อดีตนักดนตรี เจอพิษโควิด-19 หันมาเพาะด้วงสาคูระบบฟาร์ม จากธุรกิจครอบครัว สู่ธุรกิจชุมชน

ด้วงสาคู หรือ ด้วงลาน จัดเป็นแมลงอีกชนิดหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมบริโภค ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เนื่องจากขนาดของตัวหนอนค่อนข้างโต มีน้ำหนักดี และขายได้ราคาดี มีวงจรชีวิตสั้น มีโปรตีนสูงเช่นเดียวกับแมลงชนิดอื่นๆ ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงกันมาก ในเขตพื้นที่ภาคใต้ของไทย

เกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคใต้จะเลี้ยงด้วงสาคูในท่อนสาคู ปัจจัยสําคัญที่จะทําให้การเลี้ยงด้วงสาคูให้ประสบความสําเร็จคือ เรื่องของความสะอาดและการจัดการเลี้ยงอย่างมีระบบ เช่น สถานที่เลี้ยงจะต้องไม่มีน้ำท่วมขัง และบริเวณที่เลี้ยงสามารถมีร่มเงาและแสงแดดเข้าถึงอยู่บ้าง

คุณชัยรัตน์ ไกลนุกูล หรือ คุณต้อม อายุ 31 ปี เจ้าของฟาร์มด้วงสาคู

ด้วงสาคู ถือเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีวงจรชีวิตที่สั้น หรือมีวงจรชีวิตแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะตัวหนอน ระยะดักแด้ และระยะโตเต็มวัย

  1. ระยะไข่มีอายุ 2-3 วัน ไข่เป็นสีขาวครีม ยาวและรูปทรงรี ขนาดเฉลี่ยของไข่คือ ยาว 2.6 มิลลิเมตร กว้าง 1.1 มิลลิเมตร
  2. ระยะตัวอ่อนมีอายุ 60-110 วัน ตัวหนอน สีขาวรูปร่างเหมือนถัง ความยาวของตัวอ่อนโตเต็มที่คือ 50 มิลลิเมตร กว้าง 20 มิลลิเมตร
  3. ระยะดักแด้มีอายุ 20-30 วัน ดักแด้รูปไข่ยาว รังทรงกระบอกที่ทำจากเส้นใย เมื่อจะเป็นดักแด้ตัวอ่อนสร้างรังซึ่งเป็นรูปทรงรีมีความยาวเฉลี่ย 60 มิลลิเมตร กว้าง 30 มิลลิเมตร
  4. ระยะตัวเต็มวัยมีอายุ 60-140 วัน ตัวเต็มวัยปีกมีสีน้ำตาลดํา อกมีสีน้ำตาลและมีจุดสีดำ มีขนาดลําตัวยาวประมาณ 25-28 มิลลิเมตร ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีขนาดและลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ตัวผู้มีขนที่ด้านบนของงวงใกล้ส่วนปลาย

เพาะด้วงสาคูในกะละมัง

หลายคนอาจเกิดคำถามเมื่อเห็นด้วงสาคูในครั้งแรกว่าจะกินดีไหม แต่ทุกคนรู้ไหมว่าด้วงสาคูเป็นแหล่งโปรตีนที่เยอะมาก เพราะมีโปรตีนสูงถึง 17-19% โปรตีนตรงนี้จะช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ดี แถมยังช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ด้วย

ด้วงสาคูสามารถนำมาแปรรูปอาหารได้หลากหลาย สามารถกินสดได้ ไม่มีกลิ่นที่ส่งผลต่อผู้บริโภค หรือจะนำมาแปรรูปก็สามารถทำได้ทั้ง อบ ผัด นึ่ง ทอด

Advertisement

คุณชัยรัตน์ ไกลนุกูล หรือ คุณต้อม อายุ 31 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 109/4 หมู่ที่ 1 ตำบลอินคีรี อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรเพาะด้วงสาคูระบบฟาร์ม คุณชัยรัตน์ เล่าว่า ย้อนกลับไปก่อนจะเกิดโควิด-19 ตนเองมีอาชีพเป็นนักดนตรีและผู้รับเหมาทำระบบไฟฟ้า แต่ด้วยเจอพิษโควิด ทำให้งานดนตรีเงียบหายไปและงานรับเหมาก็น้อยลงเช่นกัน

