หนุ่มปัตตานี ปลูกผักสลัดอินทรีย์ ทำตลาดเพิ่มมูลค่า มีกำไรเพิ่ม 5 เท่า

งานทางด้านการเกษตรเป็นอีกหนึ่งความสุขที่ทำให้ผู้ดำเนินงานทางด้านนี้ ได้ต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้อยู่เสมอ เพราะยิ่งเป็นยุคปัจจุบันด้วยแล้ว ในเรื่องของการทำตลาดค่อนข้างมีการแข่งขันสูง จึงทำให้เกษตรกรต้องมีการปรับตัวและพัฒนาสินค้าอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ช่วยให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถมีอำนาจต่อรองการทำตลาดได้หลายทิศทาง ไม่ต้องถูกกดในเรื่องของราคาหรือไม่มีทางเลือกในการค้าขาย

คุณก่อศิม มายุดิน

คุณก่อศิม มายุดิน อยู่บ้านเลขที่ 96/1 ถนนท่าเสร็จ เทศบาลเมืองตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ได้ผันตัวจากนักธุรกิจมาทำอาชีพทางการเกษตร โดยเน้นปลูกผักสลัดบนโต๊ะด้วยระบบอินทรีย์ ทำให้ผักสลัดเป็นที่ต้องการของตลาด พร้อมทั้งปรับตัวอยู่เสมอด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า นำมาทำเป็นสินค้าแปรรูปและอยู่ในรูปแบบของอาหาร จึงทำให้เพิ่มมูลค่ามีกำไรจากการขายผักสลัดที่ปลูกได้เป็นเท่าตัว

พื้นที่ภายในสวน 

จากทำธุรกิจส่วนตัว
ผันตัวทำเกษตรอินทรีย์

คุณก่อศิม เล่าให้ฟังว่า เมื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายจักรยานมาได้สักระยะ การค้าขายค่อนข้างมีปัญหาไม่เป็นผลดีมากนัก ด้วยความที่เขาเองเป็นครูและไม่มีประสบการณ์ในการจัดการเท่าที่ควร จึงทำให้รู้สึกว่าไม่น่าจะทำธุรกิจนี้ได้สำเร็จ ด้วยความที่สนใจในเรื่องของการทำเกษตรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ต่อมาได้เสริมในเรื่องของการทำเกษตรในพื้นที่รอบบ้านก่อนที่โควิด-19 จะเข้ามาระบาดก่อน 1 ปี และพัฒนาการปลูกพืชผักสลัดมาเรื่อยๆ จนประสบผลสำเร็จและมีตลาดรองรับจนถึงทุกวันนี้

ผักสลัดกรีนโอ๊ค

“ช่วงที่รู้ว่าต้องมาทำเกษตร แต่เราไม่มีพื้นเพด้านนี้เลย แต่ผมเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ชอบอ่านหนังสือ ก็ทุ่มเทในเรื่องของการศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับการทำเกษตร พร้อมทั้งเข้าคอร์สอบรมต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ พร้อมทั้งไปเรียนรู้จากสถานที่จริงเลย จากการที่ผมศึกษาจริงจังนี้เอง จึงทำให้ผมเกิดองค์ความรู้ และรู้เท่าทันตลาดอยู่เป็นประจำ พร้อมทั้งมีแนวคิดว่า อย่าขายช่องทางเดียว แต่ต้องทำการแปรรูปหรือเพิ่มมูลค่า ก็จะช่วยให้การทำตลาดของเราง่ายขึ้น เกิดรายได้ที่ดีตามมา” คุณก่อศิม บอก

โต๊ะปลูกที่มีการควบคุมการรดน้ำเป็นเวลา

โดยแนวความคิดที่ปลูกผักสลัดบนโต๊ะนั้น คุณก่อศิม ให้ข้อมูลเสริมว่า มีเพื่อนที่ปลูกผักอินทรีย์มาแนะนำให้ปลูกผักอินทรีย์ โดยช่วงนั้นเขาได้มีโต๊ะปลูกผักที่นำมาปลูกผักในน้ำว่างอยู่ จึงได้ทดลองนำดินมาใส่และปลูกแบบอินทรีย์ ผลตอบรับที่ได้ค่อนข้างดี ทำให้ได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกผักสลัดอินทรีย์บนโต๊ะเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะชอบในรสสัมผัสที่ดีแล้ว ยังช่วยให้รอบผลิตทำได้เร็ว และต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้

ผักสลัดทรงสวยได้น้ำหนัก

มี 20 โต๊ะปลูกผัก
หมุนเวียนปลูกสลับ  

สำหรับโต๊ะปลูกผักสลัดอินทรีย์ คุณก่อศิม บอกว่า ขนาดความกว้างของโต๊ะประมาณ 120 เซนติเมตร และความยาวประมาณ 6 เมตร ซึ่งบนโต๊ะจะนำดินที่เตรียมเองมาใส่เป็นวัสดุปลูก โดยดินประกอบด้วยขี้วัว ขี้ไก่ และดิน นำส่วนผสมต่างๆ มาผสมให้เข้ากัน โดยดินเหล่านี้จะมีการเตรียมไว้อยู่เสมอ เมื่อเห็นว่าดินบนแปลงโต๊ะปลูกยุบก็จะนำดินที่เตรียมไว้ใส่เติมลงไปอยู่เสมอ

