เกษตรกรร้อยเอ็ด ปลูกข้าวครบวงจร ขายได้ราคาดี ช่วยเพิ่มผลกำไร

จังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้จำนวน 986,807 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบสูงสลับกับพื้นที่ราบลูกคลื่น สภาพภูมิอากาศภายในจังหวัดแห่งนี้เป็นประเภทฝนเมืองร้อน จะมีฝนตกชุกในเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม และมีสภาพอากาศร้อนแห้งแล้งในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ด้วยสภาพ ภูมิอากาศที่มีลักษณะที่กันดารเป็นที่ราบสูงมีสภาพดินเค็ม และสภาพอากาศแห้งแล้ง ส่งผลให้การปลูกข้าวหอมมะลิข้าวเกิดความเครียดและหลั่งสารหอม 2AP และทําให้ข้าวหอมมะลิในแหล่งนี้มีความหอมเป็นเอกลักณ์เฉพาะถิ่น

คุณพงษ์ศักดิ์ วรวงศ์ พาณิชย์จังหวัดร้อยเอ็ด ให้ข้อมูลว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดร้อยเอ็ดได้ผลักดันข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สินค้า GI ของจังหวัดร้อยเอ็ด เป็น 1 ใน 18 แห่ง สินค้าดี GI อีสานสู่สากล มั่นใจคุณภาพข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้กลุ่มข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้อำเภอเกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ว่า จังหวัดร้อยเอ็ด หนึ่งใน 5 จังหวัดในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยจังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่ที่อยู่ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ประกอบด้วย 5 อำเภอ ได้แก่ อําเภอเกษตรวิสัย อําเภอสุวรรณภูมิ อําเภอปทุมรัตต์ อําเภอโพนทราย และอําเภอหนองฮี โดยข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้กลุ่มข้าวหอมมะลิ อำเภอเกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่  24 ตุลาคม พ.ศ. 2550

คุณพงษ์ศักดิ์ วรวงศ์ พาณิชย์จังหวัดร้อยเอ็ด

“GI ของร้อยเอ็ดในเรื่องของข้าว เป็นข้าวหอมมะลิของทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็น GI ของประเทศไทย และก็เป็น GI ของยุโรป กระทรวงพาณิชย์ได้ไปจดที่ยุโรปด้วย ทำให้เราได้มาตรฐานทั้ง 2 ตัว ทั้งของไทยและของยุโรป ซึ่งเราเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้มีการส่งเสริมในเรื่องของข้าว GI เพื่อให้ได้รับการโปรโมทไปทั่วโลก ให้ได้รับรู้ว่าของเรามีของดีเป็นสินค้าที่มีความเป็นอัตลักษณ์ ระดับโลก” คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าว

จากความเป็นเอกลักษณ์นี้จึงทำให้ข้าวหอมมะลิจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ การผลิตสินค้าข้าว GI ในแหล่งภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียน เป็นการสร้างสินค้าข้าวที่มีเอกลักษณ์ต่างจากแหล่งผลิตอื่น จึงนับว่าเป็นโอกาสทางการค้า การตลาด รวมถึงเป็นการยกระดับสินค้าชุมชนให้เป็นสินค้าข้าวคุณภาพที่ได้มาตรฐานการผลิต สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในด้านคุณภาพและความปลอดภัย    เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าทั้งในและต่างประเทศ

คุณบุญเลิศ อุดหนุน  ประธานวิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่

คุณบุญเลิศ อุดหนุน ประธานวิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่ หมู่ที่ 10 บ้านโนนสบาย ให้ข้อมูลว่า ข้าวหอมมะลิ เป็นชีวิตของคนทุ่งกุลาร้องไห้ เพราะการผลิตข้าวที่นี่มีการร่วมกลุ่มสร้างความเข้มแข็ง จึงทำให้ในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตต่างๆ ค่อนข้างได้ผลดี เอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ คือ “หอม ยาว ขาวนุ่ม” เกิดจากลักษณะสภาพภูมิอากาศที่กันดาร เป็นที่ราบสูงมีความ อุดมสมบูรณ์ของสินค้า ดินเค็ม สภาพอากาศแห้งแล้งและส่งผลให้ เกิดความเครียดและหลั่งสารหอม 2AP และทําให้ข้าวหอมมะลิในแหล่งนี้มีความหอมมาก

โดยการทำนาของวิสาหกิจชุมชนฯ ทางกลุ่มจะเน้นทำการปลูกด้วยการหยอดเป็นหลัก ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่จะเน้นดำเป็นหลัก แต่ด้วยสถานการณ์แรงงานที่ขาดแคลนทำให้การดำเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ต่อมาถึงได้ปรับมาหว่าน แต่การหว่านต้นทุนก็เพิ่มสูงขึ้น เพราะจะสิ้นเปลืองในเรื่องของการใช้เมล็ดพันธุ์ จึงได้ปรับวิธีการปลูกมาใช้วิธีการหยอดแทน

“กลุ่มเรามีรถหยอด เรามีเครื่องหยอด เรียกได้ว่ามีอุปกรณ์ที่ครบเครื่อง จึงทำให้ต้นทุนการผลิตของเราลดลง ด้วยการที่เรามีครบวงจร จึงทำให้เราเก็บเกี่ยวผลผลิตของเรา ไม่ต้องรอเวลานาน โดยการจัดการเราก็จะเก็บเกี่ยวกลุ่มเราให้เสร็จให้หมด จากนั้นถ้ามีผู้ว่าจ้างต้องการที่จะเก็บเกี่ยว ก็สามารถเข้ามาจ้างทางการกลุ่มเราได้ เท่ากับกลุ่มเราก็มีรายได้หลายช่องทางไปพร้อมๆ กัน” คุณบุญเลิศ บอก

โดยข้าวที่ทำการแปรรูปแล้วทั้งหมดจะนำมาทำการจำหน่ายเอง ซึ่งตลาดหลักๆ ยังคงเป็นตลาดภายในประเทศเท่านั้น ส่วนในอนาคตการจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศนั้น ต้องดูขั้นตอนในอีกหลายๆ ชนิด ซึ่งทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ กำลังทำการศึกษาอยู่ในเรื่องของการทำตลาดต่างประเทศ แต่การจำหน่ายภายในประเทศนั้น ถือว่าได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ แต่หลังจากที่โควิดระบาดเข้ามา ทำให้การจำหน่ายชะงักลงไปบ้าง

“การจำหน่ายก็มีการนำผลผลิตทางการเกษตรไปออกบูธตามงานต่างๆ บ้าง เพราะผลผลิตของเราถือว่าเป็นข้าวเพียวๆ ของทุ่งกุลาร้องไห้เลย เป็นข้าวที่ผ่านการปลูกจากมือชาวนา 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อผ่านการแปรรูปแล้ว เรากส่งจำหน่ายถึงมือผู้บิโภคโดยตรงเลย ซึ่งราคาผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ อยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท” คุณบุญเลิศ บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ผ่านการผลิตจากมือของเกษตรกรพี่น้องโดยตรง สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณบุญเลิศ อุดหนุน หมายเลขโทรศัพท์ 083-337-5775, 089-573-2112