Advertisement
ต้นสาคู

คุณชัยรัตน์ จึงเกิดคำถามว่า งานที่เคยทำก็ต้องหยุดลงแต่ยังมีครอบครัวและค่าใช้จ่ายในทุกๆ วัน จึงอยากสร้างรายได้จากพื้นที่บริเวณบ้าน ลงทุนไม่มาก ให้ผลผลิตไว และรายได้ดี เพราะเหตุนี้เองทำให้คุณชัยรัตน์ได้มารู้จักกับด้วงสาคู ต้องบอกเลยว่ากว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ยากมาก แม้จะไปศึกษาจากฟาร์มตัวอย่าง หรือแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เกือบทุกที่ ก็ต่างหวงวิชาความรู้

เครื่องบดสาคู

คุณชัยรัตน์จึงได้ทดลองเรียนทั้งผิดและถูกด้วยตัวเอง ต้องยอมรับเลยว่าขาดทุนไปเยอะเหมือนกัน ทั้งจากภัยน้ำท่วมบ้าง ทั้งจากการทดลองที่ผิดพลาดบ้าง แต่ในปัจจุบันนี้ ฟาร์มด้วงสาคูของคุณชัยรัตน์ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ทางฟาร์มรับรองเลยว่าหากเป็นมือใหม่เลี้ยงยังไงก็รอด

ปัจจุบัน ฟาร์มด้วงสาคูของคุณชัยรัตน์เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรผู้ที่สนใจเพาะด้วงสาคู และมีการให้ความรู้ ผ่านคลิปวิดีโอเฟซบุ๊ก ที่บอกทุกอย่างทุกเคล็ดลับ เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้จริงและต่อยอดได้ คุณชัยรัตน์มีอุดมการณ์ที่อยากแบ่งปันความรู้ให้เกษตรกรท่านที่สนใจ เพราะเชื่อว่าด้วงสาคูสามารถทำเป็นอาชีพหลักที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้

พ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคู สายพันธุ์ป่าแท้

คุณชัยรัตน์อธิบายถึงการเลี้ยงด้วงสาคู สิ่งสำคัญในการเลี้ยงด้วงสาคูจะมีอยู่ 3 อย่าง คือ สาคู น้ำ และอาหารหมูใหญ่ โดยใช้อัตราส่วน ดังนี้ สาคู 2 กิโลกรัม น้ำ 2.5 กิโลกรัม และอาหารหมูใหญ่ 4 ขีด นำมาผสมคลุกกันในกะละมังเลี้ยง จากนั้นใส่พ่อแม่พันธุ์ลงไป จำนวน 3 คู่ และใช้กาบสาคูบด ปิดหน้าอาหาร เพื่อไม่ให้อาหารแห้ง ทำให้ด้วงสาคูโตได้ดี โตเร็ว และกาบสาคูยังเป็นที่วางไข่ให้แก่แม่พันธุ์ด้วย

เมื่อครบ 15 วัน จับพ่อแม่พันธุ์ออก พ่อแม่พันธุ์สามารถวางไข่ได้ 3 รอบ แต่ทางฟาร์มจะให้พ่อแม่พันธุ์วางไข่เพียง 2 รอบเท่านั้น เพราะการวางไข่ในรอบที่ 3 ไข่จะไม่ดก เท่า 1-2 รอบ และทำให้เปลืองต้นทุนในการให้หาอาหาร

ส่งพ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคู สายพันธุ์ป่าแท้ให้ลูกค้า

พ่อแม่พันธุ์เมื่อวางไข่ในครั้งแรกที่ 1 แล้ว จำเป็นต้องจับออกมาแยกตัวผู้ตัวเมีย และให้อาหารด้วยกล้วยน้ำว้า จะทำให้ไข่ในรอบต่อไปดกยิ่งขึ้น และเช้าในวันรุ่งขึ้นก็สามารถนำพ่อแม่พันธุ์ลงผสมพันธุ์ในรอบที่ 2 ได้เลย โดยใช้อัตราส่วนของอาหารในอัตราส่วนผสมเดิม