ผักสลัดจำหน่ายหน้าร้าน

โดยก่อนที่จะนำผักสลัดแต่ละชนิดมาปลูกลงในโต๊ะปลูกนั้น จะทำการเพาะต้นกล้าให้มีอายุได้ประมาณ 15 วัน เมื่อต้นกล้างอกจนมีรากและใบเลี้ยงที่สมบูรณ์แล้ว จะนำมาปลูกลงในโต๊ะปลูกให้มีระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 20 เซนติเมตร ซึ่งใน 1 โต๊ะปลูกสามารถปลูกผักสลัดได้ 120-130 ต้น

การแปรรูปเป็นผักผง

“หลักๆ ผมจะปลูกเป็นผักสลัดอยู่ 2 ชนิด เป็นกรีนโอ๊คและเรดโอ๊ค เพราะตลาดส่วนใหญ่นิยมผักสลัด 2 อย่างนี้ การรดน้ำผมก็จะตั้งเวลาไว้ ใน 1 วันรดน้ำประมาณ 3 รอบ ช่วงเช้าประมาณ 3 นาที ช่วง 11.00 น. ประมาณ 1 นาที และช่วง 14.00 น. ประมาณ 2 นาที รดแบบนี้ทุกวันจนกว่าผักจะได้อายุเก็บเกี่ยวได้ สาเหตุที่ผมรดน้ำด้วยระบบนี้ได้ เพราะบนหลังคาโต๊ะปลูก ผมมีพลาสติกใส 200 ไมครอนคลุม ทำให้เราควบคุมในเรื่องของการรดน้ำเป็นเวลาได้ ส่วนในเรื่องของแมลงศัตรูพืช ผมก็จะป้องกันด้วยสารชีวภัณฑ์เป็นหลัก ฉีดพ่น 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ และมีความปลอดภัยกับตัวเราเองด้วย” คุณก่อศิม บอก

ซึ่งจากการปลูกผักสลัดที่มีการวาดแผนการปลูกที่เป็นระบบนี้เอง ทำให้ผลผลิตที่ได้จากฟาร์มของเขามีจำหน่ายให้กับลูกค้าตลอดปี และที่สำคัญเขาได้ต่อยอดเพิ่มมูลค่าทำเป็นอาหารจำหน่ายเองด้วย จึงทำให้มีรายได้ทั้งจำหน่ายแบบราคาขายส่ง ขายปลีก และกำไรจากการจำหน่ายแบบมีหน้าร้านเอง

น้ำผักสลัดกรีนโอ๊ค

การแปรรูปเพิ่มมูลค่า
ช่วยให้มีกำไรเพิ่ม 5 เท่า  

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายผักอินทรีย์ภายในสวน คุณก่อศิม เล่าว่า เมื่อมีการวางแผนการผลิตที่ค่อนข้างลงตัว และรู้จำนวนของผลผลิตที่จะจำหน่ายได้ในแต่ละเดือนแล้ว การเพิ่มมูลค่าสินค้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะสามารถทำให้เขามีกำไรเพิ่มขึ้น โดยสินค้ามีตั้งแต่การนำผักสลัดมาทำเป็นสลัดโรล แปรรูปเป็นน้ำผัก การนำมาเป็นส่วนผสมของขนม ซึ่งผักสลัดที่ปลูกทั้งหมด 60 เปอร์เซ็นต์นำมาต่อยอดขายเอง ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์ ส่งจำหน่ายเป็นราคาขายปลีกและขายส่งให้พ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้ออยู่เป็นประจำ

โดยราคาผักสลัดอินทรีย์ขายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท และราคาขายส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้ออยู่เป็นประจำ ราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 130 บาท ส่วนการเพิ่มมูลค่าทำเป็นสินค้าจำหน่ายเองนั้น สามารถทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า

การนำผักเป็นส่วนผสมในขนม

“การทำตลาดที่ดี คือเราต้องค่อยๆ สะสมลูกค้าอยู่เสมอ และเราเองต้องมีความต่อเนื่องของการผลิตด้วย ก็จะช่วยให้ลูกค้ายังซื้อผักที่ฟาร์มของเรา และถ้าสินค้าเราดีมีคุณภาพ การบอกกันไปปากต่อปากก็จะช่วยการันตีสินค้าของเราได้ ยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ได้เลยว่า อาหารทางการเกษตรเป็นสิ่งที่สำคัญ ผมไม่ได้รับผลกระทบอะไร สามารถจำหน่ายได้ตลอด เพราะฉะนั้นก็จะบอกหลายๆ คนว่า ถ้าจะทำเกษตรช่วงแรกมันจะลำบากหน่อย กว่าจะเจอในสิ่งที่จะทำให้เราประสบผลสำเร็จ จากนั้นประสบการณ์ต่างๆ จะสอนเราเอง และทำให้เราสามารถประสบผลสำเร็จได้ ด้วยการทำตลาดที่หลากหลาย เพิ่มมูลค่าสิ่งที่เราทำมากขึ้น” คุณก่อศิม บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการปลูกผักสลัดอินทรีย์บนโต๊ะ และต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการแปรรูปสินค้าต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณก่อศิม มายุดิน หมายเลขโทรศัพท์ 082-810-6811

 

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2565