อผลงาน  ชุดรางปลั๊กไฟควบคุมผ่าน Wi-Fi

 

วุ้นดำคนทีสอทะเลเสริมสาหร่ายผมนาง

ผลงาน “วุ้นดำคนทีสอทะเลเสริมสาหร่ายผมนาง” ของทีมนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา ผลิตจากวัตถุดิบที่หาง่ายในท้องถิ่น ได้แก่ คนทีสอ เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่พบได้ทั่วไปในทุกภาค มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น คนทีสอขาว (ชลบุรี), โคนดินสอ (ภาคกลาง), ดินสอ (ภาคกลาง), สีสอ (ประจวบคีรีขันธ์), มูดเพิ่ง (ตาก), ผีเสื้อน้อย (ภาคเหนือ), สีเสื้อน้อย, ดอกสมุทร (เชียงใหม่) เนื่องจากมีสรรพคุณทางยา ชาวบ้านทั่วไปจึงนิยมใช้คนทีสอมาต้มน้ำดื่ม ชงแทนชา และการดองเหล้า รวมถึงใช้ประโยชน์น้ำมันหอมระเหยสำหรับทานวด และใช้ป้องกันยุง

วุ้นดำคนทีสอทะเลเสริมสาหร่ายผมนางที่ทำเสร็จแล้ว

สาหร่ายผมนาง พบมากบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนล่าง รอบเกาะยอ ซึ่งเป็นโซนน้ำกร่อยและน้ำเค็ม นิยมนำสาหร่ายผมนางมาปรุงเป็นอาหารหลากหลายเมนู สาหร่ายผมนาง เป็นสาหร่ายสีแดง มีลักษณะเป็นสายตรงๆ ไม่มีแขนง มีสารที่เป็นประโยชน์หลายชนิดคือ วิตามินบี 1 บี 2 วิตามินซี ไนอะซีน เบตาแคโรทีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม โซเดียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ไอโอดีน เหล็ก และสังกะสี ฯลฯ สาหร่ายผมนางเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ โดยเฉพาะธาตุไอโอดีนและวิตามินต่างๆ ช่วยป้องกันโรคหลายอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคโลหิตจาง และโรคมะเร็ง เป็นต้น

ส่วนวุ้นดำ ทำมาจากต้นเฉาก๊วย พืชตระกูลเดียวกับมินต์ พบแพร่หลายในประเทศจีน นิยมนำต้นเฉาก๊วยแห้งมาต้มกับน้ำ จนยางไม้และแพคตินละลายออกมาได้น้ำสีน้ำตาลดำ กรองเอาแต่น้ำแล้วนำไปผสมกับแป้งท้าวยายม่อม และแป้งมันสำปะหลัง จนได้เนื้อวุ้นสีดำเนื้อเหนียวหนึบนุ่ม นิ่ม ที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเสมหะ ฯลฯ

หากใครสนใจอาหารสุขภาพเมนูนี้ ก็ทำได้ง่าย มีขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก เริ่มจากนำหญ้าเฉาก๊วย 70 กรัม ใบคนที บด 30 กรัม ใส่น้ำลงในหม้อ จำนวน 2 ลิตร นำส่วนผสมที่ชั่งตวงเรียบร้อยแล้วขึ้นตั้งไฟ โดยช่วงแรกใช้ไฟแรงให้เดือดแล้วเบาไฟแรงเป็นไฟอ่อนสุด และเคี่ยวต่ออีก 1 ชั่วโมง เมื่อครบ 1 ชั่วโมง ปิดไฟ และนำส่วนผสมต้มมากรองเอาเศษหญ้าเฉาก๊วย ใบคนทีออกให้หมด นำน้ำที่ได้จากการกรองกากมาตั้งไฟโดยใช้ไฟอ่อนแล้วค่อยๆใส่น้ำตาล 100 กรัม คนจนละลาย นำแป้งมัน 20 กรัม ละลายด้วยน้ำ 100 กรัม นำแป้งมันที่ละลายน้ำค่อยๆ เทลงในหม้อส่วนผสม และเคี่ยวต่อจนหนืดและมีสีใส นำส่วนผสมเทลงพิมพ์ที่เตรียมไว้ เพียงแค่นี้ก็ได้เมนูอาหารรสชาติอร่อยที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย

นักศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการชุดรางปลั๊กไฟฯ

 

เม็ดชาไข่มุกจากมันม่วงกึ่งสำเร็จรูป

นอกจากนี้ ยังมีหนึ่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหารที่สร้างชื่อเสียงให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา คือ ผลิตภัณฑ์เม็ดชาไข่มุกกึ่งสำเร็จรูป Jelly Beat ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด (จังหวัดสงขลา) และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ระดับภาค (ภาคใต้) จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ประจำปีการศึกษา 2562

สินค้าวุ้นดำคนทีสอทะเลเสริมสาหร่ายผมนาง ที่พร้อมจำหน่าย

ผลงานชิ้นนี้เกิดจากการนำมันเทศสีม่วง มาผ่านกระบวนการผลิตผงแป้ง (start) โดยแช่มันเทศสีม่วงในสารละลายโซเดียมไบคาร์บอเนตที่ความเข้มข้น ร้อยละ 10 เพื่อกำจัดโปรตีนที่ขัดขวางการเกิดกระบวนการเจลาทิไนซ์ของมันเทศสีม่วง และป้องกันการเกิดปฏิกิริยา Browning เป็นเวลา 15 นาที จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการพรีเจลาทิไนซ์ (pregelatinization) ทำให้แห้งด้วยการแช่เยือกแข็ง (Freeze dry) ปั่นจนละเอียด ร่อนด้วยตะแกรง จนได้ผงแป้งจากมันเทศสีม่วง และใส่เจลาตินจากหนังปลานิล เพื่อเพิ่มความนุ่มของเม็ดชาไข่มุก

ใบเฉาก๊วย ใบคนทีสอทะเลและสาหร่ายผมนางในหม้อต้ม
ผลงาน สูตรเม็ดชาไข่มุกจากมันม่วงกึ่งสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพ

ผลิตภัณฑ์เม็ดชาไข่มุกจากมันม่วงกึ่งสำเร็จรูป ตรา “Jelly Beat” เหมาะสำหรับใช้ในเมนูอาหารคาวหวานและเครื่องดื่ม โดยใช้เวลาการต้มเพียงแค่ 14 นาทีเท่านั้น เม็ดชาไข่มุกชนิดนี้ มีรูป รส กลิ่น สีที่สวยงาม มีเนื้อสัมผัสที่เหนียวหนึบหนับ เคี้ยวเพลิน และมีคุณค่าทางโภชนาการโดยเมล็ดชาไข่มุก 100 กรัม มีโปรตีน 1.08 กรัม ไฟเบอร์ 0.88 กรัม คาร์โบไฮเดรต 87.85 กรัม ผลงานชิ้นนี้ ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.523/2555) อีกด้วย   


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354