หลังจากพ่อแม่พันธุ์วางไข่เรียบร้อยแล้ว นับไปอีก 30 วัน ก็จะได้พบเจอกับด้วงสาคูตัวอ้วนกลมที่จำหน่ายได้แล้ว คุณชัยรัตน์ กล่าวว่า ต่อครั้งของการผสมพันธุ์ ทางฟาร์มได้ผลผลิตที่คงที่คือ ด้วงสาคู 1 กะละมัง ให้น้ำหนัก 8 ขีด – 1 กิโลกรัม และอาหารทุกอย่างที่ด้วงสาคูได้รับ ยืนยันว่าออร์แกนิก ปลอดสารพิษ 100%

คุณชัยรัตน์เผยเทคนิคเสริม นอกจากอัตราส่วนของอาหารแล้ว โรงเลี้ยงหรือจุดเพาะด้วงสาคู ตั้งแต่เริ่มใส่พ่อแม่พันธุ์ลงไปเลยนั้น ควรอยู่ใกล้ร่มไม้ อย่าให้อากาศร้อน หรือมีน้ำท่วมขัง มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพราะความชื้นที่พอดี อากาศ และอาหารที่สมบูรณ์ ทำให้ด้วงสาคูรู้สึกปลอดภัย สามารถวางไข่ได้ดกขึ้น และคงสภาพรักษาความสมบูรณ์ของอาหารได้ดีคงที่

หลังคาให้ความร่มแก่โรงเพาะด้วงสาคู (ทำจากใบต้นสาคู)

คุณชัยรัตน์ กล่าวว่า จุดเด่นของทางฟาร์มด้วงสาคูของเรา เหมาะอย่างมากกับลูกค้ามือใหม่ รับประกันว่าเลี้ยงง่าย และเป็นด้วงสาคูสายพันธุ์ป่าแท้ๆ ที่ทางฟาร์มเพาะพันธุ์เอง และคัดเลือกอย่างพิเศษ เพื่อให้ได้ด้วงสายพันธุ์ป่าแท้ที่สมบูรณ์แข็งแรงที่สุด ราคาพ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคูของทางฟาร์มอาจราคาสูงกว่าท้องตลาดนิดหน่อย แต่รับรองเรื่องสายพันธุ์แท้ ความแข็งแรง สมบูรณ์ ให้ไข่ดก ผลผลิตเยอะ

ส่งหลังคาให้ความร่มแก่โรงเพาะด้วงสาคู (ทำจากใบต้นสาคู) ให้กับลูกค้า

ตลาดของทางฟาร์มเป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไป แต่ถ้ายอดขายดีที่สุดต้องยกให้ตลาดออนไลน์ มีออร์เดอร์เข้ามาจำนวนมาก ทำให้จากธุรกิจครอบครัว กลายเป็นธุรกิจชุมชนไปแล้ว เพราะเกิดการจ้างงานในชุมชนมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค ทางฟาร์มจำหน่ายเองโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

สาคูบดแบบกระสอบ

“สามารถกำหนดราคาขายเองได้ อาจจะสูงกว่าท้องตลาดทั่วไปนิดหน่อย แต่ลูกค้ายอมจ่ายเพื่อได้รับผลผลิตดี มีคุณภาพ ผ่านการคัดเลือกอย่างพิเศษ และพร้อมแบ่งปันข้อมูลความรู้ แนวทางการแก้ปัญหาแก่เกษตรกรผู้สนใจเลี้ยงด้วงสาคูทุกท่าน ทั้งมือใหม่และผู้ที่เคยล้มจากการเพาะด้วงสาคู อยากให้ท่านลองให้โอกาสตัวเองอีกครั้งในการเพาะเลี้ยง เพราะเราสามารถสร้างรายได้ที่ดีและมั่นคงได้จากด้วงสาคู”

คุณชัยรัตน์ ไกลนุกูล หรือ คุณต้อม อายุ 31 ปี และภรรยา เจ้าของฟาร์มด้วงสาคู

สำหรับท่านใดที่สนใจพ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคู สาคูบด กาบสาคูบด ด้วงสาคู ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณชัยรัตน์ ไกลนุกูล หรือ คุณต้อม อายุ 31 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 109/4 หมู่ที่ 1 ตำบลอินคีรี อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 082-801-4943 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก อ.ต้อม นายช่างฟาร์ม นครศรีฯ

………………………………………

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354