ปลื้มหนี้นอกระบบฮวบ 2 หมื่นล. สศค.เชื่อไกล่เกลี่ยทุกจว.ยอดลด ออมสิน-ธ.ก.ส. พร้อมดึงเข้าแบงก์

สศค.เผยลงทะเบียนคนจน 14.1 ล้านคน พบหนี้นอกระบบ 7 หมื่นล้านบาทลดลง 2 หมื่นล้านบาทจากปีที่แล้ว เชื่อหากนำเข้าคณะกรรมการไกล่เกลี่ยทุกจังหวัด ตัดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย จะเหลือแค่ 5 หมื่นล้านบาท พร้อมเดินหน้าให้แบงก์รัฐ ทั้งออมสิน และ ธ.ก.ส. ดึงเข้าระบบ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการของผู้มีรายได้น้อยในปีนี้ มีคนมาลงทะเบียนทั้งสิ้น 14.1 ล้านคน นั้น ปรากฏว่ามีผู้ที่ระบุว่ามีภาระหนี้นอกระบบรวมแล้วประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว ที่มีคนมาลงทะเบียนทั้งสิ้น 8.27 ล้านคน โดยระบุว่ามีหนี้นอกระบบรวมกันที่ 9 หมื่นล้านบาท

นายกฤษฎา กล่าวว่า หนี้นอกระบบทั้ง 7 หมื่นล้านบาท เป็นวงเงินที่รวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หากนำเจ้าหนี้นอกระบบและลูกหนี้นอกระบบเข้าคณะกรรมการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ที่มีอยู่ทุกจังหวัด ซึ่งจะต้องตัดดอกเบี้ยในส่วนที่คิดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งคาดว่าคิดเป็นวงเงินราว 30% ของ 7 หมื่นล้านบาท ก็จะเหลือมูลหนี้ที่เจ้าหนี้และลูกหนี้จะต้องเจรจากันราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากเจ้าหนี้ตกลงตามเงื่อนไขดังกล่าว ทางกระทรวงการคลังก็พร้อมที่จะให้ธนาคารของรัฐ คือ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้ามาช่วยทำให้หนี้ดังกล่าวเข้าสู่ระบบ ขณะที่เจ้าหนี้นอกระบบก็จะได้รับการชำระหนี้ทันที และอยู่ภายใต้กฎหมายที่ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วย โดยปัจจุบันทั้งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.มีวงเงินเพื่อช่วย แห่งละ 5 พันล้านบาท รวมเป็น 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยไป 3 พันล้านบาท

นายกฤษฎา กล่าวว่า ล่าสุด กระทรวงการคลังไปประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่จังหวัดนครนายก ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกร่วมประชุมด้วย ซึ่งจากการรายงานของทางจังหวัดพบว่า ที่จังหวัดนี้มีลูกหนี้นอกระบบอยู่ราว 4 พันราย ซึ่งเป้าหมายของทางจังหวัดต้องการให้หนี้นอกระบบในจังหวัดเป็นศูนย์

นายกฤษฎา กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา สศค.ออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบหลายมาตรการ โดยเฉพาะการพยายามให้ประชาชนรายย่อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ง่ายขึ้น ด้วยการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการให้กู้เงินรายย่อย ที่เรียกว่า นาโนไฟแนนซ์ และฟิโคไฟแนนซ์ โดยนาโน ซึ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจ จะให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนฟิโคฯ จะให้กู้ต่อรายไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยเท่ากัน คือ ไม่เกิน 36% อย่างไรก็ตาม สำหรับฟิโคฯ นั้น การประกอบธุรกิจจะสามารถทำได้เฉพาะในเขตจังหวัดที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น ส่วนนาโนสามารถประกอบธุรกิจได้ทั่วประเทศ ในปัจจุบันมีผู้ยื่นขอใบอนุญาตทำธุรกิจฟิโคฯ แล้ว 155 ราย กระทรวงการคลังออกใบอนุญาตไปแล้ว 13 ราย ส่วนนาโนฯ อนุมัติใบอนุญาตไปแล้ว 9 ราย

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน